สถาปัตยกรรม คืออะไร?
สถาปัตยกรรม คืออะไร?
สถาปัตยกรรม โดยความหมายแล้วคือ ศิลปวิทยาแห่งการก่อสร้าง (คำกล่าวของ อ.ดร.ประเวศ ลิมปรังษี ศิลปินแห่งชาติ) ในที่นี้ขออธิบายเพิ่มเติมว่า สถาปัตยกรรม นั้นประกอบด้วยส่วนสำคัญหลักๆ สองส่วนด้วยกันคือ ว่าด้วยเรื่องของศาสตร์ของการก่อสร้าง และ ศาสตร์ทางศิลปะ
เหตุที่ได้รับการอธิบายไว้เช่นนี้เพราะงานก่อสร้างที่ดีจนได้รับการยกย่องว่าเป็นงานสถาปัตยกรรมจะต้องมีทั้งศาสตร์และศิลป์ร่วมกัน (หากย้อนไปดูคำอธิบายของ วิทรูเวียส ก็จะเป็นลักษณะเดียวกัน) ฉะนั้นแล้วงานก่อสร้างอาคารบางแห่ง อาจไม่ได้มีส่วนผสมของศิลปะอยู่ด้วยก็เป็นได้ นั่นคือ สร้างเพื่อมุ่งการใช้งานได้และแข็งแรงดีเป็นพอ หากมีเพียงสองส่วนดังกล่าวก็ไม่ครบองค์ประกอบสำคัญทั้งสามส่วนตามที่วิทรูเวียสได้กล่าวไว้ แต่เป็นอาคารที่ใช้งานได้แล้ว ก็ถือว่าเป็นอาคารหรืองานก่อสร้างโดยปกติ แต่มิอาจเรียกได้ว่าเป็น “สถาปัตยกรรม”
เรื่องของความมั่นคงแข็งแรงเป็นเรื่องสำคัญที่อยู่คู่กับการออกแบบงานสถาปัตยกรรมอยู่แล้ว เรียกได้ว่าหากงานออกแบบไม่มีเรื่องอื่นๆ เข้ามาเป็นปัจจัยเกี่ยวข้อง อย่างไรเสียก็จะต้องมีความแข็งแรงเข้ามาเป็นปัจจัยสำคัญแรกเสมอ มิเช่นนั้นสิ่งก่อสร้างก็ไม่อาจก่อรูปก่อร่างขึ้นมาให้สามารถเข้าไปใช้งานได้เลย
ในช่วงเวลาที่ผ่านมาเราอาจได้เห็นข่าวอาคารถล่ม ในประเทศต่างๆ ซึ่งมีผู้เสียชีวิตมากมาย รวมถึงประเทศไทยเราเองก็เคยมีเหตุการณ์ตึกถล่มลงมาเช่นกัน ซึ่งเกิดจากการต่อเติมจนผิดไปจากการออกแบบแต่แรกไปมาก ซึ่งเรื่องดังกล่าวไม่น่าจะเกิดขึ้นได้ อาคารหลายหลังในบ้านเราล้วนแต่ต่อเติมการใช้สอยออกไปจากตัวอาคารเดิมมากมาย ทั้งนี้การต่อเติมดังกล่าวต้องอยู่ในความดูแลของสถาปนิกและวิศวกรอย่างรัดกุม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการออกแบบและคำนวณงานโครงสร้างทางวิศวกรรมที่จะทำให้อาคารซึ่งได้รับการต่อเติมมีความมั่นคงแข็งแรงและปลอดภัย
ในการออกแบบงานสถาปัตยกรรมทุกๆ ครั้งของสถาปนิก จึงจะต้องคิดคำนึงถึงในด้านความมั่นคงแข็งแรงนี้ควบคู่ไปกับการสร้างสรรค์รูปลักษณ์ของตัวอาคารที่ออกแบบนั้นอยู่เสมอ สถาปนิกจึงต้องรู้และเข้าใจงานวิศวกรรมด้วย ซึ่งเป็นการเรียนรู้หนึ่งในหลายๆ วิชาที่เกี่ยวข้องและสร้างความเข้าใจให้การทำงานออกแบบเป็นไปได้โดยถูกหลักทางวิศวกรรม สามารถออกแบบให้เกิดประสานกันของระบบอาคารต่างๆ
ยิ่งถ้าเป็นอาคารขนาดใหญ่ก็จะมีงานระบบอื่นๆ เพิ่มเติมเข้ามาอีก ไม่ว่าจะเป็นวิศวกรรมระบบไฟฟ้าและแสงสว่าง วิศวกรรมระบบปรับอากาศ วิศวกรรมระบบสุขาภิบาล เป็นต้น สถาปนิกจึงเป็นเหมือนผู้รวบรวมทุกสิ่งอย่างที่เกี่ยวข้องให้เข้ามารวมเป็นหนึ่งเดียวอย่างลงตัว และเหมาะสมภายใต้ความต้องการใช้สอย ความแข็งแรง และมีความงามเพื่อสร้างสรรค์คุณภาพชีวิตที่ดีกว่าของผู้ใช้สอย
เปรียบง่ายๆ เหมือนกับคนซึ่งสวมใส่เสื้อผ้าอาภรณ์ ร่างกายอันมีอวัยวะต่าง ๆ ประกอบกันขึ้นมาเป็นคนคือส่วนต่างๆ ของการใช้งาน(หรือการใช้สอย) มีโครงสร้างกระดูกเป็นแก่นแกนให้ทรงตัวอยู่ได้ และสามารถพับ งอ ลุก นั่ง ได้ด้วยกลไกทางโครงสร้างที่ได้รับการออกแบบเป็นอย่างดี(ความมั่นคงแข็งแรง) ในส่วนของความงามส่วนหนึ่งก็เกิดจากตัวอวัยวะนั้นๆ เองเช่น ผม ตา ปาก รูปร่าง แต่อาศัยอาภรณ์เครื่องนุ่งห่มที่สัมพันธ์กับผู้สวมใส่อย่างเหมาะกับกาลเทศะเป็นส่วนเติมเต็มความงามให้แก่อาคาร (ความงามในงานสถาปัตยกรรม) รวมถึงการออกแบบในการใช้สอยอันประกอบด้วยองค์ประกอบทางสถาปัตยกรรมที่ผู้ออกแบบได้ฝึกฝนเรียนรู้มา อาทิ ที่ว่าง มวลอาคาร จังหวะของอาคาร สี วัสดุ เส้นสายที่ปรากฏ ฯลฯ
งานออกแบบทางสถาปัตยกรรม หากได้รับการวางแผนและปรึกษากับวิศวกรที่ทำงานร่วมกันไว้เป็นอย่างดีแล้ว ความงามก็จะปรากฏให้เห็นได้นับแต่ถอดไม้แบบเลยทีเดียว ยิ่งเมื่อได้รับการเก็บความเรียบร้อยใส่อาภรณ์ให้แก่ตัวอาคารจนงานก่อสร้างแล้วเสร็จ ความงามที่สมบูรณ์ก็จะปรากฏตามที่ได้จินตนาการไว้
ฉะนั้นแล้วงานก่อสร้างอาคารบางแห่ง อาจไม่ได้มีส่วนผสมของศิลปะอยู่ด้วยก็เป็นได้ นั่นคือ สร้างเพื่อมุ่งการใช้งานได้และแข็งแรงดีเป็นพอ หากมีเพียงสองส่วนดังกล่าวก็ไม่ครบองค์ประกอบสำคัญทั้งสามส่วนตามที่วิทรูเวียสได้กล่าวไว้ แต่เป็นอาคารที่ใช้งานได้แล้ว ก็ถือว่าเป็นอาคารหรืองานก่อสร้างโดยปกติ แต่มิอาจเรียกได้ว่าเป็น “สถาปัตยกรรม”
สิ่งสำคัญที่โอบล้อมตัวอาคารและยกระดับความสำคัญขึ้นมาคือ ความงาม ความพึงพอใจ ความเร้าใจหรือสะเทือนอารมณ์(คือกระทบกับความรู้สึก) ที่ผู้พบเห็นหรือใช้งานอาคารสามารถสัมผ้สได้ การรับรู้ดังกล่าว ทำให้อาคารเสมือนมีชีวิต เพราะมันตอบสนองกับการรับรู้ของผู้คนที่เข้าไปใช้สอยอาคารนั้นๆ ซึ่งเกิดขึ้นจากภูมิปัญญาของผู้ออกแบบที่ตรึกตรองอย่างถี่ถ้วน แล้วจึงวางจิตวิญญาณลงในชิ้นงานนั้นๆ ผ่านบริบททางวัฒนธรรม หรือลักษณะการรับรู้ เพื่อก่อให้เกิดความเข้าใจร่วมถึงคุณค่าและความงามที่สังคมยอมรับ ซึ่งอาจมีหลากหลายแง่มุม และผู้เขียนขอสรุปรวมเครื่องมือที่ใส่ลงในงานออกแบบให้มีจิตวิญญาณตามที่อธิบายข้างต้นว่า “วัฒนธรรม”
วัฒนธรรมดังกล่าวนั้น หาใช่ลักษณะอันโบราณ คร่ำครึ อย่างที่หลายคนนึกคิด แต่วัฒนธรรมคือพลวัตทางสังคม ที่ปรับเปลี่ยนไปตามยุคสมัย ฉะนั้นแล้วงานสถาปัตยกรรมที่ดี จึงมีจิตวิญญาณที่เล่าเรื่องทางวัฒนธรรมอันเกี่ยวเนื่องกับสังคมที่คลี่คลายกลายเป็นบางสิ่งบางอย่างอยู่ในนั้น ซึ่งอาจจะเป็นการเชื่อมโยงทางประวัติศาสตร์สืบมา จนถึงยุคสมัยที่ตัวสถาปัตยกรรมนั้นๆ ถูกสร้างขึ้น หรืออาจจะเป็นการนำเสนอความล้ำสมัยที่สังคมเป็นอยู่ก็ได้ เนื่องจากเครื่องมือในการใช้สื่อสารส่วนนี้เกี่ยวข้องกับศิลปะ หรือศาสตร์แห่งศิลป์ ผู้ออกแบบจึงต้องมองภาพงานอันเป็นองค์รวมที่จะประสานเนื้อหาที่ต้องการสื่อสารไปกับ การใช้งาน ความแข็งแรง อย่างเป็นเนื้อเดียวกัน หากผู้ออกแบบไม่มีความเข้าใจ สิ่งนี้ก็จะกลายเป็นองคาพยพที่ลักลั่น ขาดๆ เกินๆ หรือแม้กระทั่งเป็นภาระในงานก่อสร้างก็เป็นได้
แม้ว่าสถาปัตยกรรมจะเป็นศาสตร์หนึ่งแห่งงานศิลปะ แต่ก็ไม่ใช่งานที่ทำเก็บไว้ดูคนเดียว งานแต่ละชิ้นจะตั้งอยู่นับชั่วอายุคน และมีผลต่อความคิดความรู้สึก ของผู้คนที่ได้พบเห็น และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อได้เข้าไปใช้งานในอาคารนั้น อาคารที่ได้รับการอกแบบอย่างสร้างสรรค์ ถึงพร้อมด้วย การใช้งานที่ดี มีความแข็งแรง มีความงาม รับผิดชอบต่อชีวิตและสังคม จึงได้รับการยกระดับจาก “อาคาร” โดยปกติทั่วไป ให้กลายเป็นงาน “สถาปัตยกรรม” ที่ดี เป็นมิตรต่อผู้คนและสังคมในที่สุด
หวังว่าคุณจะมีสถาปัตยกรรมดีๆ ที่คุณชื่นชอบ และมีความสุขทุกครั้งที่ได้ไปเยือน
สถาปัตยกรรมไทย คืออะไร (คลิกอ่านรายละเอียด)