สถาปัตยกรรมไทยคืออะไร

สถาปัตยกรรม ศาสตร์ของการก่อสร้าง และศาสตร์ทางศิลปะ
Home » สถาปัตยกรรม » สถาปัตยกรรมไทยคืออะไร

สถาปัตยกรรมไทย คืองานอันเป็นศิลปะและวิทยาแห่งการก่อสร้างที่มีบริบททางวัฒนธรรมไทย ผสานเข้าเป็นส่วนเดียวกันกับงานออกแบบ ดังได้อธิบายถึงความหมายของ สถาปัตยกรรม ไว้แล้วอีกบทความหนึ่ง ซึ่งทุกคนคงเข้าใจแล้วว่า สถาปัตยกรรมคืออะไร มีองค์ประกอบสำคัญอะไรบ้าง

สถาปัตยกรรมไทย ก็มีความหมายในลักษณะเดียวกัน แต่จะมีความโดดเด่นด้วยรูปแบบทางสถาปัตยกรรม ที่สามารถบอกได้อย่างชัดเจนว่า งานชิ้นนี้เป็นสถาปัตยกรรมในประเทศไทย (เนื่องจากสถาปัตยกรรม เป็นคำที่จำกัดความถึงงานออกแบบสร้างสรรค์ทางการก่อสร้างที่หมายรวมถึงสถาปัตยกรรมทุกชนิด และทุกวัฒนธรรมอยู่แล้ว)

สถาปัตยกรรมไทย ที่มีเอกลักษณ์อย่างชัดเจน

โดยในสมัยก่อน นักเรียนสถาปัตยกรรมไทยจะทราบว่า สถาปัตยกรรมไทย แบ่งออกเป็น 3 ประเภทด้วยกันคือ

  1. สถาปัตยกรรมเนื่องในสถาบันพระมหากษัตริย์ ได้แก่ พระราชวังต่างๆ เป็นต้น
  2. สถาปัตยกรรมเนื่องในศาสนา ได้แก่ วัดวาอารามต่างๆ เป็นต้น
  3. สถาปัตยกรรมเนื่องในการพักอาศัย ได้แก่ เรือนไทย หรือเรือนในภูมิภาคต่างๆ เป็นต้น

แต่ในปัจจุบัน อาจจะเพิ่มอีกประเภทหนึ่งคือ

4. สถาปัตยกรรมในอาคารสาธารณะ ได้แก่ อาคารราชการต่างๆ หรืออาคารเอกชน ที่มีความเกี่ยวเนื่องทางวัฒนธรรม ต่าง ๆเป็นต้น

จะเห็นได้ว่า เมื่อกาลเวลาผ่านไป การใช้สอยอาคารต่างๆ ในบ้านเราก็มีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม สถาปัตยกรรมไทย บางประเภท อาจลดบทบาทความสำคัญลงไป ในขณะที่สถาปัตยกรรมไทยบางประเภทมีความสำคัญมากยิ่งขึ้น ซึ่งก็เนื่องมาจากสภาพสังคม เศรษฐกิจ การเมือง การปกครองที่เปลี่ยนแปลงไป

สถาปัตยกรรมไทย ในปัจจุบัน เป็นส่วนหนึ่งของความเจริญทางสังคมของไทย โดยงานอันเกี่ยวเนื่องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ อาจไม่ได้มีการออกแบบก่อสร้างมากมายเช่นในสมัยก่อนแล้ว เนื่องจากเปลี่ยนไปตามสภาพการเมืองการปกครองในปัจจุบันที่ต่างไป แต่ สถาปัตยกรรมไทย ก็ยังคงได้รับการสืบสานและสร้างสรรค์ทางการออกแบบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งงานอันเกี่ยวเนื่องในศาสนา ที่ยังคงมีการออกแบบ และก่อสร้างพุทธศาสนสถานใหม่ๆ เกิดขึ้นเสมอ ส่วนหนึ่งเนื่องมาจากความคิดความเชื่อในทางบุญทางกุศลที่ชาวพุทธยังมีอยู่อย่างหนักแน่นและมั่นคง

สำหรับงานสถาปัตยกรรมไทยประเภทอาคารพักอาศัย ส่วนหนึ่งยังมีการสร้างเรือนไทยที่มีรูปแบบในลักษณะ สถาปัตยกรรมไทยแบบแผนสืบต่อมา (หรือที่นักวิชาการในวงการเรียกกันว่า สถาปัตยกรรมไทยแบบประเพณี) โดยเฉพาะลักษณะอาคารพักอาศัย ที่เป็นเหมือนบ้านตากอากาศหรือบ้านพักผ่อนหลังที่สอง แต่อาจมีการประยุกต์ในแง่ของการใช้พื้นที่ หรือการใช้งานให้มีความสะดวกสบายในการใช้สอยมากขึ้น มีอุปกรณ์อำนวยความสะดวกเพิ่มเข้ามา และจำเป็นต้องมีการเสริมโครงสร้างให้แข็งแรงมากขึ้น เนื่องจากโครงสร้างแบบประเพณีเดิมของเรือนพักอาศัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรือนไทยภาคกลางแบบคลาสสิค ไม่สามารถรับแรงอันเนื่องมาจากเฟอร์นิเจอร์ ที่มีน้ำหนักมากกว่าแต่ก่อนได้ รวมถึงอาจต้องปรับเปลี่ยนรายละเอียดองค์ประกอบบางส่วนเพื่อให้มีบรรยากาศที่สอดคล้องกับสภาพชีวิตความเป็นอยู่ของคนในปัจจุบันให้มากขึ้น

อาคารพักอาศัยประเภทหนึ่งที่มีเอกลักษณ์ของความเป็นไทยอย่างโดดเด่น คือ อาคารพักอาศัยที่ได้รับการออกแบบในเชิงการท่องเที่ยว จำพวกโรงแรมรีสอร์ต ซึ่งมักจะประยุกต์รูปแบบความเป็นไทยเข้าไปร่วมกับรูปแบบและโครงสร้าง ของงานสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ ซึ่งนับว่าเป็นงานสถาปัตยกรรมไทย ในลักษณะประยุกต์ ที่น่าสนใจ

ส่วนอาคารสาธารณะ ในงานสถาปัตยกรรมไทย แรกเริ่มจะเป็นอาคารที่ใช้ในทางราชการ ในช่วงที่มีการรับวัฒนธรรมแบบตะวันตกเข้ามา ปรับรูปแบบการบริหารบ้านเมือง ให้มีหน่วยราชการและจำเป็นต้องมีอาคารใช้งานในเชิงสาธารณะ และเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองมาสู่รูปแบบประชาธิปไตย และขยายขอบเขตการทำงานออกไปเป็นหลายส่วนหลายหน่วยงาน จนต้องมีการสร้างอาคารสาธารณะแบบใหม่ๆ และช่วงหนึ่งอาคารสาธารณะอย่างที่บริเวณถนนราชดำเนิน ก็ได้รับการออกแบบให้มีลักษณะงาน สถาปัตยกรรมไทย อย่างชัดเจน เป็นรูปแบบที่เรียกกันว่าเป็น สถาปัตยกรรมไทยประยุกต์ (ซึ่งนับเป็นรูปแบบของ งานสถาปัตยกรรมไทย ประเภทหนึ่งในอีกหลายประเภท)

สถาปัตยกรรมไทย ที่เรียกว่าประยุกต์นั้น คืองานที่มีการออกแบบโดยรักษาลักษณะอันแสดงถึงความเป็นไทยให้ยังปรากฏกลิ่นอายอยู่ เช่น ทรงหลังคาแบบไทยที่มีองค์ประกอบจำพวก ช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ ที่มีอยู่ในงานศาสนสถาน จำพวก โบสถ์ วิหาร หรือทรงหลังคาแบบไทยที่เป็นจั่วปั้นลมตัวเหงา แบบเรือนไทยภาคกลางคลาสสิค (หรือภาคกลางแบบมาตรฐาน) นับได้ว่าเป็นงานออกแบบที่อาจสื่อความหมายได้ง่าย และตรงตัวที่สุด หากต้องการให้อาคารมีลักษณะไทย แต่ก็มิได้หมายความว่าจะออกแบบกันได้ง่ายๆ เพราะหากไม่เข้าใจระเบียบวิธีทางการออกแบบอย่างชัดเจนมากพอ ก็จะทำให้ได้รูปแบบที่คิดว่าใช่ แต่อาจเกิดความไม่สมดุลย์ขององค์ประกอบที่นำมาใช้ กับสัดส่วนของอาคารที่ออกแบบ ซึ่งอาจมองไม่เห็นตอนอยู่บนโต๊ะเขียนแบบ หรือหน้าจอคอมพิวเตอร์ ก็เป็นได้

(รอการอัพเดทเพิ่มเติม)

สถาปัตยกรรมไทย กับองค์ประกอบที่งดงาม

***

*****

***

***

***

***

TAG:

Read this article in English