การออกแบบสถาปัตยกรรมไทย มุ่งสู่ความดี

การออกแบบสถาปัตยกรรมไทย มุ่งสู่ความดี

Home » Talk Thai Arch » การออกแบบสถาปัตยกรรมไทย มุ่งสู่ความดี

ทำไมจึงกล่าวว่า การออกแบบสถาปัตยกรรมไทย มุ่งสู่ความดี สถาปัตยกรรมไทยเป็นงานออกแบบที่รับใช้สถาบัน ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ มานับแต่อดีตกาล ย้อนไปนับเป็นพันปีล่วงมาแล้ว ความเป็นชาติ หรืออู่อารยธรรมสำคัญ มีความมั่นคงถาวรสืบมาได้ ก็ด้วย ความสามัคคีของชนในชาติ ซึ่งถูกร้อยรวมเข้าด้วยกันผ่านความคิดความเชื่อเดียวกัน นั่นก็คือพุทธศาสนาอันเป็นหลักยึดแห่งการสร้างคุณงามความดี เพื่อบ่มเพาะให้ผู้คนดำรงตนอยู่ในความดี หรืออย่างน้อยก็อยู่ในขนบประเพณีอันเป็นความดีงามที่สังคมยอมรับ เมื่อผู้คนมีความดีเป็นหน่วยย่อยๆ มีโลกทัศน์และชีวทัศน์ไปในทิศทางเดียวกัน มีความสงบสามัคคีร่วมกัน นั่นย่อมทำให้ชาติมีความมั่นคง เป็นฐานอันนำไปสู่ความเจริญ

ถาวรวัตถุทางพุทธศาสนา ได้รับการสร้างสรรค์ขึ้นเป็นหลักโดยสถาบันพระมหากษัตริย์ รูปแบบศิลปกรรมได้รับการถ่ายทอดสั่งสมมาจากต้นกำเนิดอู่อารยธรรมทั้งความคิดความเชื่อทางศาสนานั้นเอง รวมถึงผนวกเข้ากับ ศิลปะสถาปัตยกรรมใกล้เคียงที่เข้ากับวิถีความคิดความเชื่อที่เรามี จึงสามารถผสมกลมกลืนเข้ากันได้ แต่อย่างไรก็ดี นี่นับเป็นพฤติกรรมประการหนึ่งของวัฒนธรรม ที่ย่อมมีการแลกรับปรับเปลี่ยนเป็นปกติ เพื่อก่อให้เกิดพลวัตแห่งความงอกงาม แต่ยังต้องอาศัยภูมิปัญญาในการกลืนกลายให้ไม่สูญเสียความเป็นตัวตนด้ังเดิมของวัฒนธรรมกลุ่มนั้นๆ หาใช่ลอกเอามาใช้ไปเปล่าๆ

ภาพ : ศิลปะสถาปัตยกรรมไทยในระเบียบแบบแผน ที่ประกอบด้วยเครื่องลำยองบนจั่วอาคาร

รูปแบบทางสถาปัตยกรรมรวมถึงศิลปกรรมต่างๆที่ปรากฏในงานพุทธศาสนสถาน ไม่ได้มีเจตนาที่จะแสดงออกถึงบุคคลหรือช่างที่ทำงานเป็นการเฉพาะ แต่มุ่งสร้างความสงบศรัทธา ให้แก่ผู้พบเห็นเป็นสำคัญ แต่ทั้งนี้อาจอ้างอิงถึงบุคคลสำคัญ เช่นพระมหากษัตริย์ผู้สร้าง หรือบุคคลที่สร้างอุทิศ หรือสร้างรำลึก ก็เป็นได้ งานออกแบบในระเบียบงานช่างหลวง ล้วนเป็นไปในทำนองนี้ และเชื่อว่าเป็นแนวทางสำคัญต่อการสร้างสรรค์ให้แก่งานสถาปัตยกรรมพื้นถิ่น ที่เป็นศาสนสถานด้วยเช่นกัน ฉะนั้นเราจึงเห็นความสงบศรัทธา ปรากฏอยู่ในงานทั้งสองกลุ่มในลักษณะเดียวกัน

แม้จะมีบุคคลิกลักษณะอันเป็นการจำเพาะถึงสกุลช่าง แต่ในสมัยก่อนก็มิอาจเห็นชื่อบุคคลในสกุลช่างนั้นๆว่าผู้ใดเป็นผู้รังสรรค์ผลงานปรากฏบนตัวงาน โดยนักวิชาการได้ให้ข้อคิดเห็นไว้ว่าเป็นไปด้วยความตั้งใจในการทำงานเพื่ออุทิศถวายเป็นการบุญ และไม่มีธรรมเนียมในการสลักชื่อศิลปินหรือช่างลงไปในงานดังที่เราคุ้นเคยในปัจจุบัน ซึ่งเรื่องนี้ต้องวางใจว่าเป็นเหตุการณ์ต่างยุคต่างสมัย มีปัจจัยในการทำงานต่างกัน อีกส่วนหนึ่งที่ผู้เขียนขอตั้งข้อสังเกตุคือ หากเป็นงานช่างหลวงคงถือว่าเป็นงานในองค์พระมหากษัตริย์ ฉะนั้นแล้วสิ่งที่จะปรากฏทราบก็คงมีเพียงผู้นำในการทำงานเท่านั้น

ภาพ : ศิลปกรรมงานช่างที่ปรากฏในงานสถาปัตยกรรมไทย มีความเป็นแบบแผนในทำนองเดียวกัน

แต่หากจะมองว่าเป็นเพราะงานของพระเจ้าแผ่นดิน ทำให้เหล่าบรรดาช่างมิกล้าลงนามในงานน้ันๆ ก็คงจะไม่จริงนัก เพราะแม้งานพื้นถิ่นก็ไม่ปรากฏว่ามีการลงนามศิลปินหรือช่างผู้รังสรรค์ผลงานเช่นกัน แต่อาจเป็นที่รู้กันในสังคมว่าเป็นฝีมือช่างผู้ใด ต่อมาภายหลังจึงมีหลักฐานบันทึกเป็นที่ชัดเจน การทำงานของศิลปินในสมัยก่อนจึงน่าจะมิได้คำนึงถึงการแสดงตัวตนให้ปรากฏ แต่เชื่อได้ว่าในบริบทสังคมสมัยนั้น ทุกคนในแวดวงงานย่อมทราบว่าเป็นฝีมือผู้ใดอย่างแน่นอน

ภาพรวมของงานออกแบบสร้างสรรค์งานสถาปัตยกรรมไทย จึงอาจมิได้มีความแตกต่างในลักษณะแห่งศิลปกรรมอย่างเด่นชัด หรือมีนัยสำคัญแห่งผู้ออกแบบสร้างสรรค์ในทำนองนั้น แต่ผลงานต่างๆ กลับมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวในแต่ละวัดอย่างน่าทึ่ง ไม่ว่าเราจะไปวัดใดๆ ก็จะเห็นว่ามีองค์ประกอบในทำนองเดียวกันคือ ช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ แต่ภาพรวมที่ประกอบขึ้นเป็นวัดเหล่านั้น กลับมีความจำเพาะในแต่ละแห่ง นั่นเป็นหลักฐานสำคัญประการหนึ่งที่บ่งชี้ว่า งานสถาปัตยกรรมไทยเป็นงานที่ออกแบบสร้างสรรค์ได้

ที่ว่างานสถาปัตยกรรมไทย ออกแบบสร้างสรรค์ได้นั้น ผู้เขียนเองเคยได้ยินขณะมีโอกาสเรียนกับบรมครูงานช่างไทยหลายๆ ท่าน อาทิ รศ.ดร.ภิญโญ สุวรรณคีรี ศิลปินแห่งชาติ , อ.วนิดา พึ่งสุนทร ศิลปินแห่งชาติ , รศ.ฤทัย ใจจงรัก ศิลปินแห่งชาติ, อ.ดร.ประเวศ ลิมปรังษี ศิลปินแห่งชาติ ก็ล้วนแต่เคยกล่าวถึงงานออกแบบสถาปัตยกรรมไทยในลักษณะนี้ทุกท่าน

แต่กระนั้นก็ดี ก็เคยได้ยินคำพูดจากบางท่านว่า งานสถาปัตยกรรมไทย เป็นงานที่ลอกมา เป็นงานที่มีตำราเพียงเล่มเดียว (ซึ่งหมายถึง พุทธศิลปสถาปัตยกรรม) ก็สามารถเป็นครูช่างไทยได้ อันนี้ก็ขอกล่าวให้เบาคำลง เพื่อเป็นการให้ความเคารพต่อครูอาจารย์ ซึ่งแสดงถึงความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนไปอย่างมากของผู้พูด ซึ่งเรื่องนี้ถ้าจะพิสูจน์ทราบได้ดี ก็คงต้องทดลองทำงานออกแบบงานสถาปัตยกรรมไทยดูด้วยตนเองบ้าง ก็จะเข้าใจว่าไม่ได้ง่ายอย่างที่คิดเลย

เป็นเรื่องน่าแปลกประการหนึ่งคือ ครูอาจารย์ที่ผู้เขียนได้เรียนรู้กับท่านโดยมาก จะมีวิถึในการปฏิบัติที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนาอย่างสูง บางท่านก็ถือศีลแปดวันพระ บางท่านก็ทำบุญสุนทานมิได้ขาด หรือบางท่านก็มีความรู้ความเข้าใจต่อหลักคำสอนในพระพุทธศาสนาอย่างมาก

ภาพ : ศิลปกรรมงานช่างหลวง จะมีความสมบูรณ์ทั้งรูปทรง ลักษณะ จังหวะ และสะท้อนถึงผู้สร้างงาน

งานสถาปัตยกรรมไทย กับพระพุทธศาสนา จึงมีความแนบชิดกันอย่างมาก ทั้งกับตัวบุคคลซึ่งเป็นผู้ออกแบบสร้างสรรค์ดังกล่าว และเนื้อหาแห่งการออกแบบสร้างสรรค์ ก็มีความเกี่ยวพันกันด้วยสาระทางธรรม ที่ถูกแปลงค่าจากความเป็นนามธรรมไปสู่สาระทางสถาปัตยกรรมอันเป็นรูปธรรมในที่สุด การมีความศรัทธาและความรู้ความเข้าใจในพุทธศาสนาจึงน่าจะเป็นบาทฐานสำคัญของผู้ทำงานทุกท่านด้วยเช่นกัน

ระเบียบแห่งการสร้างสรรค์งานสถาปัตยกรรมไทย อาจกล่าวได้ว่า ทำหน้าที่รับใช้พระพุทธศาสนา ที่มุ่งสร้างความดี ตัวศิลปะนั้นมีเนื้อแท้แห่งความงาม ซึ่งสะท้อนถึงความดีดุจเดียวกัน ดังคำพูดของศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี ที่ว่า “ศิลปะคือความดี ความงาม” ศาสตร์ศิลป์ดังกล่าว จึงมิได้มุ่งผลเพียงความงามประการเดียว แต่ยังต้องพิจารณาการออกแบบในมุมอื่นๆ อีกรอบด้านตามหลักศิลปะวิทยาแห่งการก่อสร้าง รวมถึงไม่ลืมที่จะทำให้ การออกแบบสถาปัตยกรรมไทย มุ่งสู่ความดี เป็นกรอบสำคัญ

บทบาทหน้าที่ของศิลปกรรมที่อยู่ในงานสถาปัตยกรรมไทย ดังปรากฏเป็นงานช่างสิบหมู่ หรืองานช่างศิลปกรรมไทยหมวดใหม่ๆ ในปัจจุบัน ที่ประกอบในงาน ล้วนตั้งอยู่บนฐานความคิดเดียวกันที่ว่า การออกแบบสถาปัตยกรรมไทย มุ่งไปสู่ความดี ความดีคือความงาม ความงามคือความดี เป็นภาวะแห่งการสะท้อนออกซึ่งกันและกัน เฉกเช่นการสะท้อนออกถึงความดีความงามของผลงานศิลปกรรมสำคัญบนโลกนี้

เราจึงไม่เคยพบเห็นศาสนสถานสำคัญในระดับสากลใด ที่จะไปมุ่งสร้างความตื่นเต้นเร้าใจ ดังที่บางท่านอยากให้เป็น ในปัจจุบัน อย่างไรก็ดีไม่มีเรื่องถูกผิด เป็นข้อบังคับทางการออกแบบ ผลลัพธ์ของงานสร้างสรรค์หากได้ทำประโยชน์ อย่างถูกตรง ตามแนวทางแห่งหลักธรรมคำสอน ช่วยน้อมนำให้ผู้คนเข้าถึงความดีงาม ย่อมเป็นผลงานที่ประสานเป็นเนื้อเดียวกับพระพุทธศาสนา และเป็นผลงานอันอยู่ในหลักแห่งความดี ความงาม อย่างแน่นอน

TAG: