อากาศกินและการซ้น ในงานสถาปัตยกรรมไทย

อากาศกินและการซ้น

อากาศกินและการซ้น ในงานสถาปัตยกรรมไทย

Home » Talk Thai Arch » อากาศกินและการซ้น ในงานสถาปัตยกรรมไทย

อากาศกินและการซ้น ในงานสถาปัตยกรรมไทย เป็นคำที่คนทั่วไปอาจจะงงๆ อยู่ว่าหมายถึงอะไร และแม้นักศึกษาในหลักสูตรสถาปัตยกรรมไทย ชั้นปีต้นๆ ก็คงยังไม่ทราบเช่นกันว่า คำนี้มีความหมายว่าอย่างไร ต่อเมื่อเรียนไปถึงกระบวนการออกแบบอาคารทางสูงแล้วจึงจะเข้าใจได้ชัดเจนมากขึ้น 

ในหลักการศึกษาวิชาสถาปัตยกรรมไทยนั้น อาคารที่ออกแบบจะแบ่งออกเป็นสองลักษณะคือ อาคารทางราบ และอาคารทางสูง อาคารทางราบได้แก่อาคารใช้งานที่มีหลังคาคลุมเป็นทรงปกติพื้นฐานทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นหลังคาทรงจั่ว หลังคาทรงปั้นหยา หรือหลังคาทรงมะนิลาก็ตาม

ส่วนอาคารทางสูง จะหมายถึงกลุ่มอาคารจำพวก เจดีย์ ปรางค์ หรืออาคารทรงยอด อาคารเครื่องยอด ซึ่งจะมีลักษณะส่วนบนสุดที่เรียวหวดขึ้นฟ้าไป

ในที่นี้ขอนำภาพตัวอย่างที่ อ.วนิดา พึ่งสุนทร ศิลปินแห่งชาติ อาจารย์ของผู้เขียนได้เคยทำเอกสารสอนและเผยแพร่ผ่านวารสารหน้าจั่ว ของคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากรมาประกอบเพื่อความเข้าใจ

(ภาพจากวารสารหน้าจั่ว ฉบับประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรมและสถาปัตยกรรมไทย ฉ.2 กรกฎาคม 2547.”ระเบียบวิธีและการออกแบบสถาปัตยกรรมไทยประเพณีในปัจจุบัน / วนิดา พึ่งสุนทร.”)

ภาพ : อาคารทางราบ / อ.วนิดา พึ่งสุนทร ศิลปินแห่งชาติ
ภาพ : อาคารทางสูง / อ.วนิดา พึ่งสุนทร ศิลปินแห่งชาติ

เนื่องด้วยอาคารทางราบโดยมากจะไม่มีปัญหาในเรื่องอากาศกินเท่าใดนัก ต่อเมื่อเป็นอาคารทางสูงหรือมียอด แทงขึ้นไปในอากาศในทำนองเรียวแหลมขึ้นไป จึงจะต้องระมัดระวังในทางการออกแบบ  เพราะจะเป็นส่วนที่หดหายไปกับท้องฟ้าหากไม่พิจารณาในทางการออกแบบ และควบคุมดูแลระหว่างการก่อสร้างให้ดี

ในสมัยก่อนการก่อสร้างอาคารทางสถาปัตยกรรมไทยจำพวกวัดวาอาราม ซึ่งมักมีอาคารทางสูงเป็นหลักหรือประธานของวัด หัวหน้านายกองงาน จะเล็งดูความเหมาะส่วนสมทรง ของอาคารนั้นๆ ขณะที่กำลังทำการก่อสร้าง คอยปรับแก้ไขทั้งการขยับความสูงทรงยอดขึ้น หรือแก้สัดส่วนเครื่องบนให้อยู่ในระยะมุมมองทางสายตาที่สวยงาม

เชื่อว่าบางครั้งการดูที่หน้างาน อาจมิได้ดูเฉพาะทรงของชิ้นงานนั้นแต่เพียงอย่างเดียว แต่อาจต้องพิจารณาประกอบกับอาคารข้างเคียงหรือแม้แต่บริบทประกอบในละแวกนั้นด้วยก็เป็นได้

อาคารซึ่งเราเห็นภาพสำเร็จที่สวยสดงดงามตระการตา ทรวดทรงองค์เอวดูระหงคงรูปอย่างสมบูรณ์ในท้ายที่สุดนั้น การวางแผนทางการออกแบบ ก่อนที่จะนำไปทำการก่อสร้างอาจมิได้ตรงกับการก่อสร้างจริงทั้งหมด

หากทำการังวัดงานสถาปัตยกรรมไทยสวยๆงามๆ ที่แล้วเสร็จ เพื่อนำกลับมาเขียนแบบย้อนกระบวนการกลับไป จะพบว่าแบบที่เขียนจากการรังวัดบางครั้งจะมีสัดส่วนในแบบไม่สวยงามอย่างที่ตาเห็น อาจจะดูโย่งหรือยาวกว่า  หรือบางทีก็ดูรู้สึกได้ว่าทรงผิดเพี้ยนไปจากที่เห็น กล่าวคือแบบไม่สวยเหมือนของจริง เพราะเวลาสร้างจริง นายช่างหรือสถาปนิก มักจะไปกำหนดสัดส่วนใหม่ในขณะก่อสร้างนั้นเอง แบบสำรวจรังวัดบางครั้งจึงอาจสร้างความแปลกประหลาดใจให้แก่ผู้พบเห็นว่าวาดแบบผิดเพี้ยนหรือเปล่า เพราะงานจริงที่ตาเห็นนั้นสวยกว่ากันมาก

ภาพ : ปราสาทพระเทพบิดร ในพระบรมมหาราชวัง เป็นอาคารเครื่องยอด ที่งดงามลงตัวอีกชิ้นหนึ่ง (จากคลังภาพ บริษัท พีพลัสไทยสตูดิโอ จำกัด)

ในการทำแบบสำหรับการก่อสร้างสำหรับงานสถาปัตยกรรมไทย จึงอาจเป็นแบบที่ใช้สำหรับการสร้างความเข้าใจในเบื้องต้นที่จะนำไปสู่การก่อสร้างเท่านั้น แต่ในการก่อสร้างจริงอาจจะมีการทำแบบซ้อนเข้าไปอีกชุด หรืออาจจะไม่มีแบบเลยก็ได้  อาศัยการกะแก้ทรงที่หน้างานเลย โดยทำการขยับทรงจากการขึ้นรูปโดยคร่าวๆ จากไม้อัดหรือเส้นกรอบทรงที่ทำขึ้นพอให้เห็นรูปเห็นร่างทรงนอกของอาคาร ในขณะก่อสร้าง

บางคนอาจคิดว่าสถาปนิกที่มีประสบการณ์มากๆ  จะมีความแม่นยำ สามารถทำการเขียนแบบให้ได้ทรงในครั้งแรกเลย อันนี้ผู้เขียนเองเท่าที่ได้เห็นการทำงานของหลายๆ ท่าน ก็ดูเหมือนจะเป็นไปในลักษณะการแก้ปัญหาจากของจริงเสียทั้งนั้น เพราะเป็นการทำงานเชิงประจักษ์ สถาปนิกทางไทยจึงดูเหมือนจะไม่ใคร่เขียนแบบให้ได้ลักษณะทรง เพื่อแก้ปัญหาอากาศกินไปล่วงหน้าก่อนเลย

แต่ก็ไม่ปฏิเสธในวิธีทำงาน หากจะมีการคิดหลักวิธีทางการออกแบบเพื่อช่วยให้งานออกแบบสถาปัตยกรรมไทยมีความแน่นอนในการกะทรงขณะทำแบบไปเลย สมัยก่อนการทำงานที่พอจะให้เห็นภาพที่ชัดเจนได้ดีที่สุดก็คงเป็นการทำหุ่นจำลองดูทรงและสัดส่วนอาคาร สามารถก้มเงยดูในมุมต่างๆ ได้อย่างใกล้เคียงสิ่งที่จะเกิดขึ้นจริงๆ

ภาพ : อุโบสถวัดโสธรวรารามวรวิหาร จ.ฉะเชิงเทรา ผลงานออกแบบ อ.ประเวศ ลิมปรังษี ศิลปินแห่งชาติ ที่มียอดอาคารสูงใหญ่มาก
(จากคลังภาพ บริษัท พีพลัสไทยสตูดิโอ จำกัด)

ในปัจจุบัน เทคโนโลยีเข้ามามีส่วนช่วยได้มากขึ้น  การขึ้นแบบสามมิติผ่านโปรแกรมคอมพิวเตอร์พอจะให้เห็นภาพได้ระดับหนึ่ง แต่งานศิลปะสถาปัตยกรรมไทย เป็นงานที่มีความละเอียดประณีต ที่บางครั้งอาจไม่สามารถใช้เครื่องมือสมัยใหม่มาทำให้เห็นได้ครบทุกมิติ เพื่อให้รับรู้ถึงคุณภาพงานที่เป็นสุนทรียศิลป์ได้ การได้เห็นงานจริงในขณะก่อสร้างจึงยังเป็นสิ่งที่ผู้เขียนเห็นว่าสำคัญ

อากาศกินที่โดยมากเกี่ยวเนื่องกับอาคารทางสูง อาคารทรงยอด หรืออาคารเครื่องยอด จึงเป็นสิ่งที่ผู้ออกแบบงานสถาปัตยกรรมไทยต้องนำมาพิจารณาในการออกแบบ และสังเกตในขณะทำการก่อสร้างว่ามีผลต่อการออกแบบอย่างไร เราไม่สามารถเขียนแบบให้เป็นการแก้อากาศกินในทีแรกได้เลย เพราะรูปทรงสัดส่วนจะผิดเพี้ยน

เราจะทำการออกแบบและเขียนแบบให้สัดส่วนทรวดทรงทางสูงดูสมบูรณ์แบบที่สุดในกระดาษก่อน ร่างให้ได้ลักษณะที่สมบูรณ์ในมุมมองแบบรูปตั้งปกติก่อน หลังจากนั้นแล้วจึงนำไปเขียนแบบคอมพิวเตอร์ตามกระบวนการต่อไป 

อากาศกินหรือการซ้น กับการออกแบบ

แบบที่สมบูรณ์ในตอนทำแบบเพื่อก่อสร้างนั้น คือแบบสมบูรณ์ของงานสถาปัตยกรรม ที่ไม่ได้สนใจในเรื่องอากาศกิน แต่สนใจในเรื่องของความลงตัวในแบบรูปตั้งปกติเป็นสำคัญ  เมื่อถึงขั้นตอนของการก่อสร้างแล้ว การไปพิจารณาสัดส่วนที่เหมาะสมตรงหน้างานจริง คือสิ่งที่จะถูกกำหนดเพื่ออ้างอิงสิ่งที่ตาเห็นเข้ากับแบบรูปตั้งปกติที่ทำไว้

ในขั้นตอนขณะก่อสร้างนี้หากจะใช้สูตรหรือวิธีการกำหนดส่วนจากตำราที่มีผู้ศึกษาวิเคราะห์ไว้เป็นแนวทางก็ได้  และอาจจะเป็นการดีสำหรับเป็นเครื่องประคองให้พอจะกะส่วนในการทำงานจริงได้สะดวกมากขึ้น  นั่นหมายถึงใช้เขียนแก้ทรงยอดตอนก่อสร้าง เพื่อหาระยะที่เหมาะสมจากสูตร  แต่ไม่ได้ใช้ในตอนแรกที่ออกแบบเขียนแบบ  

ผู้เขียนเอง ได้ทำงานภาคออกแบบควบคู่ไปกับ การดูแลงานในขณะทำการก่อสร้างด้วย ซึ่งคาดว่าการใช้สูตรอาจจะมีผลดีในส่วนที่จะช่วยให้ความสะดวกและการคาดการณ์ที่ค่อนข้างเป็นหลักทางวิทยาศาสตร์ แต่ทั้งนี้โดยส่วนตัวเห็นว่าก็ยังคงมีความจำเป็นต้องตามไปดูในขณะก่อสร้างจริงด้วย  เนื่องจากมิติสัมพันธ์ในพื้นที่จริง ถือเป็นสิ่งที่ให้ผลทางความรู้สึกที่ชัดเจนที่สุด  ในแต่ละจุดแต่ละพื้นที่ มุมมองที่มีต่ออาคารที่ทำการออกแบบไม่อาจกำหนดเป็นจุดเดียวกันได้ และหรือบางครั้งอาจมีจุดที่ต้องมองมากกว่าหนึ่งจุด ซึ่งเป็นผลให้อาจจำเป็นต้องทำการวิเคราะห์ข้อดีข้อด้อยของมุมมองที่จะปรากฏในแต่ละจุดนั้นร่วมกัน จึงจะได้ข้อสรุปที่เหมาะสมของการแก้อากาศกินในงานนั้นๆ ได้

ภาพ : วิหารหลวงพ่อสาคร วัดหนองกรับ จ.ระยอง เป็นอาคารที่มียอดเป็นเจดีย์เหลี่ยมย่อมุมไม้ ซึ่งต้องดูทรงรวมและทรงยอดควบคู่กันไปในขณะทำการออกแบบ
(สถาปนิก : บริษัท พีลัสไทยสตูดิโอ จำกัด )

นอกเหนือจากอากาศกินในลักษณะที่ทำให้ มุมมองอาคารทางสูงผิดเพี้ยนไปแล้ว อากาศกินยังหมายรวมถึงทรวดทรงโดยรวมของส่วนยอดอาคารที่สูงเรียวขึ้นไปบนฟ้าด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งยอดอาคารที่เป็นเจดีย์ ซึ่งมีลักษณะกลมเรียวขึ้นไป จะถูกอากาศกินสัดส่วนของทรงกรวยนั้นอีกทาง  แสงที่ตกลงบนส่วนประกอบในช่วงยอดและเงาที่ไล้ไปในรูปทรงยอดนั้น จะทำให้ขนาดของส่วนประกอบที่ยอดตอนบนเล็กกว่าความเป็นจริง (ซึ่งมีผลต่อทรงยอดเจดีย์มากยิ่งกว่ายอดปรางค์ )

อีกนัยหนึ่งคือปริมาตรทรงยอดมันจะหายไป เพราะฉะนั้นวิธีแก้ไขในทางการออกแบบ จึงอาจทำได้ด้วยการแก้ไขขนาดให้รับกับมุมมองในขณะก่อสร้าง ด้วยการทดลองขยับทรง ขยายขนาดทรง  หรืออาจทำการออกแบบให้ส่วนยอดมีลักษณะพิเศษเป็นการจำเพาะ ที่ไม่ขึ้นกับทรงที่เรียวขึ้นตามปกติ เช่น ทำการสะดุ้งส่วนปลายให้โตกว่าที่ควรจะเป็นให้เด่นชัดไปเลย เสมือนเป็นองค์ประกอบที่ตั้งใจจะให้เป็นตัวหยุดสายตาโดยเฉพาะเช่นที่เม็ดน้ำค้างยอดเจดีย์ หรือยอดบัวที่ส่วนปลายสุดขององค์ประกอบปลายยอดนั้น

บางครั้งอาจมีความจำเป็นต้องเสริมองค์ประกอบบางอย่างเพิ่มเพื่อให้เกิดการส่งทรงให้เรียวมากขึ้นกว่าที่ปรากฏในแบบ เพราะเมื่อสร้างจริง จะเกิดการซ้นทางมุมมอง ทำให้ต้องปรับแก้ไขให้การซ้นกลับเข้าสู่สัดส่วนที่ดูพอดีดังเดิม ในการเสริมองค์ประกอบเพื่อส่งทรงนี้ อ.พระพรหมพิจิตรก็ได้ทำมาเป็นแนวทางของครูช่างให้เห็นแล้ว ดังปรากฏชัดที่ซุ้มประตูสวัสดิโสภา ซุ้มประตูพระบรมมหาราชวังอันลือลั่น ว่าอาจารย์ทำโดยไม่ยอมทำตามทรงไม้เดิม แต่ขอทำให้สัมพันธ์กับเทคนิควิธีทางการก่อสร้างสมัยใหม่อันเป็นเครื่องคอนกรีต ที่ตัววัสดุเองควรแสดงสัจจะแห่งเนื้อแท้และความรู้สึกให้ปรากฏในตัวสถาปัตยกรรม และแก้ไขปัญหาอากาศกินทรงยอดซุ้มประตู ด้วยการทำชั้นเสริมเพื่อส่งทรงยอดให้ปรากฏต่อสายตาให้ได้สัดส่วนที่สวยงามตามที่ควรจะเป็น

ภาพ : ประตูสวัสดิโสภา ออกแบบโดย อ.พระพรหมพิจิตร (อู่ ลาภานนท์ )

อากาศกินในความหมายที่คนโดยมากเข้าใจเป็นดังที่ได้กล่าวถึงไว้ข้างต้น คือกระทบกับอาคารทรงยอด หรืออาคารเครื่องยอด หรืออาคารที่มีรูปทรงเรียวหวดฟ้าขึ้นไป แต่ผู้เขียนขอขยายความเพิ่มเติมว่า อากาศกินยังอาจหมายความถึงมุมมองในทางสูงในลักษณะที่ประกอบอยู่กับตัวอาคารด้วย

งานสถาปัตยกรรมไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งอุโบสถ อาจมีความสูงผิดประหลาดไปจากอาคารก่อสร้างโดยทั่วไป ทั้งนี้ก็เพื่อสร้างที่ว่างภายในให้สัมพันธ์กับสาระภายในที่ต้องการ โดยพระประธานภายใน ซึ่งอาจเป็นปัจจัยหลักสำคัญที่ทำให้เกิดการกำหนดที่ว่างดังเช่นที่เห็นนั้น

ความสูงมากๆ ของมวลที่ว่างเหนือหัวขึ้นไปนี้ มีผลให้องค์ประกอบหลายๆ อย่างอาจจำต้องแหงนหน้าจนคอตั้งเพื่อมองให้เห็นเครื่องประกอบต่างๆ และบางครั้งก็ต้องมองในระยะประชิดติดตัวด้วยข้อจำกัดของที่ว่างหรือมุมมองที่ไม่เอื้ออำนวย ซึ่งจะต้องคำนึงถึงการออกแบบให้สอดรับกันไป และมุมมองดังกล่าวก็เป็นไปในทำนองคล้ายอากาศกิน คือเป็นมุมมองทางสูงที่ต้องเงยหน้ามองและอาจทำให้เกิดการซ้นของรูปทรงตอนบน ดังเช่นที่ปรากฏกับองค์ประกอบอาคารภายนอก

ภาพ : อาคารที่มีเครื่องยอด โดยอาคารซึ่งมีขนาดเล็กและขนาดใหญ่ มีผลทั้งขณะทำการออกแบบและก่อสร้าง ที่ต้องคำนึงถึงมุมมองที่แตกต่างกัน

ที่เห็นชัดสุดคือในกรณีที่เป็นซุ้มบุษบกประดิษฐานพระพุทธรูปสำคัญภายในเป็นต้น ซึ่งจะมีมุมมองทั้งระยะไกล และระยะใกล้ และหากยกสูงก็จำเป็นต้องพิจารณาในมุมมองทั้งสองส่วนประกอบกันว่าจะหาค่ามัธยะที่เหมาะสมตรงไหน หากมีพื้นที่ทอดระยะในการมองที่เพียงพอ ก็จะทำให้การแก้ปัญหาในเรื่องนี้ไม่ต้องกังวลมากนัก

บรรดาซุ้มประตู และซุ้มหน้าต่างที่ได้รับการออกแบบสร้างสรรค์ให้เห็นแต่ภายนอก มักจะมีการตกแต่งเป็นลวดลายที่บางครั้งประกอบด้วยทรงที่ส่งขึ้นทางสูง เช่นซุ้มหน้าต่างทรงมงกุฎ(ซึ่งเป็นเครื่องประกอบฐานานุศักดิ์จำเพาะบุคคล) เป็นต้น หากมีผนังของอาคารสูงใหญ่ และสร้างซุ้มหน้าต่างให้สูงใหญ่ตามกัน จะทำให้มุมมองของซุ้มหน้าต่างเหล่านั้นต้องพิจารณาในลักษณะเดียวกันกับอากาศกินร่วมด้วย

ภาพ : ซุ้มประตูและซุ้มหน้าต่างที่มีลักษณะทรงสูง ต้องคำนึงถึงมุมมองที่จะปรากฏต่อสายตา เพื่อแก้ปัญหาการซ้นทางมุมุมองด้วยเช่นกัน

และจะจำเป็นอย่างยิ่งหากพื้นที่ในการมองเห็นมีจำกัด เช่นการถูกบังคับมองผ่านระยะด้านข้างที่ค่อนข้างแคบไม่ว่าจะด้วยการสร้างชิดกับอาคารหลังอื่นหรือเหตุผลใดก็ตาม ก็จะทำให้ต้องพิจารณาในการแก้ทรงส่วนบนให้กลับมาอยู่ในตำแหน่งที่ทำให้มุมมองผิดเพี้ยนน้อยที่สุด  ทั้งนี้จะต้องระวังในส่วนของการออกแบบมากน้อยเพียงใด ก็ขึ้นอยู่กับการใช้งานจริงตรงนั้น ที่ผู้ออกแบบจะต้องเข้าไปดู ไปสัมผัสด้วยตนเองขณะทำการก่อสร้างจริง

มิติของมุมมองทางสูงนี้ สำหรับองค์ประกอบร่วมกับสถาปัตยกรรมข้างต้น อาจไม่สามารถคิดแก้ปัญหาได้แค่ระยะทางดิ่งเท่านั้น แม้แต่ระยะทางราบก็จะต้องพิจารณาร่วมด้วย ว่าจะปรับให้องค์ประกอบที่เห็นยื่นออก หรือหดเข้า โดยยังรักษาความสัมพันธ์ขององค์ประกอบทั้งหมดในแนวดิ่งได้อยู่ ซึ่งตามจริงแล้วงานสถาปัตยกรรมไทยโดยมากมักจะเชื่อมโยงกันโดยไม่อาจแยกออกจากกันได้  การแก้ไขบางจุดที่คิดว่าเล็กน้อย ก็อาจส่งผลกระทบไปสู่ส่วนอื่นๆ อย่างมากมายได้ ซึ่งเป็นเรื่องยากที่คนทั่วไปจะเข้าใจ เพราะสิ่งที่เห็นเป็นผลสำเร็จของงานนั้น ได้ผ่านการแก้ไขที่ยุ่งยากของผู้ออกแบบไปแล้ว คล้ายกับการแก้ไขหน้าสีของรูบิคที่บิดข้างหนึ่งก็ไปกระทบกับข้างอื่นๆ ทันที

การแก้อากาศกินก็อาจเป็นเหมือนลายมือจำเพาะคน

ที่กล่าวมาข้างต้นบุคคลทั่วไปที่เห็นผลสำเร็จของการก่อสร้างแล้ว จะไม่สามารถนึกออกได้เลยว่ามันสำคัญและจำเป็นอย่างไร และอาจคิดไปด้วยว่ามันยากตรงไหน มันซับซ้อนอย่างไร มันอาจไม่สามารถเข้าใจได้ง่ายนัก  เพราะจากที่ผู้เขียนได้ทำงานมา ผู้เกี่ยวข้องกับงานก่อสร้างของโครงการบางท่าน ก็อาจไม่เข้าใจในสิ่งที่กล่าวไปทั้งหมดนี้เลย

ความเข้าใจของอากาศกินในงานสถาปัตยกรรมไทย เป็นปัจจัยสำคัญหนึ่งของการออกแบบก่อสร้างในงานสถาปัตยกรรมไทย ที่ผู้ออกแบบงานชนิดนี้จะได้พบเจอ และแก้ปัญหา แม้ว่าฟังดูเหมือนจะเป็นสิ่งที่ทำได้ด้วยสูตร   แต่อย่าลืมว่าสถาปัตยกรรมไทยเป็นศาสตร์ศิลป์ ที่มีลายมือเป็นของจำเพาะบุคคล อาจจะมีความคล้ายแต่ก็อยู่บนความต่างของแต่ละบุคคลด้วย ในทำนองเดียวกับการเขียนอักษรด้วยลายมือของแต่ละคน ที่แม้จะอ่านได้ในทำนองเดียวกัน แต่เส้นสายลายมือแต่ละคนนั้น จะต่างกันและให้ความรู้สึกไม่เหมือนกันเลย

การแก้อากาศกินจึงเป็นกลวิธีที่เป็นเหมือนภาพรวมของการทำงาน แต่ที่สุดแล้วจะขึ้นอยู่กับความคิดอ่านในทางความงามของผู้ออกแบบนั้นเอง ว่าต้องการให้ผลลัพธ์ปรากฏเช่นไร ความหนัก ความเบา ความชัด ความเบลอ ความอ่อนโยน หรือเข็มแข็ง ที่ต้องการแสดงออกในงานล้วนแต่มีผลต่อการแก้ไขนี้ทั้งสิ้น แต่แม้ว่าจะมีความต่างกันอย่างไรก็ตาม หากทำอยู่บนฐานความรู้ความเข้าใจในงานสถาปัตยกรรมไทยที่ถูกต้องแล้ว เชื่อว่าคงทำให้มรดกของชาติที่สร้างสรรค์ขึ้นในแต่ละบุคคลนั้น เป็นผลงานที่จะมีค่าควรแก่การประดับไว้ให้โลกนี้ได้อย่างแน่นอน

TAG: