พัฒนาการและการเปลี่ยนแปลงของงานสถาปัตยกรรมไทยในปัจจุบัน

(สถาปัตยกรรมไทยในที่นี้ จะขอกล่าวถึงในขอบเขตของงานพุทธสถาปัตยกรรมไทยประเภท วัดวาอาราม เป็นสำคัญ และกรอบเวลาปัจจุบัน นับในช่วงเวลาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 9 เป็นต้นมา)

Home » ความรู้เรื่องวัดและพัฒนาการ » พัฒนาการและการเปลี่ยนแปลงของงานสถาปัตยกรรมไทยในปัจจุบัน

ความนำ

งานสถาปัตยกรรมไทย ถือเป็นวัฒนธรรมเชิงรูปธรรมอันสำคัญของสังคมไทย เป็นมรดกตกทอดที่สืบทอดส่งผ่านภูมิปัญญาสร้างสรรค์มาอย่างยาวนาน จนเป็นเอกลักษณ์ของสังคมสืบมา  สร้างคุณค่าทั้งทางสังคม เศรษฐกิจ วัฒนธรรมอย่างรอบด้าน เป็นมรดกทางวัฒนธรรมในด้านรูปธรรมที่สำคัญยิ่งแขนงหนึ่ง[1] แม้ปัจจุบันบ้านเมืองจะมีความก้าวหน้าพัฒนาไปมากมายแล้วก็ตาม แต่งานสถาปัตยกรรมไทยยังคงเป็นหัวใจหลักสำคัญให้ผู้คนทั่วโลกหันมามองถึงภูมิปัญญาสำคัญในส่วนนี้ของชาติบ้านเมืองเรา  ซึ่งงานสถาปัตยกรรมไทยมีหลากหลายประเภท แต่ส่วนที่ทุกคนคุ้นเคยที่สุดก็คือพุทธสถาปัตยกรรม หรือสถาปัตยกรรมไทยประเภทวัดนี้เอง งานประเภทนี้ชิ้นสำคัญจะได้รับการออกแบบสร้างสรรค์ ภายใต้การกำกับดูแลสนับสนุนของสถาบันพระมหากษัตริย์  ซึ่งมีพระราชศรัทธาในการเป็นองค์พุทธศาสนูปถัมภกในงานสถาปัตยกรรมไทยประเภทวัดวาอารามเสมอมาอย่างมิได้ขาด การออกแบบสร้างสรรค์พุทธสถาปัตยกรรมโดยพระมหากษัตริย์แต่ก่อนนั้น มีแบบแผนคตินิยมอย่างชัดเจน มีช่างหลวงที่รังสรรค์งานศิลปสถาปัตยกรรมเหล่านั้นตามระบบระเบียบที่สืบสานงานช่างและถือเป็นการสร้างสรรค์ในพระราชศรัทธาแห่งองค์พระมหากษัตริย์อย่างเต็มที่ ผลงานที่ปรากฏจึงถือเป็นงานชั้นครูทุกชิ้น  เป็นมรดกทางวัฒนธรรมของชาติอย่างไม่มีข้อกังขา ช่างทุกคนล้วนได้รับการฝึกอบรมฝีมือจนเชี่ยวชาญ มีความรู้ในศาสตร์ศิลป์สืบทอดกันมา หรือกล่าวได้ว่ามีครูถ่ายทอดวิชามาต่อเนื่อง จึงได้รับมอบหมายให้ทำงานดังกล่าวสนองคุณชาติบ้านเมือง และทุกๆ อารามล้วนวิจิตรบรรจงเป็นแบบเฉพาะตัว ไม่ซ้ำกัน ดังจะสามารถพิเคราะห์ได้จากตัวอย่างวัดหลวง ในเกาะเมืองรัตนโกสินทร์ได้เป็นอย่างดี การออกแบบก่อสร้างวัดสำคัญนับแต่สุโขทัย มาถึงกรุงรัตนโกสินทร์ ล้วนมีพระมหากษัตริย์เป็นองค์เอกอัครศาสนูปถัมภกสำคัญมาโดยตลอด และสืบสานรูปลักษณ์งานชนิดนี้ให้เป็นอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมอันสำคัญสืบมา      

ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข  การจัดการบ้านเมืองต่างๆ ของประเทศชาติ อาศัยการบริหารผ่านระบบรัฐสภา เป็นเครื่องมือในการจัดการทั้งหมด วัดหลวงต่างๆ ได้รับการสนับสนุนส่งเสริม และดูแลผ่านองค์กรหรือหน่วยงานภาครัฐบางส่วน ประกอบกับการสนับสนุนจากภาคเอกชนเป็นกรณีๆ ตามเหตุปัจจัยที่เกี่ยวข้อง หากเป็นวัดสำคัญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างกรมศิลปากรจะเข้าไปดูแลทำนุบำรุงดูแลรักษาไว้ เพื่อรักษามรดกทางวัฒนธรรมดังกล่าวมิให้เสียหายไปกับการซ่อมสร้างที่ขาดความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องและเหมาะสม แม้กระนั้นสิ่งที่เกิดขึ้นจริงในสังคมก็เกินกำลังกว่าที่กรมศิลปากรจะดูแลได้อย่างทั่วถึง ส่วนวัดวาอารามที่สร้างใหม่ในภายหลัง มีทั้งที่เกิดขึ้นจากภาครัฐและเอกชน โดยเฉพาะภาคเอกชนมีขึ้นมากมายอย่างกว้างขวาง โดยกลุ่มคนผู้มีศรัทธาได้เข้ามาดำเนินการในกระบวนการก่อสร้างได้โดยเบ็ดเสร็จ ทั้งนี้อาจได้รับการออกแบบตัวสถาปัตกรรม จากสถาปนิกผู้มีความรู้ความเข้าใจในงานสถาปัตยกรรมไทยหรือไม่ก็ได้ เพราะมิได้มีการควบคุมในการออกแบบก่อสร้างในพื้นที่วิสุงคามสีมาอย่างเคร่งครัด(ผ่านการขออนุญาตก่อสร้างอย่างที่ควรจะเป็น) เหมือนการออกแบบก่อสร้างสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ทั่วไป  การออกแบบก่อสร้างงานสถาปัตยกรรมไทยในกลุ่มวัดวาอารามนี้ โดยมากยังยึดแบบแผนตามขนบนิยมในรูปแบบ รวมถึงยังรักษาแบบแผนการใช้งานตามครรลองที่มีมาเป็นส่วนใหญ่  จึงไม่เกิดความแปลกแยกแตกต่างทางลักษณะของสถาปัตยกรรมไทยจากแบบแผนเดิมเท่าไหร่นัก แต่อย่างไรก็ดี เราอาจได้เริ่มเห็นการเปลี่ยนแปลงทีละเล็กน้อยด้วยเช่นกัน (เช่นการสร้างอุโบสถที่มีลักษณะร่วมสมัย  ของวัดพระธรรมกาย ในราวปี พ.ศ.2525) ความแปลกตาในงานก่อสร้างวัดวาอารามเริ่มปรากฏชัดมากขึ้นในเวลาต่อมา จนอาจกล่าวได้ว่าปัจจุบันนี้ มีการสร้างวัดที่แปลกแตกต่างไปจากแบบแผนงานช่างไทยเดิมมากพอสมควรแล้ว  อันที่จริงการเปลี่ยนแปลงในงานออกแบบก่อสร้างวัดนั้น เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นมาโดยตลอดอยู่แล้ว ดังที่ อ.วนิดา พึ่งสุนทร ศิลปินแห่งชาติ ได้กล่าวไว้ในงานสัมมนา ในงานสถาปนิก เมื่อวันที่ 27 เมษายน พ.ศ.2566 ความตอนหนึ่งว่า “พัฒนาการของงานสถาปัตยกรรมไทยมิได้เป็นการเปลี่ยนรูปแบบทางสถาปัตยกรรม แต่ขณะเดียวกันก็มิใช่เป็นการแช่แข็งลักษณะของงาน สถาปัตยกรรมไทยด้วยเช่นกัน เพราะสถาปัตยกรรมไทยนั้นมีวิวัฒนาการในตัวเองมาตลอดทุกยุคทุกสมัย”  คำกล่าวนี้น่าจะเป็นการแสดงถึงการเปลี่ยนแปลงในลักษณะสืบสานอย่างสร้างสรรค์ ซึ่งสืบเนื่องมาอย่างยาวนาน  และเพื่อให้เข้าใจภาพแห่งพัฒนาการของงานได้ชัดเจน จึงขอกำหนดกรอบช่วงเวลานับแต่สร้างกรุงรัตนโกสินทร์เป็นต้นมา เพื่อให้เหมาะสมต่อการศึกษาและทำความเข้าใจได้ดีที่สุด เพราะเป็นช่วงเวลาที่ยังปรากฏผลงานให้เห็นชัดเจน  หลายชิ้นได้รับการบูรณะปฏิสังขรณ์ให้ใช้งานสืบมาจนถึงทุกวันนี้ ทำให้เราสามารถศึกษาได้จากตัวผลงานจริง

พัฒนาการงานสถาปัตยกรรมไทยในยุคสมัยกรุงรัตนโกสินทร์

หากจะพิจารณาพัฒนาการของงานสถาปัตยกรรมไทยที่ผ่านมา การศึกษาย้อนช่วงเวลากลับไปเพื่อความเข้าใจในภาพมุมกว้าง ตั้งแต่ต้นกรุงรัตนโกสินทร์จวบจนถึงปัจจุบันโดยสังเขป จะทำให้เห็นภาพทัศน์ของการเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นองค์รวม ที่ส่งผลต่อการออกแบบสร้างสรรค์พุทธสถาปัตยกรรมประเภทวัดวาอารามนี้ได้เป็นอย่างดี  ก่อนจะพิจารณาถึงสภาพการณ์ที่เป็นในปัจจุบัน ว่าเป็นอย่างไร

ในอดีตพระมหากษัตริย์คือบุคคลสำคัญต่อการกำหนดทิศทางของงานออกแบบก่อสร้างพุทธศิลป์สถาปัตยกรรม ในงานสถาปัตยกรรมไทย เช่นสมัยแรกสร้างกรุงรัตนโกสินทร์ การก่อสร้างเมืองเป็นการสืบสานมาแต่ครั้งอยุธยา  ทั้งรูปแบบ แผนผัง และศิลปกรรม ซึ่งงานสถาปัตยกรรมไทยช่วงแรกนั้น แบ่งออกเป็น 2 กลุ่มงานช่างอย่างชัดเจนคือ สกุลช่างวังหลวง และสกุลช่างวังหน้า ตัวอย่างเช่นพระอุโบสถวัดพระแก้ว(วังหลวง)  และพระอุโบสถวัดมหาธาตุ(วังหน้า) เป็นต้น  อย่างไรก็ดีแรกสร้างกรุงรัตนโกสินทร์เราสูญเสียช่างผู้ชำนาญการไปมาก เนื่องจากถูกกวาดต้อนไปยังพม่าเป็นส่วนใหญ่ ทำให้ต้องฟื้นฟูงานช่างทุกแขนงกันใหม่ ประกอบทั้งสถานการณ์บ้านเมืองในขณะนั้น ยังต้องรบพุ่งกับข้าศึกศัตรูพร้อมๆไปกับการสร้างเมืองในเวลาเดียวกัน นอกจากขาดบุคลากรงานช่างแล้ว ยังมีปัญหาทางเศรษฐกิจซึ่งเป็นปัจจัยสนับสนุนอันสำคัญอีกด้วย จึงนับเป็นความยากในการจะทำให้งานสถาปัตยกรรมไทยในช่วงเวลานั้นสมบูรณ์ได้อย่างเต็มที่  (และโดยมากได้รับการต่อยอดทั้งการซ่อมบูรณะและเสริมความสมบูรณ์ในสมัยรัชกาลที่ 3)

ภาพ : วัดพระศรีรัตนศาสดาราม (วัดพระแก้ว)   กรุงเทพฯ ศิลปกรรมสกุลช่างวังหลวง

ภาพ : วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ ราชวรมหาวิหาร    กรุงเทพฯ ศิลปกรรมสกุลช่างวังหน้า

จวบจนสมัยรัชกาลที่ 2 การศึกสงครามก็เบาลงเนื่องจากฝั่งพม่าถูกอังกฤษรุกราน จนนำไปสู่การเสียเมืองในเวลาต่อมา (กินเวลาตั้งแต่ช่วง รัชกาลที่ 2-รัชกาลที่ 5) แต่ทั้งนี้งานสถาปัตกรรมไทยก็ได้รับการดูแลสืบเนื่องต่อมา และรวมถึงทรงมีความสนพระทัยต่องานวรรณกรรมเป็นสำคัญ จึงนับเป็นยุคทองของศิลปกรรม ความโดดเด่นทางด้านงานก่อสร้างที่สำคัญเรื่องหนึ่งคือการสร้างสวนขวาในพระบรมมหาราชวัง นับเป็นจุดเริ่มต้นของการมาถึงของศิลปกรรมอย่างจีน  และพระอัจฉริยภาพของพระองค์ท่านในงานพุทธศิลป์ ก็ปรากฏเป็นหลักฐานสำคัญชิ้นหนึ่งคือบานประตูไม้แกะสลักวิหารหลวงวัดสุทัศน์ ที่มีข้อมูลว่ารัชกาลที่ 2 ทรงมีส่วนในงานชิ้นสำคัญดังกล่าว ที่แม้ในสมัยหลังก็หาช่างหรือผู้ที่จะมีฝีมือทำตามอย่างไม่ได้อีกเลย[2] วัดสำคัญที่ทรงมีพระราชดำริสร้างคือวัดอรุณราชวราราม แต่มาสร้างแล้วเสร็จในสมัยรัชกาลถัดไป

ในสมัยรัชกาลที่ 3 เป็นยุคสมัยที่มีความพร้อมต่อการเสริมสร้างกรุงรัตนโกสินทร์ให้สมบูรณ์ เพราะมีความสงบจากศึกสงครามลงมาก และด้วยความสามารถในการค้ากับเมืองจีน ทำให้รัชกาลที่ 3  ทรงมีงบประมาณที่เพียงพอต่อการทำนุบำรุงวัดวาอารามทั่วพระนคร และทรงมีความคุ้นเคยกับชาวจีนผ่านการค้า จึงเปิดกว้างต่องานศิลปกรรมจีน พัฒนาการของงานสถาปัตยกรรมไทย มีลักษณะเป็นแบบ “พระราชนิยม” หรือที่ทุกคนเข้าใจกันดีว่า ได้รับอิทธิพลทางศิลปะจากจีน อันเกิดจากการแลกรับปรับเปลี่ยนกันทางวัฒนธรรม แต่ไม่ได้ปรับเปลี่ยนจนเสียความเป็นไทยไป เนื่องจากภาพรวมของงานยังมีสัดส่วนความเป็นไทยเป็นหลักอยู่  แต่แม้ว่าจะมีงานพระราชนิยมเกิดขึ้น แต่งานอีกกลุ่มหนึ่ง ก็ยังคงมีลักษณะงานสถาปัตยกรรมไทยแบบประเพณีอยู่อย่างสืบเนื่องตลอดรัชกาลควบคู่กัน

ภาพ : วัดราชโอรสารามราชวรวิหาร  กรุงเทพฯ

ที่มาภาพ : วิกิพีเดีย https://th.wikipedia.org/wiki/วัดราชโอรสารามราชวรวิหาร

งานสถาปัตยกรรมแบบพระราชนิยม มีข้อน่าสังเกตประการหนึ่งคือ การใช้วัสดุจำพวกกระเบื้องเซรามิก และแรงงานช่างจีน รวมถึงตุ๊กตาหินที่ประดับตามพระอารามหลวง นับเป็นการนำเข้าวัสดุและแรงงานจากต่างชาติระลอกแรกที่เห็นอย่างชัดเจนที่สุดของยุคต้นกรุงรัตนโกสินทร์ (ก่อนที่ในเวลาต่อมากระแสวัฒนธรรมตะวันตกก็ได้ตามเข้ามาอีกระลอก)  การใช้แรงงานจีนส่วนหนึ่งก็เนื่องด้วยเหตุผลทางเศรษฐกิจและสังคมในช่วงเวลานั้นที่สามารถจ้างแรงงานจีน มาทำการก่อสร้างได้เป็นจำนวนมากในเวลาเดียวกัน เพราะเราไม่มีแรงงานก่อสร้างคนไทยมากนัก การใช้แรงงานจีน รวมถึงเทคนิคทางงานศิลปกรรมจีนจึงสอดรับกับเหตุการณ์ เกิดการสร้างวัดวาอารามขึ้นพร้อมๆ กันได้มากมายเต็มพระนคร หากพิจารณารูปแบบงานพระราชนิยมอย่างทั่วไปก็ดูเหมือนว่า ความเป็นจีนปรากฏด้วยรูปลักษณ์แห่งศิลปกรรมประกอบอาคาร รวมถึงวัสดุตกแต่งจำพวกกระเบื้องเคลือบต่างๆ ด้วย แต่อันที่จริงการใช้ช่างจีนเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญนั้น ส่งผลให้งานเครื่องก่อมีโครงสร้างที่ได้รับอิทธิพลจีนร่วมด้วย ดังจะเห็นว่ารูปแบบเสาของอุโบสถแบบพระราชนิยมจะเรียบเกลี้ยง ไม่มีบัวประดับปลายเสา และมีการก่อผนังบริเวณแนวคอสองตอนบน โดยช่วงต่อระหว่างเสาจะมีสะพานไม้พาดหัวเสา นับเป็นเอกลักษณ์ทางเทคนิคเชิงช่างของงานแบบพระราชนิยมได้อย่างชัดเจน  ข้อดีของเครื่องหลังคาแบบพระราชนิยมยังมีส่วนช่วยให้เกิดความคงทนกว่างานก่อสร้างแบบประเพณีเดิมด้วย กล่าวคือ งานเครื่องไม้ผุพังจากสภาพดินฟ้าอากาศได้ง่ายกว่าเครื่องปูน จนถึงกับมีคำประพันธ์ที่ว่า  ใบระกาหน้าบันสุวรรณปิด ไม่ทนฤทธิ์ฝนรดก็ปลดเปลื้อง กระจกเจียรเปลี่ยนผลัดจำรัสเรือง ทั้งขาวเหลืองเขียวแดงแลแสงคราม[1]  ที่ชี้ให้เห็นว่างานเครื่องไม้ลงรักปิดทองไม่ทนทาน งานเครื่องปูนแบบพระราชนิยมจะมีความทนทานมากกว่า 

ภาพ  : พะระอุโบสถ วัดราชโอรสารามราชวรวิหาร  กรุงเทพฯ

ที่มาภาพ : วิกิพีเดีย https://th.wikipedia.org/wiki/วัดราชโอรสารามราชวรวิหาร

สถาปัตยกรรมไทยที่น่าสนใจชิ้นหนึ่งในรัชกาลที่ 3 ที่ควรกล่าวถึงคือ  เจดีย์ที่สร้างขึ้นบนเรือสำเภาจำลองที่วัดยานนาวา หากพิจารณาดูแล้ว นับว่าเป็นของแปลกสำหรับงานออกแบบพุทธสถาปัตยกรรมในสมัยนั้น เหตุแห่งการสร้างเจดีย์ให้อยู่บนเรือสำเภา เป็นพระราชดำริในรัชกาลที่ 3 ด้วยทรงเห็นว่าอีกหน่อยเรือสำเภาจะไม่มีใช้ในอนาคต ทำไว้ให้ลูกหลานได้เห็นต่อไปในภายหน้า  ทั้งมีคติอันเนื่องด้วยสำเภาเป็นดุจดั่งนาวาพาข้ามพ้นวัฏสงสาร โดยในประวัติเดิมพบว่าทรงสร้างพระเวสสันดรโพธิสัตว์ และกัญหาชาลีประดิษฐานไว้ด้วย (แต่ปัจจุบันไม่พบแล้ว) อันอาจมีความหมายโดยนัยถึงการบำเพ็ญบารมีของพระเวสสันดร งานชิ้นนี้อาจถือได้ว่าเป็นการสร้างของแปลกในพุทธสถานในยุคแรกๆ ของกรุงรัตนโกสินทร์เลยก็ว่าได้ (ยังมีวัดบางแห่งที่สร้างเจดีย์ในเรือสำเภานี้เช่นกัน เสมือนว่าเป็นกระแสนิยมเฉพาะกิจในเวลานั้น หรืออาจเป็นเพราะขุนนางผู้ใหญ่ที่สร้างวัด ต้องการให้เป็นที่พอพระราชหฤทัยก็อาจเป็นได้ ดังคำกล่าวที่ว่าสมัยนั้นใครสร้างวัดจะเป็นคนโปรดของพระองค์ท่าน[4] )

ภาพ    : เจดีย์บนเรือสำเภาจำลอง วัดยานนาวา  กรุงเทพฯ

ที่มาภาพ : วิกิพีเดีย https://th.wikipedia.org/wiki/วัดยานนาวา

แม้ว่าเจดีย์ที่สร้างขึ้นนี้จะมีความแปลกตา แต่แนวคิดในการออกแบบก่อสร้าง ยังผูกอยู่กับสาระธรรมทางพุทธศาสนา ทั้งแนวคิดนาวาที่พาให้ข้ามวัฏสงสาร กับเรื่องของพระเวสสันดรโพธิสัตว์ซึ่งบำเพ็ญบารมี  การสร้างของแปลกจึงไม่ได้ประหลาดหรือตัดขาดจากคติธรรมอันเกี่ยวเนื่องกับพระพุทธศาสนาแต่อย่างใด และรูปแบบดังกล่าวก็มิได้เป็นแบบแผนสำคัญของการสร้างวัดในเวลาต่อมาด้วยเช่นกัน เป็นแบบเฉพาะกิจที่มีในขณะเวลานั้น หากพิจารณาอย่างตรงไปตรงมา รูปแบบของเจดีย์บนสำเภานี้ ถือเป็นวัดนอกแบบชนิดหนึ่ง ที่เจตนาแท้จริงคือการสร้างพิพิธภัณฑ์กลางแจ้งให้ชนรุ่นหลังได้เห็นเท่านั้นเอง พระองค์ท่านมิได้มีพระราชประสงค์จะให้วัดต่างๆ ต้องมาสร้างเจดีย์ในลักษณะเดียวกันนี้ เนื่องจากรูปแบบดังกล่าวหาได้เป็นลักษณะเจดีย์ที่ตรงกับคติและแบบแผนแห่งการออกแบบ และไม่ปรากฏการสร้างต่อมาอีกเลย

สิ่งที่โดดเด่นในสมัยรัชกาลที่ 3 นี้ นอกเหนือจากที่ปรากฏเป็นอิทธิพลจีนดังที่เห็นโดยรูปลักษณ์แล้ว จะมีความโดดเด่นในเรื่องของการวางองค์ประกอบอาคารสำคัญสามหลังในเขตพุทธาวาสด้วยเช่นกัน โดยมักจะจะวางอาคารในแนวแกนดิ่งถึงสามแกน  โดยอาจจะตรงกันหรือไม่ตรงกันในแนวแกนราบเดียวกันก็ได้ และอาจจะมีเจดีย์อยู่ในแนวแกนหลักหรือไม่มีก็ได้ ตัวอย่างเช่นที่วัดเทพธิดาราม มีการวางตำแหน่งเรียงอาคารทั้งสามแกนดิ่งเป็น พระวิหาร พระอุโบสถ และศาลาการเปรียญ เป็นต้น บางวัดอาจมิได้มีศาลาการเปรียญ แต่ก็จะมีองค์ประกอบอื่นจัดวางให้มีลักษณะแนวแกนสำคัญในแนวแกนดิ่ง ให้ปรากฏเป็นลักษณะสามแกนในทำนองเดียวกัน ซึ่งนับเป็นแบบแผนของการก่อสร้างวางผังพระอารามแห่งยุคสมัยที่ชัดเจนอย่างยิ่ง (สำหรับวัดราชโอรสาราม เป็นวัดประจำรัชกาล ที่มีผังในทำนองเดียวกัน แต่มีความซับซ้อนในผังรวมมากกว่าวัดอื่นๆ เนื่องจากเป็นวัดประจำรัชกาล)  

ภาพ ซ้าย  : แสดงผังเขตพุทธาวาสวัดเทพธิดาราม ที่มีการวางผังอาคารสำคัญในลักษณะสามแกนดิ่ง

ที่มาภาพซ้าย : ปิยะมาศ สุขพับพลา, วิทยานิพนธ์ การศึกษาเปรียบเทียบสถาปัตยกรรมพระอารามหลวงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว กรณีศึกษาวัดเทพธิดาราม วัดราชนัดดาราม วัดเฉลิมพระเกียรติวรวิหาร,ปีการศึกษา 2546,55.

ภาพ ขวา   : แสดงผังเขตพุทธาวาส วัดราชโอรสาราม วางผังอาคารสำคัญในแนวแกนที่มีความซับซ้อน

ที่มาภาพขวา : สิริเดช วังกรานต์ , การศึกษาการออกแบบวิหารพระนอนปางสีหไสยา สมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ถึงสมัยรัชกาลที่ 4 ในวารสาร หน้าจั่ว ฉบับที่ 13 ,2559, 279.

ความน่าสนใจอีกประการหนึ่งคือ การสร้างปรางค์มุมกำแพงเขตพุทธาวาสของวัดเทพธิดาราม ที่ยกฐานสูงเปิดเป็นห้องด้านล่าง นับเป็นจุดเริ่มต้นแห่งความเคลื่อนไหวแห่งการออกแบบเจดีย์ตั้งบนฐานรับ ที่สามารถเข้าไปใช้งานภายในส่วนฐานได้

ภาพ  : วัดเทพธิดารามวรวิหาร  กรุงเทพฯ

ที่มาภาพ : วิกิพีเดีย https://th.wikipedia.org/wiki/วัดเทพธิดาราม

เมื่อเข้าสู่ยุคสมัยรัชกาลที่ 4 จึงเริ่มเห็นความชัดเจนสองประการในงานสถาปัตยกรรมไทย คือทั้งการกลับไปรักษาแบบแผนทางการก่อสร้างงานสถาปัตยกรรมไทยแบบประเพณีเดิม เช่น การสร้างวัดราชประดิษฐ์สถิตมหาสีมาราม เป็นวัดประจำรัชกาล ซึ่งถือเอาแบบแผนการสร้างสรรค์ตามคตินิยมแบบประเพณีเป็นสำคัญ คือการสร้างพระอุโบสถด้านหน้า และพระเจดีย์ด้านหลัง ในแนวแกนหลักสำคัญเดียวกัน เป็นต้น  รวมถึงมีการเริ่มรับอิทธิพลของสถาปัตยกรรมแบบตะวันตกเข้ามาผสมผสาน แต่ก็ยังไม่สมบูรณ์นัก ดังปรากฏการสร้าง พระที่นั่งในพระบรมมหาราชวังบางหลังเช่น พระอภิเนาว์นิเวศน์ พระราชมณเฑียร ที่ทรงให้สร้างอย่างตะวันตก  และการสร้างพระราชวังสำหรับแปรพระราชฐาน ณ พระนครคีรี ที่เพชรบุรี เป็นต้น เนื่องจากเป็นความพยามสร้างตามอย่างตะวันตก โดยยังไม่มีสถาปนิกหรือช่างในงานก่อสร้างแบบงานตะวันตกเป็นการจำเพาะที่เป็นผู้เชี่ยวชาญโดยตรง

ภาพ : วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม ราชวรวิหาร วัดประจำรัชกาลที่ 4 สร้างตามคติแบบแผนประเพณีนิยม

ที่มาภาพ : วิกิพีเดีย https://th.wikipedia.org/wiki/วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม ราชวรวิหาร

 ภาพ ซ้าย  : พระที่นั่งภูวดลทัศไนยในหมู่พระอภิเนาว์นิเวศ พระบรมมหาราชวัง สมัยรัชกาลที่ 4

ที่มาภาพ ซ้าย  : วิกิพีเดีย https://th.wikipedia.org/wiki/พระอภิเนาว์นิเวศน์

ภาพ ขวา  : พระนครคีรี จ.เพชรบุรี ที่มีรูปแบบสถาปัตยกรรมแบบตะวันตกผสมผสาน

ที่มาภาพ ขวา : วิกิพีเดีย https://th.wikipedia.org/wiki/อุทยานประวัติศาสตร์พระนครคีรี

แต่นี่คือจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงของงานสถาปัตยกรรมสำคัญในประเทศ ที่มีรูปแบบอย่างตะวันตกในเวลาต่อมา   สิ่งที่น่าสังเกตประการหนึ่งคือ งานจิตรกรรมไทยในช่วงนั้น ได้มีจิตรกรคนสำคัญคือ “ขรัวอินโข่ง”  ได้เริ่มวาดภาพแบบไทยผสมกับตะวันตกแล้ว คือมีความเสมือนจริง มีแสงเงา มีมิติในภาพมากขึ้น และเนื้อหาที่นำเสนอก็มีความแปลกใหม่ไปจากงานแบบประเพณี  นับเป็นก้าวแรกแห่งพัฒนาการของงานจิตรกรรม ทั้งรูปแบบและแนวคิด อันเป็นศิลปกรรมสำคัญส่วนหนึ่งของงานสถาปัตยกรรมไทย ที่จะได้รับการต่อยอดต่อไปนับจากนี้

ภาพ : ภาพวาดของขรัวอินโข่ง ที่วัดบรมนิวาศ ราชวรวิหาร กรุงเทพฯ ที่วาดแบบอิทธิพลตะวันตก

ที่มาภาพขวา : วิกิพีเดีย https://th.wikipedia.org/wiki/ขรัวอินโข่ง

สมัยรัชกาลที่ 5 จะเห็นได้ว่างานสถาปัตยกรรมไทยในส่วนที่เกี่ยวเนื่องกับบุคคลชั้นสูงและการปกครอง เป็นการรับความรู้ทั้ง รูปแบบ เทคนิคและวิธีการมาจากชาวต่างชาติโดยตรง อาคารสำคัญสำหรับส่วนราชการในขณะนั้นมีการสร้างขึ้นในลักษณะอย่างตะวันตก ซึ่งมีสถาปนิกต่างชาติเข้ามาทำงานทั้งในส่วนของการออกแบบและดูแลงานก่อสร้างโดยตรง ชาวไทยจึงได้เรียนรู้งานออกแบบก่อสร้างที่เป็นลักษณะตะวันตกในช่วงเวลานี้ ส่วนงานสถาปัตยกรรมไทย ประเภทพุทธสถาปัตยกรรมได้เกิดการออกแบบในลักษณะงานประเพณีที่มีความสร้างสรรค์แบบใหม่มากขึ้นโดยสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ หรือที่รู้จักกันดีในนาม “สมเด็จครู”  ผู้ซึ่งทำงานเป็นสถาปนิก ออกแบบนอกเวลา เพราะหาได้เป็นตำแหน่งแท้จริงในการทำงาน แต่สิ่งที่ท่านทำเป็นประจักษ์พยานแห่งความเป็นศิลปินโดยแท้ ดังปรากฏผลงานทางด้านสถาปัตกรรมไทยในกลุ่มวัดและวังหลายชิ้นที่ทั้งงดงาม ก้าวหน้า โดยไม่ทิ้งรากทางวัฒนธรรมไทย อาทิ วัดเบญจมบพิตร , วัดราชาธิวาส เป็นต้น นอกจากนั้นงานออกแบบใหม่ ยังคงรักษาปรัชญาแห่งการสร้างสรรค์พุทธสถาปัตยกรรมไว้ได้อย่างเป็นเลิศ ผู้เขียนขอกล่าวว่าเป็นงานนอกอย่างหลายประการ แต่หาได้เป็นงานที่หลุดไปจากปรัชญาของการออกแบบ ด้วยความที่พระองค์ท่านทรงเป็นปราชญ์แห่งงานศิลปะอย่างแท้จริง

 ภาพ : สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ หรือสมเด็จครู นายช่างใหญ่แห่งกรุงสยาม

ที่มาภาพขวา : วิกิพีเดีย https://th.wikipedia.org/wiki/สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ_เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์

และด้วยเหตุการณ์บ้านเมืองที่มีสถาปนิกและนายช่างชาวฝรั่งเข้ามาทำงานเป็นจำนวนมาก สมเด็จครูจึงได้มีโอกาสเรียนรู้เทคนิควิธีการทำงานของชาวตะวันตก โดยมีการนำมาประยุกต์ให้งานออกแบบอันเกี่ยวเนื่องกับงานสถาปัตยกรรมไทยพัฒนาอย่างคู่ขนานไปกับองค์ความรู้แบบตะวันตกนี้ด้วย นอกเหนือจากวัสดุจำพวกเหล็กและคอนกรีตที่ใช้ในการก่อสร้างหลักแล้ว วัสดุตกแต่งจำพวก กระจกสี หรือหินอ่อน รวมถึงงานแกะสลักศิลปกรรมด้วยฝีมือช่างตะวันตกโดยตรง ก็ทรงนำมาใช้ในงานสถาปัยตยกรรมไทยด้วยเช่นกัน ทั้งนี้มิเพียงแต่สมเด็จครูจะทรงมีโอกาสได้เรียนรู้วิทยาการจากชาติตะวันตกเท่านั้น ที่ทำให้งานพัฒนาก้าวหน้าไปได้ สิ่งสำคัญคือความคิดของท่านเอง ที่มีความแยบคายในการเลือกรับปรับใช้ และนำเสนอสิ่งที่ทำให้งานสถาปัตยกรรมไทยได้วิวัฒน์ โดยไม่ใช่การลอกเลียนแบบไปอย่างขาดความเข้าใจ  งานจิตรกรรมในยุคนี้นับว่ามีความโดดเด่นและก้าวหน้าไปอีกขั้น ดังตัวอย่างที่เห็นได้จากจิตรกรรมฝาผนังวัดราชาธิวาส โดยเป็นภาพจิตรกรรมไทยที่มีกายวิภาคของบุคคลในภาพอย่างฝรั่ง มิติภาพ สีสัน ล้วนแต่เป็นการสร้างความก้าวหน้าแก่งานออกแบบเชิงสร้างสรรค์ โดยไม่ทิ้งฐานแห่งรากวัฒนธรรมเดิม จนเกิดเป็นจิตรกรรมไทยมิติใหม่ อย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน

ภาพ : วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม ราชวรวิหาร  กรุงเทพฯ

ภาพ : วัดราชาธิวาสราชวรวิหาร  กรุงเทพฯ

ที่มาภาพ : วิกิพีเดีย https://th.wikipedia.org/wiki/วัดราชาธิวาสราชวรวิหาร

วัดประจำรัชกาลที่ 5 คือวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม ซึ่งโดดเด่นด้วยการประดับผิวอาคารด้วยกระเบื้องเคลือบที่แม้จะมีการใช้งานวัสดุชนิดนี้มาก่อนหน้าแล้ว แต่ได้รับการพัฒนาขึ้นสู่จุดสูงสุด ณ ยุคสมัยนี้เอง การออกแบบก่อสร้างนับว่าเป็นวัดตามแบบแผนคตินิยม สืบต่อจากสมัยรัชกาลที่ 4 กล่าวคือทรงนำแบบผังวัดพระปฐมเจดีย์ที่พระบรมราชชนกทรงสร้างมาเป็นแบบตั้งต้นทางความคิด และออกแบบให้อยู่ในกรอบพื้นที่จำกัด แต่มีความโดดเด่นด้วยการกำหนดให้องค์เจดีย์ซึ่งเป็นประธานสำคัญของผังตั้งอยู่บนฐานยกสูง ซึ่งผู้เขียนคาดว่าน่าจะเป็นอิทธิพลจากงานก่อสร้างของชาติตะวันตกที่พระองค์ท่านทรงนำมาปรับใช้  เรายังพบเห็นการออกแบบก่อสร้างในลักษณะเดียวกันนี้ได้อีกเช่นที่ วัดอัษฏางคนิมิต บนเกาะสีชัง มีการออกแบบโดยนำองค์เจดีย์ไปเทินอยู่บนฐานอาคารด้านล่างซึ่งเป็นพระอุโบสถ นับเป็นการซ้อนรวมฟังก์ชันการใช้งานอันเสมือนเป็นจุดเริ่มต้นของการหลอมรวมฟังก์ชั่นหลายๆ อย่างเข้าไว้ด้วยกันในอาคารเดียว และนำไปสู่การพัฒนาการของงานสถาปัตยกรรมไทยประเภทวัดวาอารามที่จะมีความซับซ้อนของการใช้งานหลายฟังก์ชันในหลังเดียวกันในเวลาต่อมาภายหลัง  ทั้งนี้ได้เคยตั้งข้อสังเกตสำคัญไว้ ว่ามีการออกแบบปรางค์ตั้งบนฐานรับ ที่เปิดพื้นที่ชั้นล่างให้คนเข้าไปได้ ในสมัยรัชกาลที่ 3 คือที่วัดเทพธิดาราม ซึ่งนั่นอาจเป็นจุดเริ่มต้นแห่งการออกแบบเจดีย์ ที่ถูกยกเทินขึ้นบนชุดฐานที่เปิดเป็นห้องดังที่ปรากฏในวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม และวัดอัษฏางคนิมิตรนี้ต่อมานั่นเอง

ภาพ : วัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร  กรุงเทพฯ

ภาพ ซ้าย  : วัดพระปฐมเจดีย์ ดำริสร้างในสมัยรัชกาลที่ 4 ที่เป็นการวางผังตามแบบประเพณีนิยม

ที่มาภาพ : วิกิพีเดีย https://th.wikipedia.org/wiki/วัดพระปฐมเจดีย์ราชวรมหาวิหาร

ภาพ ขวา  : วัดอัษฏางคนิมิต บนเกาะสีชัง จ.ชลบุรี ที่มีการผนวกรวมอุโบสถและเจดีย์เข้าไว้ด้วยกัน

ที่มาภาพ : ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร ใน https://db.sac.or.th/inscriptions/inscribe/detail/888

วัดสำคัญอีกแห่งหนึ่งที่จะนำมาพิจารณาในที่นี้คือ วัดนิเวศธรรมประวัติ ซึ่งมีรูปแบบทางสถาปัตยกรรมเป็นอิทธิพลอย่างตะวันตก(แบบโกธิค)  ซึ่งพระองค์ท่านมีพระราชดำริในการสร้างวัดนี้ด้วยต้องมีพระราชประสงค์ให้เป็นการสร้างวัดแปลกใหม่ให้คนไทยเห็น  การสร้างวัดแห่งนี้ในความคิดของผู้เขียน เห็นว่ามีความคล้ายคลึงกับการสร้างเจดีย์บนเรือสำเภาของวัดยานนาวา ในสมัยรัชกาลที่ 3 ในทำนองเดียวกันที่ว่า สร้างของแปลก ให้แก่พระพุทธศาสนา และเป็นงานที่มีเพียงชิ้นเดียวด้วยเช่นกัน   โดยทรงมีพระราชประสงค์ที่จะให้คนไทยได้เห็นของแปลก คือวัดแบบฝรั่ง (ข้อมูลนี้ปรากฏเป็นจารึกอยู่ภายในพระอุโบสถ)

ภาพ  : วัดนิเวศธรรมประวัติราชวรวิหาร อ.บางปะอิน จ.พระนครศรีอยุธยา

สภาพทางสังคมและวัฒนธรรมในช่วงเวลานั้น ย่อมมีบทบาทสำคัญต่อแนวคิดในการออกแบบดังกล่าว แต่ทั้งตัวงานที่ปรากฏกับความรู้สึกที่มีต่อชิ้นงานกลับไม่เกิดความแปลกแยกจากความเป็นศาสนสถานเลย ทั้งยังสมบูรณ์ด้วยคุณค่าทางศิลปกรรมอย่างไม่อาจปฏิเสธได้  ซึ่งนี่อาจเป็นตัวอย่างหนึ่งแห่งความคิดในการออกแบบเชิงสร้างสรรค์ ที่มิใช่ทำของแปลกให้กลายเป็นของประหลาด แต่ทำของแปลกให้กลมกลืนไปกับพุทธวัฒนธรรม เป็นตัวอย่างแห่งความแยบคายแห่งการสร้างสรรค์ และเกิดคุณค่าทั้งทางพุทธสถานและหลักแห่งศิลปสถาปัตยกรรมได้อย่างกลมกลืน นับได้ว่าเป็นการออกแบบที่มีความเข้าใจในศาสตร์และศิลป์เป็นอย่างดี (ทำให้ของแปลกใหม่ ไม่กลายเป็นของประหลาดสำหรับพุทธสถาน)

สมัยรัชกาลที่ 6 และสมัยรัชกาลที่ 7 งานก่อสร้างสถาปัตยกรรมไทยได้ลดลงตามภาวการณ์ทางสังคมและเศรษฐกิจ โดยเฉพาะกรีพิพาทกับชาติตะวันตกสมัยรัชกาลที่ 5 เราแทบไม่เหลือเงินท้องพระคลัง และเนื่องจากทรงเห็นว่าบ้านเมืองต้องพัฒนาให้ทัดเทียมกับชาติตะวันตก เพื่อรองรับกิจราชการแบบใหม่ๆ  จึงได้เน้นสร้างโรงเรียน และส่วนราชการอื่นๆ ซึ่งมีความสำคัญต่อการพัฒนาประเทศอย่างเร่งด่วนขึ้นมาแทน

เมื่อเปลี่ยนระบบการปกครองบ้านเมือง จากระบบสมบูรณาญาสิทธิราช มาเป็นการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข พระเจ้าแผ่นดินมิได้ทำการก่อสร้างงานสถาปัตยกรรมไทยจำพวกวัดวาอารามใดๆ โดยตรงอีกเลยจวบจนกระทั่งปัจจุบัน (รัชกาลที่ 10) แม้ว่าจะไม่มีการสร้างวัดวาอารามโดยตรงของพระเจ้าแผ่นดินนับแต่การเปลี่ยนแปลงการปกครอง ในสมัยรัชกาลที่ 7 มาแล้วก็ตาม แต่พระมหากษัตริย์อาจมีความเกี่ยวข้องกับการสร้าง ซ่อม หรือบูรณะปฏิสังขรณ์งานเดิมที่สำคัญๆ หรืองานในส่วนที่พระองค์ท่านเป็นผู้เกี่ยวข้องโดยตำแหน่ง อาทิ การซ่อมแซมวัดพระแก้ว หรือการซ่อมแซมวัดหลวงสำคัญๆอีกหลายแห่ง โดยบางช่วงดำเนินการโดยสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ และอาจมีพระราชดำริในงานบางชิ้นที่จัดสร้างขึ้นโดยภาครัฐหรือภาคเอกชนเพื่อน้อมถวายเป็นพระราชกุศล  บทบาทที่ลดลงนี้เนื่องจากพระราชอำนาจที่เปลี่ยนแปลงไป ประกอบกับความไม่แน่นอนทางการเมือง ส่งผลต่อสถานะของพระมหากษัตริย์ ที่อยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบบการบริหารราชการแผ่นดินแบบใหม่ จวบจนกระทั่งถึงรัชกาลที่ 9 บ้านเมืองเริ่มเข้าสู่สภาวะที่มีสเถียรภาพมากขึ้น จึงทำให้บทบาทของพระมหากษัตริย์เริ่มกลับมามีความสำคัญต่อแวดวงงานสถาปัตยกรรมไทยจำพวกวัดวาอารามมากขึ้น ซึ่งเกิดขึ้นไปพร้อมๆ กับพระราชภารกิจในการดูแลทุกข์สุขของอาณาประชาราษฎร์ ให้สามารถมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งประชาชนที่อยู่ในถิ่นทุรกันดารต่างๆ ผ่านโครงการพระราชดำริมากมายทั่วประเทศ อันนับได้ว่าเป็นบทบาทที่สำคัญยิ่งกว่าสิ่งอื่นใด ที่พระมหากษัตริย์ทรงมีต่อปวงชนชาวไทยทั้งปวง ซึ่งพัฒนาการของงานสถาปัตยกรรมไทย ก็ได้เกิดการพัฒนาไปตามสภาพสังคมเศรษฐกิจวัฒนธรรมนี้ด้วย

บทบาทของพระมหากษัตริย์กับงานสถาปัตยกรรมไทยในปัจจุบัน

สมัยรัชกาลที่ 9 เป็นช่วงที่เกิดงานสร้างสรรค์สถาปัตยกรรมไทยสืบต่อมาจากครั้งสมเด็จครู ซึ่งได้เริ่มทำงานออกแบบผสมผสานทางวัฒนธรรมที่หลากหลายและแยบคาย แม้ว่าพระมหากษัตริย์จะมิได้มีพระราชอำนาจในการสร้างสรรค์งานสถาปัตยกรรมไทยในแบบที่เคยเป็นมา แต่บทบาทของพระเจ้าแผ่นดินที่เกี่ยวเนื่องกับพุทธสถานนั้นก็ไม่เคยหายไป แต่เป็นไปในลักษณะของการสนับสนุนงานทางด้านพุทธสถาปัตยกรรมไทยทางอ้อมแทน[5]  โดยบทบาทจะเป็นไปในลักษณะที่พระองค์ทรงมีพระราชดำริ หรือมีพระราชวินิจฉัยในงานเท่านั้น หากเป็นงานที่เนื่องในพระองค์ท่าน รูปแบบสถาปัตยกรรมไทยดังกล่าว ยังคงรักษาแบบแผนงานช่างไทยที่เปี่ยมด้วยมรดกคุณค่าทางวัฒนธรรมไว้ได้ดังเดิม การมีพระราชวินิจฉัยในงานสถาปัตยกรรมไทย จึงถือเป็นการมีส่วนแห่งการสร้างสรรค์ ธำรงรักษา ศิลปะสถาปัตยกรรมไทยให้เป็นไปในลักษณะพระราชประเพณีอันดีงามดั่งอดีต เพียงแต่รูปแบบการทรงงานต่างไปจากเดิม แต่ได้มีพระราชดำริสำคัญต่องานออกแบบอย่างชัดเจน ส่งผลให้การออกแบบก่อสร้างเป็นไปตามพระราชประสงค์ได้ และอาจกล่าวได้ว่าเป็นผลงานที่พระองค์ท่านทรงมีส่วนร่วมในการออกแบบโดยตรง[6] สิ่งสำคัญคือทรงมีความใส่พระราชหฤทัยกับมรดกสถาปัตยกรรมไทยอันเป็นวัฒนธรรมสำคัญของชาติแขนงนี้อย่างยิ่ง ครั้งหนึ่งผู้เขียนได้รับทราบจากครูอาจารย์ว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช  รัชกาลที่ 9 ท่านทรงรับสั่งว่า งานสถาปัตยกรรมไทยเป็นหนึ่งในโลก (หมายความถึงมีคุณค่าเทียบเท่ากับมรดกทางวัฒนธรรมด้านสถาปัตยกรรมของประเทศอื่น ๆ -ความเห็นผู้เขียน) ทรงมีพระราชดำริถึงความงามในงานสถาปัตยกรรมไทย ว่าแบบไหนเหมาะสม แบบไหนควรปรับแก้ไข แสดงถึงพระราชอัจฉริยภาพอันสำคัญในด้านงานสถาปัตยกรรมไทย ที่แม้บางครั้งสถาปนิกทั่วไปอาจไม่ทราบ  คุณค่ามรดกทางวัฒนธรรมในงานชนิดนี้ ชาวไทยจึงควรรักษา สืบสาน และสร้างสรรค์สืบไป อย่าได้คิดว่าเป็นของล้าสมัย เพราะนี่คือจิตวิญญาณแห่งชาติไทยในรูปแบบที่จับต้องได้อย่างแท้จริง และแสดงถึงภูมิปัญญาของชาติอย่างชัดเจนมากที่สุดชนิดหนึ่ง ควรที่ชาวไทยทุกคนจะได้ภาคภูมิใจ แม้ประเทศเกิดใหม่ทั้งหลายซึ่งเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว ก็ไม่อาจเสกสร้างมรดกทางวัฒนธรรมดังกล่าวนี้ขึ้นมาได้ เพราะสิ่งนี้ต้องอาศัยการสั่งสมบ่มเพาะ และพัฒนาสืบต่อกันมาจนเกิดเป็นผลลัพธ์ของงานออกแบบทางวัฒนธรรม อันเป็นที่ยอมรับของสังคมชุมชน  ขยายขอบเขตจากมรดกทางวัฒนธรรมของชาติ ไปเป็นมรดกทางวัฒนธรรมสำคัญของโลกในที่สุด คุณค่าของงานสถาปัตยกรรมไทย ไม่ใช่สิ่งที่เราจะกำหนดให้ต่างชาติมาเห็นความสำคัญอย่างใดได้  แต่เกิดขึ้นจากการเห็นถึงคุณค่าแท้จริงซึ่งมีอยู่ในตัวงานเหล่านั้นอย่างไม่อาจปฏิเสธได้ งานสถาปัตยกรรมประจำชาติใดๆ ล้วนมีการสั่งสมบ่มเพาะผ่านระยะเวลา ให้งอกงาม ส่งต่อ และต่อยอดการออกแบบสร้างสรรค์โดยไม่ขาดสาย เป็นทั้งอัตตลักษณ์และเอกลักษณ์ที่ไม่อาจแย่งไปจากผู้รังสรรค์ได้ เป็นที่ยอมรับโดยสากลถึงภูมิปัญญาในการออกแบบสร้างสรรค์ที่มีเสมอกันทุกชนชาติทุกวัฒนธรรม  

พระปรีชาสามารถในด้านงานสถาปัตยกรรมไทย ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ทรงมีนั้น เป็นสิ่งที่ชาวไทยโดยทั่วไปอาจไม่ทราบ จะทราบได้ก็แต่เพียงสถาปนิกที่ได้มีโอกาสถวายงานพระองค์ท่าน  แม้ว่าจะมิได้รับสั่งในการก่อสร้างโดยตรงดังพระมหากษัตริย์ไทยในอดีต แต่ทรงมีส่วนแห่งการกำหนดแนวทางการออกแบบ ทั้งงานออกแบบก่อสร้างใหม่ และงานบูรณปฏิสังขรณ์ เฉพาะอย่างยิ่งงานที่มีพระราชดำริในงานนั้นๆ  ได้แสดงถึงพระอัจฉริยภาพสำคัญ ที่ทรงมีต่อการออกแบบสร้างสรรค์งานสถาปัตยกรรมไทยอย่างชัดเจน และยังทรงมีส่วนกำหนดทิศทางในการออกแบบอันเป็นการต่อยอดให้แก่พัฒนาการของงานออกแบบสถาปัตยกรรมไทยอีกด้วยเช่นกัน โดยมหาวิทยาลัยศิลปากรได้เห็นถึงพระอัจฉริยภาพดังกล่าว จึงได้ทำหนังสือเพื่อเผยแพร่พระอัจฉริยภาพในงานสถาปัตยกรรมไทยเป็นการเฉพาะขึ้นเพื่อให้มีหลักฐานเป็นที่ประจักษ์ อธิบายถึงเหตุผลแห่งการนำไปสู่การขอทูลเกล้าถวายปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ ในสาขาสถาปัตยกรรมไทย แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 เมื่อปี  พ.ศ.2548 เพื่อเทอดพระเกียรติและเผยแพร่แนวพระราชดำริที่มีทั้งในแง่การออกแบบ สังคมเศรษฐกิจ การเมืองการปกครอง ที่ส่งผลต่อรูปแบบและรายละเอียดทางสถาปัตยกรรมไทย อาทิ การออกแบบพระมหาธาตุเฉลิมราชศรัทธา วัดไทยกุสินาราเฉลิมราชย์ ณ เมืองกุสินารา สาธรารณรัฐอินเดีย ที่สื่อให้เห็นถึง ความสมบูรณ์แบบทางด้านงานออกแบบสถาปัตยกรรมไทย สามารถอยู่บนฐานของความพอเพียงได้อย่างสมพระเกียรติ และถือเป็นเจดีย์ 9 ยอดบนฐานเดียวกัน และเป็นเจดีย์ระบบแบบแกนคู่ ชุดแรกของไทยซึ่งไม่เคยมีมาก่อนในประวัติศาสตร์งานสถาปัตยกรรมไทยทุกยุคทุกสมัย[7]  อ่านออนไลน์ได้ที่  http://www.resource.lib.su.ac.th/objects/resource/ebook1584/e-book/

ภาพ : พระมหาธาตุเฉลิมราชศรัทธา วัดไทยกุสินาราเฉลิมราชย์ สาธารณรัฐอินเดีย

จากหนังสือเล่มดังกล่าวนี้ แสดงให้เห็นได้ชัดเจนถึงพระอัจฉริยภาพในพระองค์ท่านที่มีต่องานสถาปัตยกรรมไทย ที่มีทั้งส่วนที่เป็นในด้านการเมือง การปกครอง อันแฝงอยู่โดยนัยแห่งการออกแบบก่อสร้างชิ้นงานนั้น และรวมถึง ทรงตรวจแก้ไขแบบที่สถาปนิกร่างถวายทอดพระเนตร โดยทรงมีเหตุผลแห่งการปรับแก้ไข ทั้งในทางการใช้งาน และศาสตร์แห่งความงามทางศิลปะสถาปัตยกรรมไทย ครบสมบูรณ์


[1] อ่านข้อมูล เพิ่มเติมได้ใน ประกิจ ลัคนผจง , สถาปัตกรรมไทย คุณค่าคู่สังคม ใน ปริภูมิคดี ฉบับที่ 1 ,จุลสารสถาบันศิลปสถาปัตยกรรมไทย จัดทำโดยคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัย,(มกราคม-มิถุนายน 2554) ,26-27.

[2] อ้างอิงจาก www.finearts.go.th หรือดูที่  https://shorturl.asia/CMxy3

[3]  นายมี มหาดเล็ก, กลอนเพลงยาวสรรเสริญพระเกียติพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (กรุงเทพฯ : อมรินทร์ พริ้นติ้ง กรุ๊ฟ ,2530), 39.

[4]  ไขแสง ศุขะวัฒนะ, วัดพุทธศาสนาที่ได้รับอิทธิพลจีนในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์. (กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย,2526),9.

[5] อ่านเพิ่มเติมได้ใน  ประกิจ ลัคนผจง, สถาปัตกรรมไทย พระมหากษัตริย์กับงานพุทธศิลปะสถาปัตยกรรม  ใน ปริภูมิคดี ฉบับที่ 2 ,จุลสารสถาบันศิลปสถาปัตยกรรมไทย  จัดทำโดยคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์,มหาวิทยาลัยศิลปากร , (กรกฏาคม-ธันวาคม 2554),6-11.

[6] อ่านเพิ่มเติมได้ใน ประกิจ ลัคนผจง และคนอื่นๆ  , พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกับสถาปัตยกรรมไทย ,จัดพิมพ์เนื่องในโอกาสที่มหาวิทยาลัยศิลปากรขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตทูลเกล้าฯ ถวายปริญญาสถาปัตยกรรมศาสตรดุษฏีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาสถาปัตยกรรมไทย ประจำปีการศึกษา 2547 แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช,2548.

[7] เล่มเดิม.


ข้อมูล : ประกิจ ลัคนผจง

ข้อมูลข้างต้น นำมาจากการทำรายงานเพิ่มเติม จากการส่งผลงานออกแบบเพื่อขอเลื่อนระดับวิชาชีพสถาปนิกจากชั้นภาคีไปเป็นชั้นสามัญ โดยยื่นเรื่องเสนอต่อสภาสถาปนิก เมื่อเดือนกันยายน พ.ศ.2565 ได้รับการสอบสัมภาษณ์เดือนธันวาคม พ.ศ.2565 (สภาสถาปนิกให้ทำรายงานประกอบผลงานเพิ่มเติม ส่งรายงานครั้งแรก เดือนตุลาคม พ.ศ.2566 มีการขอให้แก้ไขรายงานและส่งใหม่อีกครั้งในเดือนเมษายน พ.ศ.2567) ได้รับพิจารณาเลื่อนขั้นพฤษภาคม พ.ศ.2567 และรับใบอนุญาต สิงหาคม พ.ศ.2567

TAG: