ความรู้เรื่องวัด

Home » ความรู้เรื่องวัดและพัฒนาการ » ความรู้เรื่องวัด

วัดคืออะไร?     

“วัด”  หมายถึง สถานที่ทางพระพุทธศาสนา ซึ่งปกติมีพระอุโบสถ พระวิหาร พระเจดีย์ รวมทั้งมีพระภิกษุสงฆ์อยู่อาศัย[1]  “วัด” เป็นคำเรียกชื่อศาสนสถานแบบคำไทย ซึ่งปัจจุบันยังไม่เป็นที่ยุติว่ามีที่มาอย่างไร สันนิษฐานว่ามาจากคำว่า “วัตวา” ในภาษาบาลี แปลว่าเป็นที่สนทนาธรรม  บ้างว่ามาจาก “วัตร” หมายถึง กิจปฏิบัติหรือหน้าที่ของพระภิกษุที่พึงกระทำ[2] หรืออาจมาจากคำว่า “วัดวา” หมายถึงการกำหนดขอบเขตของดินแดนที่สร้างเป็นศาสนสถาน[3]

ในอดีตครั้งสมัยพุทธกาล มีการใช้คำว่า “อาราม” หรือ “อาราเม” แปลว่า สวน[4]   เป็นคำเรียกชื่อศาสนสถานในพุทธศาสนาลักษณะเดียวกับวัด  ได้แก่ เสนาสนะที่มีผู้ศรัทธาถวายพระพุทธองค์ในระยะแรก เช่น “เชตวนาราม” หรือชื่อเต็มว่า “เชตวเนอนาถบิณฑิกสฺสอาราเม” ซึ่งมีความหมายว่า สวนของอนาถบิณฑที่ป่าเชต   “เวฬุวนาราม” สวนไผ่ที่พระเจ้าพิมพิสารถวายแด่พระพุทธเจ้า     และ “บุปผาราม” สวนดอกไม้ที่นางวิสาขามหาอุบาสิกาถวายเป็นพระอาราม เป็นต้น  นอกจากนี้ยังปรากฏคำว่า “อาวาส” ที่มีความหมายว่าวัด  ดังชื่อเรียกสมภารผู้ครองวัดว่า “เจ้าอาวาส” ซึ่งมีความหมายถึง ผู้เป็นใหญ่ในวัด หรือชื่อเรียกวัด เช่น วัดเทพศิรินทราวาส (เทพศิรินทรา + อาวาส) โดยปกติ คำว่าอาวาสไม่เป็นที่นิยมใช้กันในความหมายว่าวัด แต่นิยมให้ความหมายในเชิงที่เป็นตัวเรือนที่อยู่อาศัยมากกว่า  คำว่าอาวาสจึงเสมือนเป็นที่อยู่ส่วนย่อยในอารามที่มีความหมายถึงพื้นที่ที่เป็นศาสนสถานทั้งเขต[5] 

ความเป็นวัดเมื่อครั้งสมัยพุทธกาลดังกล่าว เป็นเพียงแต่ที่พักชั่วคราวเท่านั้น ต่อมาเมื่อสิ้นสมัยพุทธกาล ได้มีการสร้างพระสถูปประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุขึ้น เรียกว่า ธาตุเจดีย์ และเมื่อมีการกำหนดสังเวชนียสถานขึ้น จึงได้จัดให้พระภิกษุอยู่เฝ้ารักษาที่นั้นเป็นประจำ ทำให้เกิดวัดที่เป็นลักษณะใช้สอยดังเช่นวัดในสมัยปัจจุบัน [6]

วัดแบ่งออกเป็นกี่ประเภท กี่เขต (Zoning)  

ประเภทของวัด

ตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 มาตรา 31 วรรค 2 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2535    วัดถือเป็นนิติบุคคลที่มีเจ้าอาวาสเป็นผู้แทนของวัดในกิจการทั่วไป  “วัด”  มีสองอย่าง ได้แก่ วัดที่ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา และสำนักสงฆ์    วัดที่ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เป็นวัดที่พร้อมใช้ทำสังฆกรรมตามพระวินัยได้ทุกประการ แบ่งออกเป็น 2 ประเภทได้แก่ พระอารามหลวงและวัดราษฎร์      ส่วนสำนักสงฆ์ หมายถึง สถานที่ที่ได้รับอนุญาตตั้งเป็นวัดถูกต้องตามกฎหมายแล้ว       มีพระสงฆ์อยู่อาศัยประจำเหมือนวัดทั่วไป แต่ยังมิได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาคือยังไม่มีอุโบสถหรือโบสถ์ หรือมีแต่ยังไม่ได้ผูกสีมา มีสิทธิใช้คำว่า “ วัด” นำหน้าเหมือนวัดทั่วไป    หากเป็นเพียงที่พำนักอาศัยของพระภิกษุสามเณรโดยมิได้รับอนุญาตตั้งเป็นวัดตามกฎหมายเรียกว่า “ที่พักสงฆ์” มิใช่สำนักสงฆ์[7]

นอกจากการจำแนกประเภทของวัดในประเทศไทยดังกล่าว ยังสามารถจำแนกตามวิถีปฏิบัติของพระภิกษุได้อีก 2 แบบ คือ พระฝ่าย “อรัญวาสี” และฝ่าย “คามวาสี”     

พระฝ่ายอรัญวาสี   “อรัญวาสี”โดยรูปศัพท์แปลว่าผู้อยู่ในป่า[8] เป็นกลุ่มพระสงฆ์ที่ตั้งมั่นอยู่ในแนวปฏิบัติเดิม คือปลีกความวุ่นวายจากทางโลกออกสู่ป่าสู่ถ้ำเพื่อแสวงหาความวิเวก มุ่งเน้นทาง “วิปัสนาธุระ” อันมีความหมายถึง   การทำจิตให้สงบเพื่อพิจารณาให้เห็นแจ้ง   วัดของพระฝ่ายอรัญวาสีจึงต้องตั้งอยู่บริเวณป่าเขาที่ไม่ไกลจากแหล่งน้ำธรรมชาติที่ห่างไกลจากเมือง  แต่เนื่องเพราะพระภิกษุไม่อาจประกอบอาชีพเลี้ยงตัวได้ ความจำเป็นในการพึ่งพาอาศัยการแบ่งปันอาหารจากสังคมจึงยังต้องมีอยู่        ดังนั้นในพระวินัยจึงกำหนดไว้ว่า วัดฝ่ายอรัญวาสีจะต้องตั้งไม่ห่างจากหมู่บ้านที่ใกล้ที่สุดจนเกินไป คือให้อยู่ในระยะประมาณชั่ว 500 คันธนูหรือประมาณ 1 กิโลเมตร   เป็นวัดที่มีสถาปัตยกรรมประเภทอาคารไม่มากและไม่มีการกำหนดรูปแบบและแผนผังที่มีกฎเกณฑ์ตายตัว  อาคารหลังสำคัญที่สุดของวัด ไม่ใช่พระเจดีย์ พระอุโบสถหรือพระวิหาร หากแต่เป็นกุฏิและศาลาโถงเอนกประสงค์ ด้วยเพราะพระสงฆ์ฝ่ายนี้จำวัดเฉพาะช่วงเข้าพรรษาเท่านั้น ส่วนในช่วงอื่นๆของรอบปีจะมุ่งธุดงค์ ปักกลด ฝึกหัดกรรมฐานจิตและจาริกไปเรื่อยๆเพื่อหาแนวทางแห่งการหลุดพ้น มากกว่าการประพฤติปฏิบัติในเชิงพิธีกรรม[9]

พระฝ่ายคามวาสี    “คามวาสี”โดยรูปศัพท์แปลว่า ผู้อยู่ในหมู่บ้าน ใช้สำหรับเรียกคณะสงฆ์ฝ่ายคันถธุระ[10]  ธุระคือการเรียนพระคัมภีร์หรือการศึกษาปริยัติธรรม[11]  เป็นวัดที่สร้างขึ้นสำหรับเป็นที่พึ่งของชุมชนและเมืองโดยตรง เนื่องจากพระภิกษุฝ่ายนี้มุ่งไปในทางปฏิบัติด้านพิธีกรรมทางศาสนา และเน้นศึกษาทางหนังสือเพื่อแสวงหาความรู้สำหรับใช้ในการสั่งสอนฆราวาสมากกว่าฝึกปฏิบัติด้านวิปัสสนาธุระ พระสงฆ์ฝ่ายนี้จึงมีความสัมพันธ์และเกี่ยวข้องกับโลกภายนอกตลอดเวลา[12]

วัดมีกี่เขต แต่ละเขตมีอาคารสำคัญอะไรบ้าง ใช้งานอย่างไร  

การใช้พื้นที่ของวัดโดยทั่วไปนิยมแบ่งพื้นที่ภายในวัดออกเป็น 3 เขตได้แก่     เขต “พุทธาวาส” 

เขต “สังฆาวาส”  และเขต “ธรณีสงฆ์”[13] รวมเรียกว่า “ที่วัด” คือที่ซึ่งตั้งวัดจนตลอดเขตวัดนั้น            นอกจากนี้ยังมีพื้นที่อีก 2 เขตที่อยู่นอกพื้นที่วัด คือ  “ที่ธรณีสงฆ์”  และ “ที่กัลปนา”[14]

1.  เขตพุทธาวาส   หมายถึง ขอบเขตบริเวณที่สำคัญที่สุดของวัด ถูกกำหนดให้เป็นพื้นที่สำหรับพระสงฆ์ประกอบพิธีกรรมทางศาสนา จึงต้องมีอาคารสำหรับประกอบศาสนพิธีที่ภายในอาคารต้องมีพระพุทธรูปประดิษฐานอยู่ด้วยเสมอ เขตแดนแห่งนี้จึงเป็นเสมือนสัญลักษณ์แห่งสถานที่ประทับของพระพุทธองค์   สอดคล้องกับความหมายของคำว่า “พุทธาวาส” (พุทธะ+ อาวาส)  ที่หมายถึงสถานที่ประทับของพระพุทธเจ้า  เขตพุทธาวาสจึงมักประกอบด้วยสถาปัตยกรรมสำคัญที่เกี่ยวเนื่องกับพระพุทธองค์และพิธีกรรมต่างๆ ที่สำคัญได้แก่ พระเจดีย์ อุโบสถ วิหาร ศาลาราย กำแพงแก้ว หอระฆังหอกลอง และพระระเบียง เป็นต้น 

1.1 พระเจดีย์     นิยมสร้างขึ้นเพื่อเป็นศูนย์กลางหลักของแผนผังวัด  รวมถึงเจดีย์รายสำหรับบรรจุอัฐิหรือประกอบเพื่อให้ผังสมบูรณ์ เจดีย์ครั้งหลังพุทธกาลที่เกี่ยวกับพระพุทธศาสนานั้น มีการกำหนดให้สร้างขึ้น 4 อย่างคือ

  • ก) ธาตุเจดีย์ คือ สิ่งก่อสร้างอย่างที่เรียกว่าพระสถูป สร้างขึ้นเพื่อบรรจุพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้า
  • ข) ธรรมเจดีย์ คือ พระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า ทั้งที่จารึกเป็นพระคัมภีร์ หรือหนังสือ เช่นคัมภีร์พระไตรปิฎก หรือแผ่นจารึกอักษรธรรม เป็นต้น
  • ค) บริโภคเจดีย์ คือสถานที่สำคัญสี่แห่ง ที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธองค์ครั้งดำรงพระชนม์ชีพอยู่ ทรงอนุญาตให้ใช้เป็นสังเวชนียสถานสำหรับพุทธศาสนิกชนได้รำลึกถึงพระองค์คือ

– สถานที่ประสูติ ป่าลุมพินีวัน ( ลุมพินี ในเนปาล)

– สถานที่ตรัสรู้ ต้นโพธิ์ พุทธคยา (โพธิคยา รัฐพิหาร ในอินเดีย)

– สถานที่แสดงปฐมเทศนา เมืองสารนาถ (รัฐอุตตรประเทศ ในอินเดีย)

– สถานที่ปรินิพพาน สาลวโนทยาน เมืองกุสินารา ( รัฐอุตรประเทศ ในอินเดีย )

  • ง) อุเทสิกะเจดีย์ คือสิ่งที่สร้างขึ้นเพื่ออุทิศต่อพระพุทธองค์ เช่นพระพิมพ์ พระพุทธรูป เป็นต้น                                                                                                                                                              

การสร้างเจดีย์ (สถูปเจดีย์) นั้น นักวิชาการเชื่อว่ามาจากการสร้างเนินดิน ตรงที่ฝังอัฐิธาตุในวัฒนธรรมของชาวอินเดีย และปักร่มบนโคกเนินดินเพื่อแสดงเกียรติแห่งบุคคลนั้น เจดีย์จึงเป็นเสมือนสถาปัตยกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับการตายของบุคคลสำคัญ โดยเป็นเครื่องระลึกถึงเกียรติคุณที่บุคคลนั้นมีต่อสังคม หรือชาติบ้านเมือง

รูปแบบและลักษณะของเจดีย์  เท่าที่ปรากฏหลักฐานทางประวัติศาสตร์ในชาติไทย เราพบรูปแบบและลักษณะเจดีย์อยู่ 4 แบบคือ แบบทรงกลม, เจดีย์แปดเหลี่ยม,เจดีย์สี่เหลี่ยม ที่มีทั้งย่อมุม และยกฐานสูง และแบบสุดท้ายคือแบบเบ็ดเตล็ด เช่นทรงดอกบัวตูม ทรงปราสาท เป็นต้น

ตำแหน่งที่ตั้ง มักจะอยู่ในตำแหน่งประธานของเขตพุทธาวาส หรือ หลังอุโบสถหรือวิหาร  นอกจากนี้ก็อาจวางเป็นเจดีย์ราย เจดีย์ทิศ เจดีย์ราย เจดีย์หมู่  ซึ่งอาจวางผังประกอบเจดีย์ประธานหรืออาคารหลักก็ได้

นอกจากเจดีย์แล้ว ยังมีสถาปัตยกรรมที่ทำหน้าที่ดั่งเจดีย์อีกลักษณะหนึ่ง คือ ปรางค์ อันเป็นสถาปัตยกรรมที่มีลักษณะเฉพาะของศิลปกรรมขอม ตามคติของเขาพระสุเมรุ แทนความหมายของศูนย์กลางหรือแกนกลางจักรวาล จึงมักถูกใช้ในเชิงสัญลักษณ์อันเกี่ยวเนื่องกับพระเจ้าแผ่นดินในฐานะ ผู้เป็นเจ้าแห่งจักรวาล หรือเป็นพระโพธิสัตว์ อันเป็นแกนแห่งโลก

รูปแบบของปรางค์ แบ่งออกเป็น สี่แบบคือ ทรงศิขร , ทรงงาเนียม , ทรงฝักข้าวโพด และทรงจอมแห โดยมีลักษณะหนักแน่นทึบ ไล่ไปจนถึงทรงที่มีความเพรียวผอมแบบฝักข้าวโพด และพัฒนาเป็นรูปแบบที่งดงามและเป็นแบบเฉพาะตัวที่สุดในทรงจอมแห

1.2 อุโบสถ  อาคารที่ใช้สำหรับประกอบพิธีสังฆกรรม โดยเฉพาะพิธีอุปสมบท ถือได้ว่าเป็นอาคารที่ใช้งานสำหรับพระสงฆ์เป็นการเฉพาะ โดยในวัฒนธรรมบ้านเราได้รับการออกแบบใช้สอยแตกต่างกันไปในและช่วงเวลาและวัฒนธรรมแต่ละภูมิภาค

ตำแหน่งที่ตั้ง ในสมัยก่อน อุโบสถมีขนาดเล็ก และตั้งอยู่ในตำแหน่งไม่สู้สำคัญมากนักในผังพุทธาวาส ต่อมาได้มีความสำคัญเข้ามาอยู่ในแกนหลักของวัด แต่ยังสำคัญน้อยกว่าวิหารซึ่งมักตั้งเด่นอยู่ทางด้านหน้า และท้ายสุดอุโบสถได้กลายเป็นอาคารหลักสำคัญของวัดอันเริ่มมาแต่สมัยอยุธยาช่วงกลางมาแล้ว และโดยเฉพาะอย่างยิ่งในสมัยรัตนโกสินทร์นี้เองที่นิยมสร้างอุโบสถเป็นหลักของวัด

ขนาดของพระอุโบสถ ถูกกำหนดขึ้นตามจำนวนของพระที่ทำสังฆกรรมทั้งปวงได้  โดยเริ่มตั้งแต่ สำหรับพระสงฆ์ 4 รูป (ยกเว้น ทำอุปสมบทกรรม,การปวารนาและสวดถอนอาบัติสังฆาฑิเสส) สำหรับพระสงฆ์ 5 รูป (ยกเว้น การทำอุปสมบทกรรมในกลุ่มมัธยมประเทศ และการสวดถอนอาบัติสังฆาฑิเสส)  สำหรับพระสงฆ์ 10 รูป (ยกเว้นการสวดถอนอาบัติสังฆาฑิเสส)  และสำหรับพระสงฆ์ 20 รูป ทำกรรมทั้งปวงได้หมด ฉะนั้นแล้วหากวัดใดต้องการให้อุโบสถทำสังฆกรรมได้ทุกชนิด ก็ต้องมีขนาดพอสำหรับพระสงฆ์นั่งหัตถบาทได้ 20 รูปขึ้นไป ( โดยปกติจะอออกแบบให้นั่งได้ 21 รูป สำหรับทุกสังฆกรรม)

สำหรับรูปแบบของพระอุโบสถ มีหลากหลาย ตามลักษณะผังและทรงหลังคา ได้แก่ แบบมีปีกนก, แบบทรงคฤห์ ,แบบมุขเด็จ , แบบเฉลียง ,แบบมุขประเจิด, แบบตรีมุข, แบบจัตุรมุข รายละเอียดสามารถอ่านเพิ่มเติมได้ใน หนังสือเรื่อง วัด พุทธศาสนสถาปัตยกรรมไทย โดย สมคิด จิระทัศกุล

1.3  วิหาร   อาคารสำหรับประกอบพิธีกรรมทางศาสนาระหว่างพระสงฆ์และฆราวาส กล่าวอย่างง่ายคือเป็นอาคารสำหรับประกอบการงานบุญของชาวพุทธนั่นเอง นอกจากนั้นอาจเป็นอาคารที่ใช้ประดิษฐานพระสำคัญประจำวัด ลักษณะและรูปแบบของวิหารอาจกล่าวได้ว่ามีความคล้ายคลึงกันกับอุโบสถ แม้ว่าอดีตจะเคยเป็นอาคารประธานของวัด แต่ปัจจุบันได้ลดบทบาทลงเนื่องจากโดยมากจะให้อุโบสถเป็นอาคารสำคัญแทน

1.4 มณฑป อาคารที่ใช้สำหรับประดิษฐานสิ่งสำคัญอาทิ พระพุทธรูป พระไตรปิฎก พระพุทธบาท เป็นต้น โดยเป็นอาคารที่มีแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส มีหลังคายอดแหลมอย่างปิรามิด ซ้อนเป็นชั้นๆ เรียกว่า “หลังคาทรงบุษบก”  ซึ่งคำว่าบุษบก และมณฑป อาจเป็นคำที่สร้างความเข้าใจผิดให้ผู้คนโดยมาก โดยบุษบกนั้นใช้สำหรับประดิษฐานพระพุทธรูปขนาดเล็ก หรือให้คนเข้าไปนั่งได้ 1 คน เป็นอาคารที่มีเสาลอยเป็นลักษณะโถง ไม่มีฝา ส่วนมณฑป จะมีขนาดใหญ่ประมาณ 4×4 เมตรขึ้นไป ฐานอาคารไม่สูงเหมือนอย่างบุษบก แต่จะมีฝาทึบทุกด้าน โดยอาจมีหรือไม่มีหน้าต่างก็ได้ (ทั้งนี้จะกล่าวถึงมณฑปโดยละเอียดต่อไปข้างหน้าในหัวข้อเฉพาะเรื่อง )

1.5 หอระฆังและหอกลอง            อาคารที่ใช้เป็นเครื่องบอกเวลาสำหรับพระภิกษุสงฆ์ โดยหอระฆังมีหน้าที่ในการตีบอกเวลาในการลงทำอุโบสถเช้า-เย็น เพื่อสวดมนต์ไหว้พระ ส่วนหอกลอง ใช้บอกเวลา ฉัน บางครั้งใช้สำหรับแจ้งเหตุร้ายเช่นไฟไหม้ด้วย ซึ่งทั้งหอกลองและหอระฆังมักจะอยู่คู่กัน เดิมหอระฆังเคยตั้งอยู่ในเขตสังฆาวาส ต่อมาในสมัยรัตนโกสินทร์ได้ย้ายไปอยู่ในผังเขตพุทธาวาสแทน โดยมีขนาด 2-3 เมตร สำหรับแขวนระฆัง และกลองได้อย่างเพียงพอแก่การใช้งาน โดยบันไดสำหรับอาคารทั้งสองชนิดนี้มักจะชัน เนื่องจากอาคารมีขนาดเล็ก และมิได้ใช้ตลอดทั้งวัน ใช้เพียงเฉพาะบางเวลา เพื่อเป็นการประหยัดจึงทำแต่เพียงพอแก่การใช้งานได้เท่านั้น และมีรูปแบบแตกต่างกันไปมากมายตามลักษณะทรงหลังคา

1.6 ศาลา  อาคารที่สร้างขึ้นสำหรับเป็นที่พักของผู้มาเยือน  โดยอาจสร้างขึ้นใช้ประโยชน์มากมายหลายลักษณะตามการใช้งาน ในเขตพุทธาวาส นิยมสร้างเป็นศาลาราย เป็นองค์ประกอบล้อมอาคารสำคัญ และมักเป็นอาคารขนาดเล็ก

1.7 พระระเบียง  อาคารสำหรับล้อมรอบพื้นที่และอาคารสำคัญของเขตพุทธาวาส  ซึ่งอาจสร้างขึ้นตามคติแบบศิลปกรรมขอม มีซุ้มทางเข้าในแต่ละด้าน และใช้ประโยชน์ในลักษณะการพักแรมของผู้มาแสวงบุญจากที่อื่นแดนไกลได้ด้วย เพราะสมัยก่อนการเดินทางไม่สะดวกเท่าสมัยปัจจุบัน ที่สามารถเดินทางไปกลับได้ง่ายขึ้น  และสิ่งที่นิยมสร้างไว้ภายในระเบียงล้อม (หรือที่เรียกกันว่าระเบียงคด) ก็คือพระพุทธรูป โดยมากมีลักษณะเป็นสี่เหลี่ยม แต่มีบางแห่งทำเป็นวงกลม เช่น วัดพระปฐมเจดีย์ ในสมัยรัชกาลที่ 4 และ วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม ในสมัยรัชกาลที่ 5 เป็นต้น

2.  เขตสังฆาวาส หมายถึง  พื้นที่ส่วนหนึ่งของวัดที่กำหนดให้เป็นที่อยู่อาศัยของพระภิกษุสงฆ์  ไม่เกี่ยวเนื่องกับพิธีทางศาสนาโดยตรง   คำว่า “สังฆาวาส” (สงฆ์ + อาวาส) โดยรูปศัพท์   แปลว่าที่อยู่แห่งหมู่สงฆ์ อาคารภายในพื้นที่นี้จึงมีความสัมพันธ์กับวัตรปฏิบัติในวิถีแห่งการดำเนินชีวิตของเพศสมณะ ที่สำคัญได้แก่ กุฏิ หอฉัน หอไตร ศาลาการเปรียญ เวจกุฎี และห้องสรงน้ำ เป็นต้น

2.1 กุฏิ  คืออาคารสำหรับพระภิกษุอาศัยหลับนอน สมัยพุทธกาลพระพุทธองค์ได้กำหนดขนาดไว้ว่า ให้มีขนาดยาว 12คืบ กว้าง 7 คืบพระสุคต (ประมาณ 3 x1.75 เมตร ) ซึ่งกำหนดสำหรับการหลับนอนสำหรับพระสงฆ์เพียงรูปเดียว

2.2 หอฉัน    คืออาคารสำหรับพระภิกษุฉันภัตตาหาร กล่าวคือฉันร่วมกันในหมู่สงฆ์ ซึ่งอาจเกิดขึ้นภายหลังที่มีความนิยมในการนิมนต์พระสงฆ์ฉันภัตตาหารที่มีผู้ศรัทธาเลี้ยงพระ เลี้ยงเพล เป็นต้น โดยวัดคามวาสีเป็นวัดที่จะมีพื้นที่ในส่วนนี้เกิดขึ้นก่อน โดยในหมู่กุฏิแต่ละคณะจะมีหอฉัน 1ชุด โดยมีขนาดสัมพันธ์กับจำนวนพระในแต่ละหมู่กุฏินั้นๆ บางครั้งหากวัดไม่ได้ใหญ่โต พื้นที่หอฉันก็จะใช้สำหรับสวดมนต์ร่วมด้วย ทำให้เป็นทั้งหอฉันและหอสวด ตามแต่โอกาสการใช้งาน หรืออาจใช้งานในลักษณะอเนกประสงค์มากกว่านี้ก็ได้ ขึ้นอยู่กับทางวัด

2.3 หอไตร อาคารสำหรับเก็บคัมภีร์ทางศาสนา โดยเป็นพื้นที่สำหรับให้พระมาค้นคว้า ศึกษาพระธรรมคำสอนจากคัมภีร์ โดยตั้งอยู่ในบริเวณสังฆาวาสให้พระสงฆ์ใช้สอยได้สะดวก บางวัดที่มีขนาดใหญ่มาก อาจมีหอไตรได้หลายหลัง เช่นวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม เป็นต้น

2.4 ศาลาการเปรียญ   อาคารสำหรับพระสงฆ์แสดงธรรม  เป็นที่เรียนหนังสือของพระสงฆ์ หรือเป็นที่ประกอบการกุศลต่างๆ สามารถใช้งานในลักษณะอเนกประสงค์ได้ จึงทำให้อาคารนี้มีขนาดที่ค่อนข้างใหญ่ คือกว้างประมาณ 8 ถึง 10 เมตร และยาวประมาณ 12- 15 เมตร  และมักจะมีการสร้างอาสนะสงฆ์ยาวที่ผนังด้านหนึ่งเพื่อให้สะดวกแก่การประกอบพิธี

2.5 เวจกุฎี    อาคารสำหรับเป็นที่ขับถ่าย หรือ ถาน  มักจะสร้างแยกออกไปโดดๆ เป็นหลังเดียวหรือเป็นคู่ และแยกมูลเปียกมูลแห้งออกจากกัน ซึ่งสมัยก่อนเป็นเช่นนั้น  สร้างยกพื้นสูงก็มี ยกพื้นต่ำก็มี แต่หากยกสูงก็จะง่ายต่อการจัดการและสุขอนามัย เนื่องจากอากาศจะถ่ายเทได้ดีกว่า มีตำแหน่งที่ตั้งค่อนข้างมิดชิดห่างไกลสายตาผู้คนเพื่อให้เป็นสัดส่วนและเรียบร้อย ปัจจุบันมีห้องสุขาที่สะดวกแก่การใช้งานแทนที่แล้ว

2.6 ห้องสรงน้ำ อาคารสำหรับชำระร่างกาย   ในสมัยพุทธกาลไม่มีอาคารชนิดนี้เพราะโดยมากภิกษุสงฆ์ชำระล้างร่างกายในแม่น้ำ ในบ้านเราสมัยก่อน วัดริมน้ำก็จะมีพื้นที่สำหรับสรงน้ำริมน้ำ เนื่องจากวัดส่วนใหญ่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำ  ส่วนวัดในที่ดอนก็จะต้องอาศัย หนอง บึง หรือมีการขุดบ่อน้ำแทน ปัจจุบันมีการสร้างห้องอาบน้ำที่สะดวกแก่การใช้งานแทนที่แล้วเช่นกัน

3.  เขตธรณีสงฆ์ หมายถึง เขตพื้นที่บางส่วนภายในวัด นอกเหนือจากเขตพุทธาวาสและเขตสังฆาวาส เป็นเขตที่ถูกกำหนดให้เป็นพื้นที่สำหรับเอื้อประโยชน์ใช้สอยในเชิงสาธารณประโยชน์ เช่น ใช้เป็นพื้นที่เปิดโล่งเพื่อสร้างความร่มรื่นให้วัด หรือพื้นที่สร้างเมรุสำหรับฌาปนกิจ สุสาน หรือตั้งโรงเรียน ตลอดจนการแบ่งพื้นที่ให้คฤหัสถ์เช่าเพื่อใช้เป็นแหล่งทำมาหากิน เช่น การสร้างตึกแถว หรือทำเป็นพื้นที่ตลาดนัด นอกจากนี้ยังมีที่ดินที่ของวัดที่อยู่นอกเขตพื้นที่วัด เรียกว่า “ที่ธรณีสงฆ์

4.  ที่ธรณีสงฆ์   หมายถึง ที่แห่งใดใดซึ่งเป็นสมบัติของวัด เช่นที่ที่มีผู้บริจาคถวายกรรมสิทธิ์ให้แก่วัด เป็นต้น[15]

5. ที่กัลปนา   คำว่า “กัลปนา” เป็นคำภาษาสันสกฤต แปลว่า อุทิศให้ เจาะจงให้ หรือยกให้ เดิมหมายถึงส่วนบุญที่ผู้ทำอุทิศให้แก่ผู้ตาย โดยเชื่อว่าจะช่วยผู้ตายให้ประสบผลสำเร็จตามความปรารถนาของผู้อุทิศให้ เรียกว่า กัลปนาบุญ[16]   ต่อมาความหมายขยายกว้างออกไปกว่าเดิมคือหมายถึง ที่ดิน เรือกสวน ไร่นา สิ่งของ และคนที่ผู้เป็นเจ้าของหรือเจ้านายอุทิศให้แก่ศาสนาด้วย เช่น กัลปนาที่ หรือที่กัลปนา        แต่สำหรับในทางกฎหมาย “ที่กัลปนา” หมายถึงที่ดินซึ่งมีผู้อุทิศถวายผลประโยชน์ที่ได้จากที่ดินแก่วัด โดยกรรมสิทธ์ของที่ดินยังคงเป็นของผู้อุทิศ  ดังความพระราชบัญญัติลักษณะการปกครองคณะสงฆ์ ร.ศ.121 หมายถึง  ที่แห่งใด ๆ ซึ่งพระเจ้าแผ่นดินได้ทรงพระราชอุทิศเงินอากรค่าที่แห่งนั้นขึ้นวัดก็ดีหรือ ที่ซึ่งเจ้าของมิได้ถวายกรรมสิทธิ์ อุทิศผลประโยชน์อันเกิดแต่ที่วัดนั้นก็ดี[17]   ซึ่งสอดคล้องกับพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ มาตรา 33 หมายถึง    ที่ซึ่งมีผู้อุทิศแต่ผลประโยชน์ให้วัดหรือพระศาสนา (กรรมสิทธิ์ของที่ดินยังคงเป็นของผู้อุทิศ)[18]  

ข้อมูลข้างต้นเป็นการศึกษาค้นคว้าเพื่อให้เกิดความรู้ความเข้าใจถึง วัด เขตพื้นที่ใช้งานภายในวัด รวมถึงอาคารสำคัญที่อยู่ในแต่ละเขตพื้นที่ดังกล่าว ทำให้เห็นภาพรวมของวัดได้ชัดเจน และเข้าใจการใช้งานในแต่ละส่วน ซึ่งหลายส่วนก็อาจเปลี่ยนแปลงไปตามสภาพสังคม เศรษฐกิจ และยุคสมัย  การปลี่ยนแปลงดังกล่าวนี้ เป็นเรื่องที่น่าสนใจแก่การศึกษาเพิ่มเติม (โดยผู้เขียนขอยกไปนำเสนอในส่วนที่สองต่อไป)

จากข้อมูลข้างต้นหากพิจารณาถึงเขตพื้นที่วัดอันสำคัญทั้งสองส่วนคือ เขตพุทธาวาสและเขตสังฆาวาสนั้น ได้มีการศึกษาโดยนักวิชาการผู้ทรงคุณวุฒิและสรุปลักษณะของผังวัดโดยภาพรวมได้ออกเป็น   3  รูปแบบดังนี้คือ

1.ผังแบบเขตสังฆาวาสวางอยู่ด้านหลังเขตพุทธาวาส

2.ผังแบบเขตพุทธาวาสและเขตสังฆาวาสวางคู่ขนานกัน

3.ผังแบบเขตพุทธาวาสขนาบข้างด้วยเขตสังฆาวาส

4.ผังแบบเขตสังฆาวาสโอบล้อมด้านหลังมาด้านข้างทั้งสองฝั่งของเขตพุทธาวาส

5.ผังแบบเขตสังฆาวาสโอบล้อมเขตพุทธาวาสทางด้านหลังและด้านข้าง

นอกจากนั้นในเขตพื้นที่พุทธาวาสดังได้กล่าวไว้แล้วว่ามีอาคารสำคัญอะไรบ้าง ยังสามารถแบ่งรูปแบบการจัดวางอาคารสำคัญคืออุโบสถ(สีเข้ม) วิหาร(สีอ่อน) และเจดีย์(วงกลม) ออกเป็นรูปแบบต่างๆ ได้ดังนี้

            1.ผังแบบแนวแกนเดี่ยว

            2.ผังแบบแนวแกนคู่

            3.ผังแบบแนวแกนขนานสามแกน

            4.ผังแบบแนวแกนฉาก

            5.ผังแบบกากบาท

หมายเหตุ***

การเขียนข้อมูลในส่วนนี้ได้รับการช่วยเหลือในการตรวจสอบและแก้ไขความสมบูรณ์ของเนื้อหา จากนักวิชาการอิสระสองท่านคือ ดร.รสิตา สินเอกเอี่ยม และ ดร.สุวิทย์ เลิศวิมลศักดิ์ ขอขอบคุณในความกรุณามา ณ โอกาสนี้ด้วยครับ

ภาพกราฟฟิกผังวัดแบบต่างๆ โดย ณัฐภัทร สามิบัติ


[1]  ราชบัณฑิตยสถาน, พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2525(กรุงเทพฯ: อักษรเจริญทัศน์, 2525), 747.

[2]  สมคิด  จิระทัศนกุล, วัด: พุทธศาสนสถาปัตยกรรมไทย(กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์มหาวิทยาลัย ธรรมศาสตร์, 2544), 9.

[3]  สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ และพระยาอนุมานราชธน, บันทึกเรื่องความรู้ต่างๆ เล่ม 4(กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์ไทยวัฒนาพานิช, 2521), 248.

[4]  สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ และสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ, สาส์นสมเด็จ เล่ม 14(กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์คุรุสภา, 2526), 131.

[5]  สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ และสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ, สาส์นสมเด็จ เล่ม 9(กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์คุรุสภา, 2515), 109.

[6]   สมคิด  จิระทัศนกุล, รูปแบบพระอุโบสถและพระวิหารสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว(กรุงเทพฯ: ด่านสุทธาการพิมพ์, 2547), 10.

[7]  พระมหาโพธิวงศาจารย์ (ทองดี สุรเตโช),คำวัด: พจนานุกรมเพื่อการศึกษาพุทธศาสน์               (กรุงเทพฯ : ช่อระกา, 2548). เข้าถึงใน  https://kalyanamitra.org/th/article_detail.php?i=2614 เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2566.

[8]  พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554       เข้าถึงใน https://dictionary.orst.go.th/ 

เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2566

[9]   โชติ กัลยาณมิตร, สถาปัตยกรรมแบบไทยเดิม(กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์มหาวิทยาลัย ธรรมศาสตร์, 2539), 89.

[10]   พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554  เข้าถึงใน https://dictionary.orst.go.th/ 

เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2566

[11]   สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ. ปยุตฺโต),    พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์(ม.ป.ท.: ม.ป.พ., 2561 ), 44.

[12]   สมคิด  จิระทัศนกุล, วัด: พุทธศาสนสถาปัตยกรรมไทย, 14.

[13]   เรื่องเดียวกัน, 27.

[14]   พระราชบัญญัติลักษณะการปกครองคณะสงฆ์ ร.ศ.121 หมวด 3 มาตรา 6        เข้าถึงใน chrome-extension://efaidnbmnnnibpcajpcglclefindmkaj/http://www.mahabunhome.com/prb

_song_121.pdf เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2566.

[15]   พระราชบัญญัติลักษณะการปกครองคณะสงฆ์ ร.ศ.121 หมวด 3 มาตรา 6         เข้าถึงใน chrome-extension://efaidnbmnnnibpcajpcglclefindmkaj/http://www.mahabunhome.com/prb

_song_121.pdf เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2566.

[16]  ราชบัณฑิตยสถาน, สารานุกรมประวัติศาสตร์ไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน เล่ม 1,

พิมพ์ครั้งที่ 2 แก้ไขเพิ่มเติม (กรุงเทพฯ : ราชบัณฑิตยสถาน, 2549).

[17]  พระราชบัญญัติลักษณะการปกครองคณะสงฆ์ ร.ศ.121 หมวด 3 มาตรา 6.         

[18]  สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา, พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 หมวดที่ 5 มาตรา 33 เข้าถึงใน  https://ssc.onab.go.th/th/content/category/detail/id/7/iid/6576  เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2566.


ข้อมูล : ประกิจ ลัคนผจง

ข้อมูลข้างต้น นำมาจากการทำรายงานเพิ่มเติม จากการส่งผลงานออกแบบเพื่อขอเลื่อนระดับวิชาชีพสถาปนิกจากชั้นภาคีไปเป็นชั้นสามัญ โดยยื่นเรื่องเสนอต่อสภาสถาปนิก เมื่อเดือนกันยายน พ.ศ.2565 ได้รับการสอบสัมภาษณ์เดือนธันวาคม พ.ศ.2565 (สภาสถาปนิกให้ทำรายงานประกอบผลงานเพิ่มเติม ส่งรายงานครั้งแรก เดือนตุลาคม พ.ศ.2566 มีการขอให้แก้ไขรายงานและส่งใหม่อีกครั้งในเดือนเมษายน พ.ศ.2567) ได้รับพิจารณาเลื่อนขั้นพฤษภาคม พ.ศ.2567 และรับใบอนุญาต สิงหาคม พ.ศ.2567

TAG: