สถาปัตยกรรมไทย กับ สถาปัตยกรรมพื้นถิ่น

สถาปัตยกรรมไทย ที่ดีมักเป็นงานที่หลายท่านเข้าใจว่า คือ งานที่มีนักท่องเที่ยวพากันเดินทางไปชมกันอยู่ไม่ได้ขาด เช่น วัดวาอารามในเมืองที่คลาคล่ำไปด้วยผู้คน และพาให้เข้าใจกันไปว่าตัวงานที่มิได้มีชื่อเสียงนั้น สมควรทำลาย แล้วสร้างใหม่ให้ใหญ่โต และมีรูปลักษณ์ตามอย่างศิลปกรรมในกรุงเทพฯ แทน  ซึ่งนับว่าเป็นความเข้าใจที่ผิดไปจากที่ควรจะเป็นอย่างมาก 

สถาปัตยกรรมไทย สถาปัตยกรรมท้องถิ่น
สถาปัตยกรรมไทย – สถาปัตยกรรมท้องถิ่น

เราอาจเปรียบเทียบง่ายๆ กับคนดีและคนดัง ซึ่งอาจจะเป็นคนเดียวกันหรือคนละคนก็ได้  คนดีจะอย่างไรเขาก็ดีอยู่อย่างนั้น และ สถาปัตยกรรมไทย ที่ดีไม่ว่าจะดังหรือไม่ ก็ย่อมมีคุณค่าอยู่ในตัวเองเช่นกัน เพราะฉะนั้นงาน สถาปัตยกรรมไทย ที่ไม่ได้มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักก็ไม่ได้เป็นข้อสรุปว่า สถาปัตยกรรมไทย ชิ้นนั้นไม่ดี  ในทำนองเดียวกัน สถาปัตยกรรมบางชิ้นเป็นที่รู้จักในวงกว้าง ก็ไม่ได้แปลว่างานชิ้นนั้นเป็นสถาปัตยกรรมที่มีคุณค่าเสมอไป

สถาปัตยกรรมที่เห็นในชนบทมากมาย จึงมักถูกมองข้ามหรือละเลยไปจากคนในท้องถิ่น ที่มองเห็นจนชินตา เพราะนำไปเปรียบเทียบกับงานที่เด่นดังกับที่อื่นๆ  ทั้งที่งานเหล่านั้นแท้จริงแล้ว มีคุณค่าอย่างยิ่งโดยเฉพาะในเชิงมรดกทางวัฒนธรรมชุมชน  เนื่องเพราะเป็นงานที่ก่อเกิดจากศรัทธาและฝีมือของท้องถิ่นที่ยากจะนำช่างในเมืองไปทำให้เป็นเช่นนั้นได้ 

ทั้งนี้มิได้หมายถึงงานก่อสร้างที่จะทำกันไปเช่นไรก็ได้ แต่ต้องเป็นงานที่มีทักษะฝีมืออันชำนาญการในท้องถิ่นที่สืบสายกันมา แก้ปัญหาทั้งโดยการใช้งาน ความคิดความเชื่อความศรัทธาและความงามอย่างเป็นขั้นเป็นตอนมา จนเข้ารูปเข้ารอยเป็นอย่างดี การก่อรูปของงานเหล่านั้น จะสะท้อนให้เห็นถึงคุณค่าทางวัฒนธรรมอันสำคัญที่มีความโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์เฉพาะถิ่น  ที่คนรุ่นหลังสามารถเรียนรู้ได้ และอาจทำให้คนภายนอกที่รู้ถึงคุณค่าเหล่านั้นต้องการจะไปสัมผัส เพราะความแตกต่างหลากหลายทางวัฒนธรรม คือจุดดึงดูดที่จะทำให้ผู้คนอยากไปเยี่ยมเยือน

แต่สังคมไทยเป็นสังคมที่ยังขาดความรู้ความเข้าใจในเรื่องราวเหล่านี้อยู่มาก รากเหง้าทางวัฒนธรรมอันสำคัญหลายต่อหลายชิ้นจึงถูกทำลายลงอย่างน่าเสียดาย ด้วยความคิดว่าเป็นของเก่าโบร่ำโบราณ โดยไม่รู้ว่าของเก่าเหล่านั้นอุดมไปด้วยคุณค่าของมรดกทางวัฒนธรรมของตน ซึ่งประเทศที่เข้าใจในเรื่องเหล่านี้ดี จึงมักกวาดเก็บสมบัติวัตถุโบราณต่างๆจากทั่วทุกแห่ง ไปไว้ในครอบครองของตน  ด้วยเห็นถึงคุณค่าทางประวัติศาสตร์ และคุณค่าทางศิลปกรรมที่มีในงานที่ทำด้วยหัวใจเหล่านั้น

การสืบสานมรดกทางวัฒนธรรมในท้องถิ่นต่างๆ นั้นครูช่างแต่เก่าก่อน ให้ความสำคัญกับการออกแบบมาโดยตลอด และผลงานการออกแบบของท่านเหล่านั้นสะท้อนภาพวัฒนธรรมชุมชนได้เป็นอย่างดี เช่นการออกแบบพระมหาธาตุเจดีย์ศรีจันเสน โดย อ.วนิดา พึ่งสุนทร ณ วัดจันเสน อ.ตาคลี จ.นครสวรรค์ ซึ่งเป็นการออกแบบงาน สถาปัตยกรรมไทย บนพื้นที่ประวัติศาสตร์ซึ่งเคยเป็นเมืองโบราณสมัยทวารวดี ศิลปกรรมที่ปรากฏในงานออกแบบจึงเป็นการผสมผสานรากมรดกแห่งพื้นที่ เกิดเป็น สถาปัตยกรรมไทย เฉพาะที่อันงดงามขึ้นมา  หรืองานออกแบบมณฑปของหลวงปู่เทสก์ เทสรังสี  ของ อ.ประเวศ ลิมปรังษี ณ วัดหินหมากเป้ง อ.ศรีเชียงใหม่ จ.หนองคาย ซึ่งเป็นงานออกแบบในลักษณะสถาปัตยกรรมแบบอีสานที่เป็นลักษณะเฉพาะของท้องถิ่นที่งดงาม จากฐานทางวัฒนธรรมท้องถิ่น  เป็นต้น

นี่ย่อมเป็นตัวอย่างให้เห็นได้ชัดเจนว่า งานออกแบบ สถาปัตยกรรมไทย มิได้เป็นงานที่ลอกเลียนงานอื่นๆ มา แต่เป็นงานที่สามารถออกแบบให้มีลักษณะเฉพาะ โดยต่อยอดจากศิลปกรรมที่มีอยู่ในท้องที่แต่ละแห่งได้ ซึ่งต้องอาศัยความรู้ความเข้าใจของผู้ออกแบบเป็นปฐม ในการขับเคลื่อนให้การก่อสร้างเกิดรูปแบบทาง สถาปัตยกรรมไทย ที่ประณีตงดงามมีคุณค่า เป็นที่เจริญตาเจริญใจแก่ชุมชน และโดยเฉพาะคนต่างถิ่นที่เดินทางไปเยี่ยมเยือน ซึ่งย่อมสร้างความรู้สึกแปลกตาไปจากศิลปกรรมที่ตนมีหรือคุ้นเคย 

หากเราเดินทางไปต่างภูมิภาคแล้วพบเจอรูปแบบสถาปัตยกรรมที่เหมือนกันกับบ้านเรา เราก็คงไม่รู้สึกอะไรกับงานที่ปรากฏนั้นเป็นพิเศษ และยังอาจเกิดการเปรียบเทียบความเหมือนต่างในงานที่เหมือนกันนั้นอีกด้วย  หากลองพิจารณาดูว่าการที่มีผู้เดินทางไปเยี่ยมเยือนศิลปสถานอันเป็นวัดวาอารามหลายๆ แห่งอย่างมากมายนั้น เนื่องเพราะที่เหล่านั้น นอกเหนือจากองค์พระปฏิมา และครูบาอาจารย์อันเป็นที่เคารพแล้ว ก็ยังมีศิลปสถาปัตยกรรมที่เป็นแบบเฉพาะตนนั้นด้วย ที่ก่อให้เกิดความรู้สึกอยากแวะเวียนไปหา บางครั้งไปแล้วก็ยังอยากจะไปซ้ำ  แม้แต่ในภาคกลางที่ดูเผินๆ ดูราวกับว่าวัดเหล่านั้นเหมือนๆ กัน แต่แท้จริงแล้วงานช่างเหล่านั้นกลับได้รับออกแบบสร้างสรรค์ให้มีลักษณะเฉพาะตัวที่แตกต่างกันไปทั้งสิ้น  ศิลปะสถานในบ้านเมืองเราจึงเป็นเหมือนดั่งพิพิธภัณฑ์ทางศิลปะดีๆนี่เอง ซึ่งคุณค่าของพิพิธภัณฑ์ทางศิลปะแต่ละแห่งนั้นย่อมแตกต่างกันไป และสมควรที่จะได้รับการดูแลสืบสานต่อไป

วันนี้ยังไม่ช้าที่ทุกคนจะเรียนรู้และเข้าใจคุณค่าในมรดกทางวัฒนธรรมที่สร้างสรรค์จากบรรพชนที่เป็นมรดกตกทอดมายังลูกหลานในปัจจุบัน  และควรอย่างยิ่งที่ชนรุ่นหลังจะได้สร้างสรรค์งานใหม่ๆ ที่สะท้อนถึงภูมิปัญญาที่สั่งสมมา ด้วยความรักและเข้าใจในคุณค่าสถาปัตยกรรมเฉพาะท้องถิ่นแต่ละแห่งนี้ เพื่อสืบสามรดกทางวัฒนธรรมของท้องถิ่นตนให้งอกงามอย่างเป็นเอกลักษณ์ที่น่าภาคภูมิสืบไปอย่างไม่ขาดสาย สมดังคำครูในด้านศิลป สถาปัตยกรรมไทย ที่ว่า  “ สถาปัตยกรรมไทย สืบสานและสร้างสรรค์ได้ ”

TAG:

Read in English