สถาปนิก คือใคร

สถาปนิก คือใคร ในความคิดของคนทั่วไปมักคิดว่า คือ บุคคลที่วาดรูปเป็น  คือคนที่ขีดๆเขียนๆเป็น  คือคนเขียนแบบบ้านตามที่เจ้าของบ้านต้องการ และบางคนก็คิดว่าเป็นคนที่น่าจะทำงานสนุก ไม่มีอะไรต้องเครียดหรือยุ่งยากในการทำงานเท่าไหร่ เพราะเป็นคนที่ดูสุนทรีย์ วาดรูปเขียนแบบไปเรื่อยๆ เท่านั้นเอง นั่นคือสารพันความคิดที่ผู้คนซึ่งไม่รู้จักสถาปนิก คิดกันไปต่างๆ นานา และพาให้เกิดข้อสงสัยว่า ทำไมเวลาสถาปนิกออกแบบบ้านหรืองานสถาปัตยกรรมสักชิ้นถึงมีค่าจ้างมากกว่าที่คิด ทั้งที่จริงๆ แล้วสิ่งที่ได้ก็เป็นกระดาษเขียนแบบหนึ่งเล่มเท่านั้นเอง

นี่คือความเข้าใจที่ถูกต้องเพียงส่วนเสี้ยวเดียวเท่านั้น  เพราะแท้จริงแล้ว สถาปนิกไม่ได้ขายกระดาษ สถาปนิกไม่ได้ขายแบบ แต่สถาปนิกทำหน้าที่ให้บริการทางความคิด ที่อาศัยแบบหรือกระดาษเป็นเครื่องมือในการสื่อสารองค์ความรู้ในทุกศาสตร์ ไปสู่งานก่อสร้าง ยิ่งไปกว่านั้น สิ่งที่ผู้คนเห็นก็เป็นเพียงกระบวนการสุดท้ายของการทำงาน ที่หลากหลาย ที่ประกอบไปด้วยบุคคลากรผู้เชี่ยวชาญในด้านต่างๆ ทั้ง ศิลปกรรม วิศวกรรม เทคนิค งานช่าง เจ้าหน้าที่งานเอกสาร งานสำเนาแบบ และอื่นๆ อีกหลายส่วนที่สนับสนุนการทำงานทั้งหมด

และความคิดทั้งหมดสื่อสารผ่านโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่มีค่าลิขสิทธิ์รายปีอีกมากมายหลายโปรแกรมด้วยกัน ซึ่งนับเป็นต้นทุนในการให้บริการทางวิชาชีพทั้งสิ้น โดยกระบวนการที่ดูจะใช้เวลาอย่างมากกระบวนการหนึ่งคือ กระบวนการคิดงาน ออกแบบงาน ที่อาจจะไม่เห็นเป็นชิ้นเป็นอันอย่างชัดเจน แต่มันคือขั้นตอนที่ใช้เวลาอย่างมาก เปรียบเสมือนกับการทานผลไม้สักลูก คือการได้แบบสำหรับก่อสร้างมา แต่ก่อนหน้านั้น จำเป็นต้องเพาะเมล็ด เตรียมดิน รดน้ำต้นอ่อน อนุบาลจนแข็งแรงแล้วจึงยกย้ายไปปลูก กว่าจะได้เก็บเกี่ยวผล จนเป็นผลลัพธ์สุดท้าย จึงใช้เวลาอย่างมาก แต่ก็เป็นขั้นตอนที่ผู้คนทั่วไปไม่มีโอกาสได้เห็น

สถาปนิก คือใคร?
ภาพ : ร่างแบบทางความคิดขั้นต้น เพื่อหาทางเลือกที่เหมาะสมที่สุด

การก่อเกิดสถาปัตยกรรมขึ้นมาแต่ละชิ้น  ล้วนต้องอาศัยผู้รู้ในศาสตร์และศิลป์ดังกล่าวแล้ว ซึ่งเป็นบุคคลที่ถูกฝึกฝนและเรียนรู้ในหลักวิชาที่เกี่ยวข้องมาเป็นระยะเวลาอันเหมาะสมจนบ่มเพาะความรู้ความคิดในด้านงานออกแบบได้  และจำเป็นต้องใช้ผู้เกี่ยวข้องในงานหลากหลายบุคคล  หากจะว่าไปตามหลัก vitruvious  นั้นก็ต้องประกอบไปด้วย ความเข้าใจแรกคือในด้านการใช้สอย หากสิ่งก่อสร้างนั้นมิได้มีความซับซ้อนในด้านการใช้งาน ก็อาจเป็นเรื่องง่ายต่อการทำงานในวงกว้างไม่แต่สถาปนิกเท่านั้น  แต่หากมิได้เป็นเช่นนั้น  กล่าวคือ การใช้สอยหลากหลาย ซับซ้อน ต้องการความจำเพาะทั้งในด้านขนาดพื้นที่ การสัญจร หรือระบบอาคารต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง  งานที่ว่าด้วยเรื่องพื้นที่ใช้สอยก็ดูจะเป็นเรื่องยุ่งขึ้นมาทันที   แต่ทั้งนี้หากแม้เป็นบ้านธรรมดา ๆ สักหลัง หากสถาปนิกเป็นผู้คิดออกแบบ ย่อมมีกระบวนการวิธีในการคิดและทำงานแตกต่างไปจาก บุคคลทั่วไป ที่มิได้ฝึกฝนมาในทางนี้แน่นอน

 “แต่ทั้งนี้งานที่ดีย่อมขึ้นอยู่กับจรรยาบรรณของทั้งนักออกแบบที่จะผลิตสร้างสรรค์งานที่มีความพิเศษให้แก่เจ้าของงานแต่ละท่านอย่างไร อีกทั้งยังต้องขึ้นอยู่กับองค์ประกอบอันสำคัญคือจรรยาบรรณของผู้ว่าจ้างที่จะไม่เอารัดเอาเปรียบผู้ออกแบบด้วยเช่นกัน”  

เนื่องจากสิ่งที่สถาปนิกคิดและทำมิใช่เพียงแค่การขีดเขียนเส้นลงบนกระดาษเท่านั้น เพราะสถาปนิกมิได้มอบกระดาษที่ประกอบด้วยเส้นสายต่างๆ ให้ แต่มอบความคิดที่ต้องวิเคราะห์และสังเคราะห์ข้อมูลมากมายกว่าจะสรุปผลที่น่าพึงพอใจออกมา และโดยมากก่อนที่จะปรากฏเป็นผลงานสุดท้าย ต้องผ่านกระบวนการคิดและแก้ไขมานับครั้งไม่ถ้วน เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ดีที่สุดในทุกๆ มิติทั้งการใช้สอย ความแข็งแรง ความงามและคุณภาพชีวิตที่ดีของผู้ใช้งาน

 

กระดาษที่ว่าจึงเป็นดั่งเครื่องมือสื่อสารให้ทุกคนเข้าใจความคิดเท่านั้น และนี่ย่อมทำให้ช่างสามารถก่อสร้างงานได้โดยไม่ต้องให้สถาปนิกมาอธิบายกันเป็นคำๆ ไป นับแต่เริ่มต้นจนจบเหมือนกับวิธีการก่อสร้างแบบพื้นถิ่น ซึ่งเน้นการก่อสร้างตามขนบวิธี (แต่ก็มีความแตกต่างในรายละเอียดของแต่ละชิ้นงานอยู่บ้างเช่นกัน)   สิ่งที่สถาปนิกมอบให้แก่เจ้าของงานเปรียบดังแผนที่ ให้เจ้าของงานนำไปใช้คุยกับคนขับรถให้พาไปสู่จุดหมายปลายทางที่ต้องการ ซึ่งแน่นอนว่าวิธีการไปถึงยังจุดหมายอาจไปได้หลายวิธี ขึ้นอยู่กับวิธีการออกแบบของสถาปนิกและต้นทุนในการเดินทางของเจ้าของงานเอง

โดยสถาปนิกต้องศึกษาเส้นทางที่มีอยู่ทั้งหมด รู้และเข้าใจสถานที่ต่างๆ ที่ต้องผ่านไปว่าจะประสบปัญหาและอุปสรรคอย่างไร ทั้งคอยป้องกันหลีกเลี่ยงให้การเดินทางดังกล่าวเป็นไปอย่างราบรื่นที่สุด  แต่อย่างไรก็ดี เส้นทางสายนี้มักมีเหตุไม่คาดคิดเกิดขึ้นเสมอ ทั้งจากบุคคลรายทางที่เจอและสภาพดินฟ้าอากาศที่เปลี่ยนแปลงไปในแต่ละวัน บุคคลที่เกี่ยวข้องทั้งหมดจึงต้องปรึกษาหารือกันอยู่เนืองๆ เพื่อให้การเดินทางไปสู่จุดหมายเป็นไปได้โดยสวัสดิภาพ

ฉะนั้นแล้ว ประโยชน์ใช้สอยที่ฟังดูเป็นเรื่องธรรมดา แท้จริงแล้วอาจไม่ได้ธรรมดาอย่างที่คิด ขึ้นอยู่กับว่าเราอยากให้มันเป็นอย่างไร  นอกจากนั้นการออกแบบบนปัจจัยของการใช้สอย ยังต้องมีหลักวิธีแห่งจิตวิทยาในการใช้งานผสมผสานอยู่ด้วย  สถาปนิกจึงอาจออกแบบพื้นที่ใช้สอยให้น่ารื่นรมย์ หรือเต็มไปด้วยความเครียดความลำบากก็ได้  อาคารที่ต่างหน้าที่ใช้สอยกันย่อมได้รับการออกแบบให้เกิดความรู้สึกที่สอดคล้องสัมพันธ์ไปกับการใช้สอยนั้น ๆ เช่น รู้สึกสงบ  หรือสึกง่วงนอนผ่อนคลาย หรือรู้สึกสนุกสนานตื่นตัวตลอดเวลา เป็นต้น  ซึ่งสามารถทำได้โดยอาศัยองค์ประกอบในด้านงานออกแบบที่สถาปนิกได้ร่ำเรียนฝึกฝนมาตลอด และการเรียนรู้ดังกล่าวก็จะไม่มีวันจบสิ้น เพราะต้องเรียนรู้พัฒนาไปตามเทคโนโลยี วัสดุก่อสร้าง และการสั่งสมทักษะฝีมือและความงามตามแบบแผนงานสถาปัตยกรรมที่เหมาะสมต่อไป

****

ในการออกแบบงานสถาปัตยกรรมทุกๆ ครั้งของสถาปนิก จะต้องคิดคำนึงถึงในด้านความมั่นคงแข็งแรงนี้ควบคู่ไปกับการสร้างสรรค์รูปลักษณ์ของตัวอาคารที่ออกแบบนั้นอยู่เสมอ สถาปนิกจึงต้องรู้และเข้าใจงานวิศวกรรมด้วย  ซึ่งเป็นการเรียนรู้หนึ่งในหลายๆ วิชาที่เกี่ยวข้องและสร้างความเข้าใจให้การทำงานออกแบบเป็นไปได้โดยถูกหลักทางวิศวกรรม สามารถออกแบบให้เกิดประสานกันของระบบอาคารต่างๆ ยิ่งถ้าเป็นอาคารขนาดใหญ่ก็จะมีงานระบบอื่นๆ เพิ่มเติมเข้ามาอีก      ไม่ว่าจะเป็นวิศวกรรมระบบไฟฟ้าและแสงสว่าง วิศวกรรมระบบปรับอากาศ วิศวกรรมระบบสุขาภิบาล เป็นต้น

สถาปนิกจึงเป็นเหมือนผู้รวบรวมทุกสิ่งอย่างที่เกี่ยวข้องให้เข้ามารวมเป็นหนึ่งเดียวอย่างลงตัว และเหมาะสมภายใต้ความต้องการใช้สอย ความแข็งแรง และมีความงามเพื่อสร้างสรรค์คุณภาพชีวิตที่ดีกว่าของผู้ใช้สอย เปรียบง่ายๆ เหมือนกับคนซึ่งสวมใส่เสื้อผ้าอาภรณ์   ร่างกายอันมีอวัยวะต่าง ๆ ประกอบกันขึ้นมาเป็นคนคือส่วนต่างๆ ของการใช้งาน(หรือการใช้สอย) มีโครงสร้างกระดูกเป็นแก่นแกนให้ทรงตัวอยู่ได้ และสามารถพับ งอ ลุก นั่ง ได้ด้วยกลไกทางโครงสร้างที่ได้รับการออกแบบเป็นอย่างดี(ความมั่นคงแข็งแรง)  

ในส่วนของความงามส่วนหนึ่งก็เกิดจากตัวอวัยวะนั้นๆ เองเช่น ผม ตา ปาก รูปร่าง แต่อาศัยอาภรณ์เครื่องนุ่งห่มที่สัมพันธ์กับผู้สวมใส่อย่างเหมาะกับกาลเทศะเป็นส่วนเติมเต็มความงามให้แก่อาคาร (ความงามในงานสถาปัตยกรรม) รวมถึงการออกแบบในการใช้สอยอันประกอบด้วยองค์ประกอบทางสถาปัตยกรรมที่ผู้ออกแบบได้ฝึกฝนเรียนรู้มา อาทิ ที่ว่าง มวลอาคาร จังหวะของอาคาร สี วัสดุ เส้นสายที่ปรากฏ ฯลฯ  

งานออกแบบทางสถาปัตยกรรม หากได้รับการวางแผนและปรึกษากับวิศวกรที่ทำงานร่วมกันไว้เป็นอย่างดีแล้ว ความงามก็จะปรากฏให้เห็นได้นับแต่ถอดไม้แบบเลยทีเดียว  ยิ่งเมื่อได้รับการเก็บความเรียบร้อยใส่อาภรณ์ให้แก่ตัวอาคารจนงานก่อสร้างแล้วเสร็จ ความงามที่สมบูรณ์ก็จะปรากฏตามที่ได้จินตนาการไว้

****

งานก่อสร้างทางสถาปัตยกรรมจึงต้องอาศัยผู้เกี่ยวข้องมากมายหลายส่วนด้วยกัน แบ่งหน้าที่กันทำงานตามภาระรับผิดชอบและความสามารถในแต่ละส่วน  สิ่งสำคัญคือการผสานส่วนต่างๆ เหล่านั้นให้เข้ามารวมกันเป็นหนึ่งเดียวได้อย่างสมบูรณ์ซึ่งเป็นหน้าที่อันสำคัญของสถาปนิก  

ซึ่งในทุกๆ ขั้นตอนมักจะพบเจอปัญหาที่ผู้เกี่ยวข้องจะต้องมาทำการแก้ไขที่พบเจอนั้น ตามจริงอาจกล่าวได้ว่ามิใช่ปัญหา แต่สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการทำงานซึ่งเป็นเรื่องปกติ เสมือนดั่งการขับรถไปในสถานที่แห่งหนึ่ง แม้ผู้ขับรถจะทราบหนทางที่ไปและรู้วิธีขับรถเป็นอย่างดี แต่สิ่งที่พบเจอระหว่างทางที่ไปในแต่ละครั้งย่อมไม่เหมือนเดิมด้วยสภาพแวดล้อมและบริบทที่เกี่ยวข้องในแต่ละคราวนั้นเอง  

ความรับผิดชอบที่มีของทั้งสถาปนิกและวิศวกรจึงเป็นวิชาชีพที่ต้องมีใบประกอบวิชาชีพเฉกเช่นเดียวกับ แพทย์ เภสัชกร หรือทนายความ เพราะต้องรับผิดชอบชีวิตผู้คนที่เข้ามาใช้สอยในอาคารนั้น  และสถาปนิกยังเป็นผู้ออกแบบพื้นที่ใช้สอยต่างๆ ให้เกิดความรู้สึกที่ดีต่อการใช้งาน ให้ยกระดับขึ้นไปสู่ขั้นกว่าอันเป็นการใช้สอยเพียงพื้นฐานด้วย  นักออกแบบไม่ว่าจะในวงวิชาชีพใดจึงมักเป็นผู้สร้างความพิเศษให้แก่การใช้งานในชนิดนั้นๆ  ซึ่งนับเป็นความภาคภูมิใจที่ไม่เพียงแต่เจ้าของผู้ว่าจ้างผลิตผลงานนั้น แต่ยังส่งผลถึงวงกว้างในระดับสังคมด้วย 

****

เรื่องของการใช้สอย ความมั่นคงแข็งแรงดูจะเป็นเรื่องที่อาจเข้าใจได้ไม่ยาก แต่เรื่องของความงามนั้นเป็นเรื่องที่คนทั่วไปจะรับรู้ได้ก็ต่อเมื่องานแล้วเสร็จสมบูรณ์  แม้ว่าความงามจะเป็นเรื่องที่ดูเหมือนเป็นเรื่องของอารมณ์ที่ดูจะไม่มีมาตรวัดหรือกฎเกณฑ์ แต่แท้จริงแล้วเรื่องดังกล่าวมีกฏเกณฑ์ที่สามารถฝึกฝนเรียนรู้ได้ เพียงแต่ต้องอาศัยระยะเวลาในการฝึกฝน

ความงามที่ดีมิใช่ความงามที่ถูกจริตคนเฉพาะกลุ่มเฉพาะคน แต่เป็นความงามที่เป็น universalเหมือนกับงานศิลปะดีๆ ที่มีอยู่ในโลกนี้ ไม่ว่าจะเป็นความคิดของชนชาติใด หากเข้าขั้นความเป็นศิลปะแล้ว ย่อมได้รับการยกย่องเสมอกัน  และเราไม่อาจตัดสินผลงานจากวัสดุ เส้น สี หรือผลสำเร็จของผลงานโดยปราศจากการมองให้เห็นถึงความคิดที่อยู่เบื้องหลังผลงานนั้น รวมถึงต้นทางแห่งการฝึกฝนเรียนรู้มาเป็นเวลานาน และเกิดความเข้าใจอย่างลึกซึ้งในสิ่งนั้น ซึ่งนับเป็นต้นทุนของผลงานที่สำคัญยิ่งกว่าต้นทุนทางผลผลิตตามกระบวนการออกแบบก่อสร้างที่เราได้เห็นกันในท้ายที่สุดเสียอีก

ขั้นตอนการทำงานของสถาปนิก ในการออกแบบสถาปัตยกรรมดีๆ สักหนึ่งชิ้นเท่านั้น ซึ่งต้องใช้เวลาและให้ความทุ่มเทในการทำงาน ผ่านประสบการณ์ ความรู้ และทักษะทั้งศาสตร์และศิลป์ประกอบเข้าด้วยกัน การเรียนรู้ทั้งสองทางต้องใช้เวลาในการบ่มเพาะเพื่อให้เกิดกระบวนการทางความคิดที่สามารถมองเห็นมิติสัมพันธ์ทางการออกแบบทั้งหมด และประสานศาสตร์ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเข้าด้วยกัน เพื่อประโยชน์ในการใช้งานอาคารที่ออกแบบนั้น ไม่เพียงแต่การใช้งานที่ดี แต่ยังสร้างความรู้สึกอันดีต่อผู้ใช้งานในแง่มุมต่างๆ นอกเหนือจากประโยชน์อันเป็นการใช้งานขั้นพื้นฐานด้วย

ขั้นตอนการทำงานของ สถาปนิก
ภาพ : แบบร่างที่สถาปนิกคิดและแก้ไข ซึ่งอาจทำการปรับแก้นับครั้งไม่ถ้วน จนกว่าจะได้แบบที่ลงตัว

สถาปนิก นอกจากจะมีหน้าที่สำคัญในการให้คำปรึกษากับเจ้าของงานไม่ว่าจะเป็นบ้าน หรืออาคารสาธารณะใดๆ ก็ตาม ว่าควรเป็นเช่นไร จึงจะเหมาะกับความต้องการและพฤติกรรมการใช้งานอย่างแท้จริง   เป็นส่วนสำคัญขั้นต้นซึ่งเปรียบเหมือนกับเชฟ ที่ปรุงอาหารให้ถูกปากผู้ทานให้มากที่สุด บนข้อจำกัดของเครื่องปรุงและวัตถุดิบที่เจ้าของบ้านนำมามอบให้

ภาพ : แบบร่างที่สถาปนิกคิดและร่างแบบเพื่อทดสอบความคิดในขั้นตอนแรกๆ ว่าจะให้ผลทางความงามและการใช้สอยอย่างไร

โดยต้องไม่ลืมว่าอาหารจานดังกล่าวทำให้เจ้าของงานชิ้นนั้น ๆ ประทับใจและมีความสุขในการทานอาหารนั้นๆ ตลอดทุกช่วงเวลาที่เขาจะเติบโตและก้าวผ่านกาลเวลาในวันหน้าไปด้วยกัน ซึ่งหน้าที่ส่วนแรกนี้ถือว่ามีความสำคัญอย่างมาก เพราะจะเป็นสิ่งที่สร้างความดีงามทั้งปวงไว้ให้แก่ผู้ใช้สอยอาคารตลอดไป

หน้าที่ของ สถาปนิก
ภาพ : แบบทางวิศวกรรม ที่่เป็นเครื่องมือสื่อสารของสถาปนิก และวิศวกร

ถัดจากนั้น สถาปนิกยังเป็นเหมือนวาทยากร ที่ต้องควบคุมวงดนตรีวงใหญ่วงหนึ่ง ที่ในวงประกอบไปด้วยผู้เชี่ยวชาญแต่ละด้านอันจำเป็นต่องานก่อสร้างที่ดีอีกหลายส่วนด้วยกัน อาทิ วิศกรโครงสร้าง วิศวกรไฟฟ้า วิศวกรงานระบบ ภูมิสถาปนิก นักออกแบบแสงสว่าง และอีกหลายต่อหลายความเกี่ยวข้อง ตามแต่ความซับซ้อน และความยากง่ายของงานออกแบบในแต่ละโครงการ 

หากวาทยากรดี ก็จะทำให้การทำงานของทุกส่วนสามารถประสานเสียงเป็นวงเดียวกัน และสร้างเสียงเพลงอันไพเราะงดงามได้ในที่สุด นี่อาจเป็นเพียงครึ่งหนึ่งของหน้าที่สถาปนิกที่ดีที่พึงกระทำต่อการออกแบบงานดีๆ สักชิ้น เพราะอีกครึ่งหนึ่งของความสมบูรณ์ในงานก่อสร้าง คือการที่สถาปนิกต้องเข้าไปดูแลในกระบวนการก่อสร้าง โดยการพูดคุยสร้างความเข้าใจให้กับผู้รับจ้างในการก่อสร้างหรือที่เรียกกันว่าผู้รับเหมาด้วย เพราะภาษาในกระดาษเป็นภาษาของงานออกแบบก่อสร้างที่ไม่อาจควบคุมคุณภาพงานได้อย่างสมบูรณ์ในตัว

หน้าที่ของ สถาปนิก 2
ภาพ : กระบวนการก่อสร้าง ที่ดำเนินไปตามแบบที่สถาปนิกกำหนดก็เปรียบเสมือนการเดินทางไปตามเข็มทิศและแผนที่ซึ่งได้เตรียมไว้ดีแล้ว

แต่แบบในกระดาษ เป็นได้แต่เพียงเข็มทิศที่กำหนดเส้นเดินทางไปยังจุดหมายไว้เท่านั้น สถาปนิกยังต้องดูว่าถนนหนทางที่ไปมีเหตุอะไรให้ต้องแก้ไขปรับเปลี่ยนในระหว่างการเดินทางด้วยหรือไม่ พาหนะที่พาไปทั้งรถทั้งคนขับมีความพร้อมดีหรือไม่ หากมีปัญหาในส่วนใด ก็จะต้องช่วยดูและให้คำปรึกษา เพื่อให้การเดินทางนั้น ไปถึงยังจุดหมายปลายด้วยความเรียบร้อยปลอดภัยในที่สุด

 จะเห็นได้ว่าภาระหน้าที่ของสถาปนิกนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย และงานออกแบบดีๆ หนึ่งชิ้นเขาจะต้องใช้เวลาอยู่กับงานนั้นๆ นับแต่การจุดประกายความคิดครั้งแรกของเจ้าของบ้านหรือเจ้าของโครงการ ไปจนถึงวันตัดริบบิ้นเปิดใช้งานอาคารนั้นๆ ซึ่งกินเวลามิใช่น้อย และแน่นอนว่าภาระที่สถาปนิกต้องดูแลทั้งหมดนั้น ก็คือการได้รับค่าบริการทางวิชาชีพที่เหมาะสม จึงจะสามารถช่วยเจ้าของโครงการดูแลให้งานดังกล่าวสำเร็จลงได้อย่างสมบูรณ์แบบ

การทำงานของ สถาปนิก
ภาพ : แบบเป็นเพียงเครื่องมือที่ใช้ในการสื่อสารทำความเข้าใจ ความคิดของทีมผู้ออกแบบเท่านั้น

สถาปนิก ตามความเข้าใจ ที่ดูเหมือนจะไม่เข้าใจจึงแตกต่างจากที่กล่าวไว้ข้างต้นมากทีเดียว และแน่นอนเมื่อภาระหน้าที่ของเขามีมากมายขนาดนี้ รวมถึงสิ่งได้รับการสร้างสรรค์ขึ้นยังต้องสะดวกและปลอดภัยต่อผู้คนในการใช้งานตามมาตรฐานกฏหมายที่มี

สถาปัตยกรรม จึงเป็นศาสตร์แขนงหนึ่ง ซึ่งในประเทศไทยได้รับการสงวนไว้ว่า เป็นวิชาชีพควบคุม ที่ต้องมีการสอบใบประกอบวิชาชีพ เพื่อให้ได้ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพเสียก่อน ถึงจะสามารถทำการออกแบบงานสถาปัตยกรรมได้ (ทั้งในส่วนงานของวิศวกรและสถาปนิก)  เหมือนแพทย์ ที่จะทำการรักษาคนไข้ได้ก็ต้องมีใบประกอบโรคศิลป์ เนื่องจากเป็นวิชาชีพที่อาจส่งผลต่อชิวิตและความปลอดภัยของผู้คมและสังคมในวงกว้าง อาจต่างตรงที่แพทย์เป็นวิชาชีพที่เห็นเชิงประจักษ์ชัดถึงชีวิตและความปลอดภัยได้ชัดเจนกว่ามาก  แต่สำหรับงานสถาปัตยกรรมนั้น คนโดยทั่วไปไม่สามารถรับรู้และเข้าใจในเรื่องความปลอดภัยเชิงประจักษ์ได้ชัดเจนมากนัก จนกระทั่งมันถล่มลงมาแล้วนั่นล่ะ ถึงจะมองเห็นว่ามันจำเป็นอย่างไร ที่ต้องถูกสงวนไว้ให้เป็นวิชาชีพที่ได้รับการควบคุมดูแลอย่างเคร่งครัด  

ภาพ : สถาปัตยกรรมที่ได้รับการออกแบบที่ดี ผู้ใช้งานก็รู้สึกดีในการใช้งานด้วยเช่นกัน

นอกจากนั้นยังเป็นงานที่อาจต้องอาศัยแนวคิดทางจิตวิทยาของการออกแบบร่วมด้วย เพื่อให้การได้อยู่ในงานสถาปัตยกรรมดีๆ สักชิ้น จะทำให้ผู้คนรู้สึกอบอุ่น ผ่อนคลาย ปลอดภัย มีความสุข หรือปลอบประโลมใจเวลากลับมาจากการทำงานอันแสนเหน็ดเหนื่อยได้  และรวมถึงความรู้สึกอื่นๆ ตามที่ผู้ออกแบบได้วางแผนไว้ล่วงหน้าแล้ว 

สถานที่บางแห่งเมื่อเราเข้าไปแล้ว ไม่อยากอยู่นาน  บางแห่งเข้าไปแล้วอยากนั่งทำงานไปนานๆ หรืออยากพักอยู่ยาวๆ นั่นก็เพราะการออกแบบ มุ่งให้ผู้ใช้งานได้รับความรู้สึกตามที่ผู้ออกแบบกำหนดไว้แล้ว สถาปนิกจึงเหมือนมีเวทมนต์บางอย่าง ที่เป็นผู้เสกสร้างและกำลังทำให้พื้นที่ใช้งานนั้นๆ ปฏิบัติการบางอย่างกับคุณนั่นเอง

หวังว่าทุกคนจะเข้าใจ บุคคลที่ขีดๆเขียนๆ คนนี้มากขึ้น และมองเห็นบทบาทหน้าที่อันสำคัญ ของสถาปนิก ผู้ที่สร้างบ้าน สร้างเมือง และสร้างสถาปัตยกรรมของสังคม ให้เกิดสภาพแวดล้อมของการอยู่อาศัยที่น่าอยู่ให้แก่โลกนี้มากขึ้น

ผลงานของ สถาปนิก
ภาพ : ภายหลังจากทำการออกแบบ และเขียนแบบขั้นต้นได้แล้ว ก็จะสามารถนำไปทำแบบภาพสามมิติที่สร้างขึ้นด้วยโปรแกรมคอมพิวเตอร์ได้

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *