การปั้นทรงและการลดรูปศิลปกรรม ในงานครู
งานครู เป็นงานที่ควรค่าแก่การศึกษาเสมอไม่ว่าจะผ่านวันเวลาไปนานแค่ไหนก็ตาม เนื่องจากเป็นงานออกแบบที่ได้รับการออกแบบสร้างสรรค์ขึ้นบนหลักแห่งศาสตร์และศิลป์ที่ได้รับการเรียนรู้สืบทอดมาจากครูช่างที่ได้รับองค์ความรู้และสืบทอดต่อๆ กันมาโดยลำดับ อาจารย์พระพรหมพิจิตรได้เรียนรู้งานสถาปัตยกรรมไทยสืบทอดจากสมเด็จครูโดยตรง ในโอกาสนี้เราจะมาทำความเข้าใจใน การปั้นทรงและการลดรูปศิลปกรรม ในงานครู กันดูหน่อย
งานของอาจารย์พระพรหมพิจิตร หลายๆ ชิ้น เป็นงานที่ได้รับการยกย่องถึงการทำงานออกแบบโดยใช้วัสดุคอนกรีตได้อย่างผสานเป็นหนึ่งเดียวกับศิลปสถาปัตยกรรมไทย ผลงานสำคัญชิ้นหนึ่งของท่านที่นักวิชาการต่างยกย่องถึงความก้าวหน้าในงานออกแบบแห่งยุคสมัยคือ ซุ้มประตูสวัสดิโสภา อันเป็นซุ้มประตูพระบรมมหาราชวังชั้นนอก ที่เราสามารถเห็นได้ทันทีเมื่อเดินทางผ่านถนนสนามไชย ซุ้มประตูวังชิ้นนี้อยู่ในพื้นที่ซึ่งมีระดับฐานานุศักดิ์ทางการออกแบบสูงที่สุด แต่ท่านก็ออกแบบโดยไม่คำนึงถึงการที่จะต้องใช้ศิลปกรรมแบบประเพณีเต็มรูป แต่เป็นตัวอย่างงานของ การปั้นทรงและการลดรูปศิลปกรรม ที่น่าสนใจควรแก่การศึกษาอย่างยิ่ง
ภาพ : ซุ้มประตูสวัสดิโสภา พระบรมมหาราชวัง
แม้ว่าจะไม่ใช้การออกแบบงานศิลปะสถาปัตยกรรมไทยแบบเต็มรูป คือมีศิลปกรรมงานตกแต่งแพรวพราวแบบงานประเพณี แต่นั่นก็ไม่ได้ทำให้บรรยากาศของงานออกแบบตรงนั้นลดทอนคุณค่าหรือบรรยากาศแห่งงานช่างหลวงลงไป ภาพรวมของประตูสวัสดิโสภายังคงให้ผลทางความรู้สึกที่สง่างาม ตามแบบอย่างงานช่างไทย ซึ่งเป็นตัวอย่างที่ควรแก่การศึกษา
นอกจากนี้ในความเห็นส่วนตัวของผู้เขียน มองว่าแนวทางในการออกแบบที่ต้องการรักษารูปแบบและรายละเอียดทางศิลปกรรมในงานสถาปัตยกรรมไทยแบบเต็มรูป กับการลดรูปนั้นย่อมให้ผลในทางความคิดความรู้สึกคนละแบบ อยู่ที่จุดมุ่งหมายของผู้ออกแบบว่าหวังผลอย่างไร ทั้งต่อผู้ออกแบบและผู้ใช้งานหรือผู้พบเห็นผลงานนั้นๆ การถกเถียงว่าสิ่งไหนดีกว่ากันคงไม่สามารถสรุปได้ เพราะในแต่ละทางเลือกให้ผลดีเป็นการเฉพาะในแต่ละแนวทางนั้นๆ อยู่เองแล้ว
การปั้นทรง และการลดรูปศิลปกรรม อย่างที่เป็นในชิ้นงานประตูสวัสดิโสภา ไม่ได้เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในงานสถาปัตยกรรมไทย แต่เคยมีมาก่อนนั้นแล้วในงานที่อาจารย์พระพรหมพิจิตรได้ช่วยสมเด็จครูหรือได้เห็นงานครูชิ้นก่อนๆ ซึ่งเชื่อว่าเป็นแรงบันดาลใจสำคัญ ที่ส่งผลต่อความคิดของท่านในการทำงานต่อๆ มา ผลงานครูเหล่านั้นพอยกตัวอย่างได้เป็นอาทิ พระอุโบสถวัดพระปฐมเจดีย์ จ.นครปฐม ที่สมเด็จครูออกแบบใหม่แทนแบบร่างเดิมก่อนหน้านั้น ซึ่งมีรูปแบบและการตกแต่งแบบประเพณีเต็มรูป ซึ่งไม่สอดคล้องกับสภาวะเศรษฐกิจที่ถดถอย เมื่อจะต้องทำการก่อสร้างในเวลาต่อมา จึงลดงานศิลปกรรมลงให้มีเท่าที่จำเป็น แต่ยังรักษาฉันทลักษณ์ในงานสถาปัตยกรรมไว้ พร้อมกับความเข้าใจในการประสานงานออกแบบให้สัมพันธ์กับตัววัสดุและเทคนิคทางการก่อสร้างแบบใหม่ในช่วงเวลานั้น จึงทำให้ผลงานยังมีบรรยากาศของงานช่างไทยอยู่อย่างครบถ้วน
ผลงานอีกชิ้นหนึ่งคือ พระปฐมบรมราชานุสรณ์ บริเวณสะพานพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ซึ่งถือเป็นงานอออกแบบที่ทำการปั้นทรงและลดรูปศิลปกรรมลง โดยจะเห็นได้ถึงความสอดคล้องต่อบริบทของงานออกแบบในพื้นที่ ร่วมกับแนวคิดในการออกแบบให้งานสถาปัตยกรรมไทยชิ้นนี้มีความร่วมสมัยไปในคราวเดียว และเชื่อว่าสิ่งที่ยกตัวอย่างมาทั้งหมดนี้ คือแรงบันดาลใจสำคัญต่อการทำงานของอาจารย์พระพรหมพิจิตรที่มีต่องานคอนกรีตในเวลาต่อมา
สำหรับประตูพระบรมมหาราชวังชั้นในทั้งสองประตูที่ยกมานั้น ถือได้ว่าเป็นงานเครื่องคอนกรีต ที่เป็นยอดทรงปรางค์ทั้งคู่ แต่จะเห็นว่ามีสัดส่วนทรวดทรงที่แตกต่างกัน ด้วยความเข้าใจในวัสดุประการหนึ่ง กับแนวคิดที่ต้องการแสดงออกทางรูปแบบสถาปัตยกรรมไทยของประตูทั้งสองอีกประการหนึ่ง ทำให้ท่านสามารถปั้นรูป ปั้นทรง หลังคาของซุ้มประตูได้อย่างที่ต้องการ
อ.วนิดา พึ่งสุนทร ศิลปินแห่งชาติ ในคราวที่ตรวจงานออกแบบของผู้เขียน ขณะเป็นนักศึกษาอยู่นั้น ท่านจะถามว่าตั้งใจออกแบบเป็นทรงอะไร ทรงปูนหรือทรงไม้ ทั้งสองทรงนั้นมีความต่างกันในเชิงปริมาตรของรูปแบบและรายละเอียดของการตกแต่ง ทั้งยังสัมพันธ์กับบริบทของชิ้นงานที่ออกแบบด้วย ไม่ว่าจะเป็นในเชิงประวัติศาสตร์ รวมถึงวัสดุที่ใช้ในงานออกแบบ นั่นแสดงให้เห็นถึงความสามารถของงานคอนกรีตที่สามารถปั้นทรงได้ตามต้องการ
ข้อดีของคอนกรีตดังกล่าวข้างต้น ทำให้เกิดลักษณะทรงตามต้องการได้ แต่จะเหมาะสมสอดคล้องกับการทำงานในแต่ละลักษณะอาคารหรือไม่ อันนี้ก็เป็นอีกส่วนที่ต้องพิจารณากันให้ดี สาเหตุที่ครูช่างทางไทย ที่ได้รับการเรียนรู้สืบต่อจากครูสู่ศิษย์ รุ่นต่อรุ่น ในระบบสกุลช่างหรือ School of Architecture จะไม่ได้มองเพียงแค่วัสดุกับทรง แต่จะมองเลยไปถึงการใช้งาน และการดูแลรักษาระยะยาวด้วย
แม้ว่า งานเครื่องคอนกรีตหรืองานเครื่องปูน จะสามารถทำให้มีลักษณะเลียนแบบงานไม้ได้ก็ตาม แต่จะไม่ทำเลียนแบบให้เหมือนมากจนเกินไป ด้วยความสามารถของตัววัสดุเอง ในเชิงวิศวกรรมที่รับแรงอัดได้ดีกว่าแรงดึง ตัววัสดุมีความเปราะเมื่อเนื้องานมีความผอมบาง หรือเรียวแหลมในส่วนปลายของงานศิลปกรรมตกแต่ง ส่งผลให้เมื่อเวลาล่วงไป จะเกิดการชำรุดเสียหาย และต้องมาซ่อมแซมกันอย่างมากในภายหลัง (นอกเหนือจากแนวคิดที่มองกันว่าวัสดุคอนกรีตควรแสดงสัจจะแห่งวัสดุ) ซึ่งการดูแลรักษาระยะยาวเป็นสิ่งที่ควรคิดถึงให้มากในการออกแบบยุคนี้ เพื่อมิให้เป็นภาระงานซ่อมดังเช่นที่ผ่านมา
ภาพ : ประตูดุสิตสาสดา และ ประตูสนามราชกิจ ในพระบรมมหาราชวัง กรุงเทพฯ
เหนือสิ่งอื่นใดคือบรรยากาศของงานสถาปัตยกรรมที่แล้วเสร็จ ซึ่งได้รับการออกแบบผ่านเครื่องคอนกรีต ต้องให้ผลทางจิตวิทยาที่ดี ทั้งในเชิงโครงสร้าง และจุดมุ่งหมายแห่งการออกแบบตามชนิดของงานนั้นๆ บางครั้งความสามารถของวัสดุ อาจไม่จำเป็นต้องทำโครงสร้างขนาดใหญ่ แต่ครูงานสถาปัตยกรรมไทย จะไม่ได้มองถึงความแข็งแรงที่พอดีกับการใช้งานเท่านั้น แต่จะต้องเป็นความแข็งแรงที่พอดีกับรูปทรงอย่างเป็นองค์รวมด้วยเช่นกัน เพื่อผลทางจิตวิทยาที่ต้องการ
ซุ้มประตูที่อาจารย์พระพรหมพิจิตรมีความเกี่ยวข้องกับออกแบบทั้งสามชิ้นนี้ จึงเป็นตัวอย่างแห่งการออกแบบ บนฐานความรู้ความเข้าใจนอกเหนือจากตัววัสดุที่ใช้ แสดงให้เห็นว่าในสับเซ็ทของงานออกแบบเครื่องปูน สามารถทำให้ทรวดทรงทางสถาปัตยกรรมมีความละม้ายไปกับทรงปูน(หรือเครื่องก่อ)และเครื่องไม้ได้ โดยทำการลดรูปในรายละเอียดขององค์ประกอบทางสถาปัตยกรรมไทยร่วมกับการลดรูปทางศิลปกรรมไปพร้อมๆกัน
ดังนั้น ซุ้มประตูวังชั้นในทั้ง ประตูดุสิตสาสดา และประตูสนามราชกิจ ที่แม้จะเป็นงานเครื่องคอนกรีต ด้วยกันทั้งคู่ จึงสามารถทำให้เกิด การปั้นทรงและลดรูปศิลปกรรม ให้มีความเฉพาะตัวที่แตกต่างกันไปได้ แม้ว่าจะเป็นซุ้มประตูยอดปรางค์เหมือนกัน รายละเอียดทางศิลปกรรม ที่ต้องการแสดงสัจจะแห่งวัสดุ มีความสัมพันธ์กับซุ้มประตูสวัสดิโสภา เนื่องจากเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องกัน ร่วมยุคร่วมสมัยกัน ทั้งนี้ยังไม่รวมถึงความชาญฉลาดในแก้ไขการลวงตา ในทรงรวม ผ่านรายละเอียดต่างๆ ในงาน เพื่อแก้ไขปัญหามุมมองในทางงานช่างไทย ที่ครูช่างมีความเข้าใจและแก้ไขให้ภาพรวมแห่งงานสมบูรณ์ต่อการสัมผัสเห็นทั้งหมด
ลักษณะทางศิลปกรรม ที่ท่านรักษาไว้คือทรง เช่นทรงบัวประกอบอาคาร ทรงจอมแหของรูปเครื่องยอดหลังคา และฐานอาคาร จะเห็นว่ามีความสมบูรณ์ในตัว ทำให้ภาพรวมของรูปทรงอาคารไม่ผิดเพี้ยน สัดส่วนขององค์ประกอบและทรงรวมได้รับการออกแบบให้อยู่ในลักษณะของงานตามชนิดแห่งฐานานุรูปฐานานุศักดิ์ จังหวะต่างๆ ที่องค์ประกอบทางสถาปัตยกรรมประสานเข้ามาเป็นเอกภาพของงานเดียวกัน ไม่ขัดแย้งกับการสร้างสัมผัสแห่งรูปทรงโดยรวม ซึ่งหลักแห่งการออกแบบที่สำคัญนี้ อาจารย์พระพรหมพิจิตร ได้เคยอธิบายไว้สามข้อด้วยกันคือ รูปทรง ลักษณะ จังหวะ เช่นในตำรา พุทธศิลปสถาปัตยกรรมภาคต้น
ย้อนกลับมาดูชิ้นงานซุ้มประตู ที่ท่านมีส่วนออกแบบทั้งสองชิ้น ซึ่งคนทั่วไปไม่ค่อยได้กล่าวถึงกันนัก เพราะโดยมากจะมุ่งไปชื่นชม ซุ้มประตูสวัสดิโสภาเป็นสำคัญมากกว่า โดยลายประตูชั้นในนั้น ได้รับการปรับแก้ไขลายที่เคยเป็นมิติ มีรายละเอียดอ่อนช้อย ทำให้เหลือเพียงโครงร่างเรขาคณิต ที่มีมิติเพียงเล็กน้อย เพื่อให้มีความแข็งแรงตามอย่างที่นักวิชาการให้ความเห็นไว้ว่าเป็นการแสดงสัจจะแห่งคอนกรีต
ประตูสนามราชกิจ และประตูสวัสดิโสภานั้น แทบจะเหมือนกันในทางรูปทรงและรายละเอียด มีความแตกต่างกันเพียงเล็กน้อยเท่านั้น และหากพิจารณาในชั้นเชิงการออกแบบ จะเห็นได้ว่า ประตูสนามราชกิจจะมีฐานานุศักดิ์สำคัญมากยิ่งกว่า ด้วยการที่เป็นประตูชั้นใน เชื่อมต่อเขตพระราชฐานส่วนนอกและส่วนใน ความสำคัญของงานตกแต่งที่ต้องให้รายละเอียดบางประการ เพื่อให้ศิลปกรรมทำหน้าที่ซึ่งลำพังรูปทรงเรียบง่ายไม่สามารถให้ผลได้ในเชิงจิตวิทยา
ในขณะที่องค์ประกอบจำเป็นทางศิลปกรรมเพื่อแสดงฐานานุศักดิ์ ของประตูสนามราชกิจ ก็ปรากฏในประตูดุสิตสาสดาด้วย แต่ก็จะเห็นว่าศิลปกรรมที่จำเป็นต้องใช้ ได้รับการออกแบบเท่าที่ต้องใช้จริงๆ ไม่ทำพร่ำเพรื่อ ในส่วนอื่นๆ ก็ลดรูปลงไปเพื่อแสดงถึงแนวคิดในการสร้างสรรค์ให้เป็นผลงานอันบ่งบอกถึงอิทธิพลในงานออกแบบอย่างสากล
ดังน้้น หากผู้ออกแบบมีความเข้าใจในฉันทลักษณ์ของงานไทย เข้าใจในบริบทของการออกแบบ เข้าใจในวัสดุและโครงสร้างที่ใช้ และมีความแม่นยำในการเขียนงานไทยแล้ว เชื่อว่างานเครื่องคอนกรีต ก็จะเป็นงานที่สามารถทำการออกแบบด้วยการปั้นทรงและลดรูปศิลปกรรม หรือปั้นลาย ที่สามารถเพิ่มหรือลดรูปแบบและองค์ประกอบ ให้ยังคงบรรยากาศแห่งงานช่างไทย และรักษาคุณค่ามรดกทางวัฒนธรรมสำคัญประจำชาติไว้ได้อย่างแน่นอน
ข้อมูล : ประกิจ ลัคนผจง
ที่มาภาพ : บริษัท พีพลัสไทยสตูดิโอ จำกัด
TAG: