สถาปัตยกรรมไทย : กับการเรียนในระบบ

สถาปัตยกรรมไทย กับการเรียนในระบบ

สถาปัตยกรรมไทย : กับการเรียนในระบบ

Home » Talk Thai Arch » สถาปัตยกรรมไทย : กับการเรียนในระบบ

สมัยก่อนพระท่านทำงานก่อสร้างในวัดได้นั้น เนื่องจากท่านมีระบบการเรียนงานช่างสืบทอดต่อกันมาเหมือนเป็นโรงเรียนงานช่างของพระ  เพราะบางครั้งพระต้องทำการออกแบบก่อสร้างงานสถาปัตยกรรมภายในวัดด้วยตัวท่านเอง แต่ก็มิใช่ว่าพระทุกรูปจะทำงานทำนองนี้ได้เหมือนกันหมด พระที่ทำงานช่างไทยได้ จะมีครูอาจารย์สอนถ่ายทอดกันมาจากรุ่นสู่รุ่น

และในแต่ละภูมิภาคก็มีอัตลักษณ์ภูมิปัญญา ที่นำมาซึ่งการสร้างสรรค์ที่แตกต่างกันไป ตอบรับกับบริบทของสภาพแวดล้อม และวัฒนธรรมชุมชนของตนได้เป็นอย่างดี  เหมือนกับกลุ่มช่างหลวงหรือช่างท้องถิ่น ที่มีการเรียนด้วยการถ่ายทอดประสบการณ์สั่งสมกันมาในทำนองเดียวกัน 

ด้วยความที่มีการเรียนในลักษณะ School of Art นี้เอง จึงทำให้งานสถาปัตยกรรมไทยในแต่ละถิ่นที่รักษาระเบียบวิธีของงานออกแบบไว้ได้ มีการสร้างสรรค์ไปตามยุคสมัยไม่เคยหยุดนิ่ง ด้วยเพราะสังคมเองก็มีการเปลี่ยนแปลงไปด้วยเช่นกัน หากแต่เคลื่อนตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป และได้รับอิทธิพลจากภายนอกบ้าง จากการเข้ามามากน้อยของวัฒนธรรมภายนอกทั้งโดยตั้งใจและไม่ตั้งใจ

ซึ่งถ้ามองด้วยมุมของคนในยุคปัจจุบัน อาจจะมองไม่เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น หรือการสร้างสรรค์ที่เกิดขึ้นในแต่ละช่วงเวลาที่เปลี่ยนผ่านเหล่านั้น  เนื่องจากเป็นไปอย่างผสมกลมกลืนกับรูปแบบเดิมที่มีมา และเป็นไปด้วยความเข้าใจในระเบียบวิธีแห่งการออกแบบงานสถาปัตยกรรมไทย     ( หากเทียบกับปัจจุบันการเปลี่ยนแปลงทางสังคมมีการเคลื่อนตัวไปอย่างรวดเร็วแตกต่างจากสมัยก่อนมาก ทุกอย่างไว และอาจแตกแยกออกไปจากต้นทางที่เคยมีมา  ไม่มีการกลั่นกรองเนื่องด้วยไม่ได้คิดและทำในระบบ School of Art  ใครคิดจะทำอะไรก็ทำกันไป  ลักษณะการทำงานเป็นไปแบบปัจเจก และมีระบบทุนมาขับเคลื่อนสิ่งต่างๆ แทน  ซึ่งส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงทั้งส่วนดีและส่วนที่พึงระวัง )

ภาพ : หน้าบันพระอุโบสถ วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ราชวรมหาวิหาร กรุงเทพฯ

ปัจจุบันนี้ องค์ความรู้งานช่างไทยที่อาจอยู่ในกลุ่มช่าง หรือพระช่าง ได้ถูกยกไปสอนในสถาบันการศึกษาต่าง ๆ ทั้งในระดับวิชาชีพ และระดับปริญญาแทน  (แต่กลุ่มช่างบางส่วนที่สืบทอดองค์ความรู้ก็ยังสามารถทำงานได้ ในลักษณะที่ไม่ซับซ้อนเกินกว่างานที่พึงทำได้ในลักษณะงานช่างพื้นถิ่น)

หากพิจารณากันตามจริงการเรียนรู้เพื่อนำไปสู่การออกแบบงานสถาปัตยกรรมไทย หรืองานช่างไทยที่เคยเรียกกันนั้น เป็นการเรียนที่ค่อนข้างกว้างขวางครอบคลุม รวมถึงงานศิลปกรรมต่างๆ ดังที่เรียกกันว่า “ช่างสิบหมู่” เพราะงานสถาปัตยกรรมไทยเป็นอู่อารยธรรมแห่งงานช่างทุกแขนง มาผนวกรวมกัน

สถาปัตยกรรมไทย กับการเรียนในระบบ จึงเป็นการเรียนทั้งองค์ความรู้ทางสถาปัตยกรรมส่วนหนึ่ง และองค์ความรู้ในงานช่างไทยอีกส่วนหนึ่ง ซึ่งทั้งสองส่วนก็ยังมีรายละเอียดและทักษะที่ต้องฝึกเป็นการเฉพาะทางอีกไม่น้อย เมื่อจบตามระบบแล้วยังต้องเข้ารับการสอบเพื่อขอรับใบประกอบวิชาชีพอีกด้วย เนื่องจากเป็นวิชาชีพควบคุม จึงมิใช่ว่าเรียนจบแล้วจะทำงานได้ ยังต้องผ่านการรับรองจากสภาวิชาชีพอีกขั้นตอนหนึ่ง

เหตุที่การจะได้รับอนุญาตให้ประกอบวิชาชีพนี้ต้องมีขบวนการขั้นตอนที่ต้องสอบ  เพราะงานสถาปัตยกรรมไทยจัดว่าเป็นศาสตร์ศิลป์ที่ตั้งอยู่บนการใช้งานที่ต้องปลอดภัย  เป็นงานศิลปะขนาดใหญ่ที่ผู้คนเข้าไปใช้งานในนั้น มีทั้งศิลปะ และศาสตร์ที่เกี่ยวข้องอื่นๆ  (ซึ่งคนมักเข้าใจว่าเป็นเรื่องของงานโครงสร้างเท่านั้น )  

ถ้าว่ากันตามหลักการของการทำงานสถาปัตยกรรม จะต้องมีองค์ประกอบสำคัญอย่างน้อยสามส่วนคือ  ประโยชน์แห่งการใช้สอย,ความมั่นคงแข็งแรง และความงาม โดยปัจจุบันเรื่องที่ต้องศึกษายังมีแตกแขนงออกไปอีกมาก การเรียนรู้ในระบบการศึกษายังทำให้ผู้เรียนมีความสามารถในการออกแบบงานสถาปัตยกรรมไทยทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่ ที่มีการใช้สอยและโครงสร้างไม่ซับซ้อน ไปจนถึงการใช้สอยที่หลากหลายซึ่งมีทั้งระบบโครงสร้างและงานระบบเกี่ยวเนื่องอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องอีกหลายส่วน ซึ่งจำเป็นต้องมีคณะทำงานที่หลากหลายมาช่วยทำงานในแต่ละศาสตร์ที่เกี่ยวข้องให้ประสานกัน เพื่อให้การใช้งานรวมถึงการดูแลรักษาอาคารในระยะยาวเป็นไปด้วยความปลอดภัยและเรียบร้อย  ซึ่งในขั้นตอนของการศึกษาต้องอาศัยเวลาในการเรียนรู้และฝึกทักษะเป็นการเฉพาะทางพอสมควร ทั้งนี้แม้จบการศึกษาไปแล้วก็ดูเหมือนว่ายังจำเป็นต้องเรียนรู้กันต่อไปอีก เฉกเช่นหลายๆ วิชาชีพที่ต้องพัฒนาไปตามเทคโนโลยีและสังคมที่เดินหน้าไปไม่หยุดยั้ง

แต่สิ่งสำคัญที่ยากอย่างยิ่งสำหรับนักเรียนสถาปัตย์คือ ความเข้าใจในมิติของการออกแบบงานสถาปัตยกรรม ที่ไม่สามารถกดปุ่มเปิดปิดให้ผู้เรียนได้เข้าใจมิติของงานออกแบบได้ทันทีทุกคน  ผู้สอนเป็นผู้แนะแนวทาง ส่วนผู้เรียนเป็นผู้พยามเปิดปุ่มเหล่านั้นด้วยตนเอง ซึ่งการจะกดปุ่มให้มีความเข้าใจในศาสตร์ศิลป์แห่งการออกแบบสร้างสรรค์งานสถาปัตยกรรมได้อย่างสมบูรณ์ จำเป็นต้องเติมเต็มประสบการณ์ทางสถาปัตยกรรมให้มากพอ เหมือนการรดน้ำพรวนดินที่ต้องทำอย่างต่อเนื่อง และอยู่ในสภาวะแวดล้อมที่เหมาะสม จนถึงจุดหนึ่ง ซึ่งถึงพร้อมจากภายในแล้ว การออกดอกออกผลก็จะเกิดขึ้นได้โดยพลัน แม้ว่าจะยากแต่หากเรียนในระบบโดยลำดับและมีใจรัก วันหนึ่งย่อมเข้าใจงานออกแบบได้ในที่สุด

ภาพ : วัดต้นเกว๋น หรือวัดอินทราวาส อ.หางดง จ.เชียงใหม่

สถาปัตยกรรมไทยเป็นศิลปะและวิทยาแห่งการก่อสร้างที่สะท้อนถึงภูมิปัญญา สังคม วัฒนธรรมของชาติ ที่สั่งสมมาอย่างยาวนาน ผลงานที่ดีจะเป็นที่ยอมรับทั้งผู้ทรงคุณวุฒิ(ซึ่งมีหลักเกณฑ์ที่มีมาตรวัดอย่างเป็นทางการ) และสังคม(ซึ่งอาจเป็นไปด้วยความพึงพอใจ หรือความรู้สึกร่วมทางสังคม)  

ด้วยความที่สถาปัตยกรรมเอง มิใช่งานศิลปะบริสุทธิ์ เหมือนงานวิจิตรศิลป์ เช่นจิตรกรรม ประติมากรรม ต่างๆ  สถาปัตยกรรมทำหน้าที่ต่อสังคมแตกต่างจากศิลปะอื่นๆ มีบทบาทและผลกระทบต่อสังคมอย่างกว้างขวาง  และท้ายที่สุดก็มีผลต่อการสร้างสังคมและผู้คนด้วยตัวสถาปัตยกรรมนั้นเอง  

งานสถาปัตยกรรมดีๆ อาจให้ผลต่อจิตวิญญาณได้เทียบเท่างานศิลปะทัศนศิลป์แบบที่ศิลปินต่างๆสร้างสรรค์ขึ้นมาได้ด้วยเช่นกัน  โดยอาจไม่ได้ให้ผลในเชิงประจักษ์แบบงานศิลปะบริสุทธิ์  แต่ให้ผลซ้อนอยู่เบื้องหลังการใช้งาน ที่ช่วยส่งเสริมให้การดำเนินชีวิตภายใต้การห่อหุ้มพื้นที่นั้นสมบูรณ์แบบ หรือบางครั้งก็อาจเติมเต็มทางจิตวิญญาณร่วมด้วยได้

และหน้าที่ของผู้ออกแบบ คือต้องรับผิดชอบงานออกแบบทั้งการใช้งานให้ดี(ซึ่งบางครั้งก็เกี่ยวข้องกับสภาวะน่าสบายที่ผู้ออกแบบได้เรียนมา และอาจอธิบายได้ในเชิงความสัมพันธ์กับหลักฮวงจุ้ย) ความมั่นคงแข็งแรง (ซึ่งสำคัญอย่างมากต่อความปลอดภัยของผู้ใช้งาน แม้บางครั้งระบบโครงสร้างถูกต้องแล้ว แต่ก็ยังอาจกระทบต่อการใช้งานได้ด้วยก็มี) และท้ายที่สุดคือความงาม ที่อาจหาข้อสรุปได้ยาก เพราะเป็นความรู้สึกแบบปัจเจก ซึ่งต้องอาศัยประสบการณ์อย่างมากของผู้ออกแบบและผู้ใช้งาน เหมือนเรามาถกเถียงกันว่าก๋วยเตี๋ยวร้านไหนอร่อย รสลิ้นก็คงจะเป็นปัจเจก และยิ่งประสบการณ์ศิลปะของผู้คนแล้ว ยิ่งอาจทำให้เกิดข้อถกเถียงหนักกว่าเดิม  ฉะนั้นแล้วผู้ที่จะมาถกเถียงได้ดี ต้องเคยมีประสบการณ์ในการชิมก๋วยเตี๋ยวที่อร่อยเข้าลิ้นมาก่อน  

ในทำนองเดียวกันความงามทางศิลปะ ที่จะสามารถวิเคราะห์ได้ว่าดีหรือไม่ ก็จำเป็นต้องเคยดูงานศิลปะที่ดีงามถูกต้องมาก่อน ถ้าได้เรียนรู้งานศิลปะด้วย ก็จะเข้าใจหลักและองค์ประกอบแห่งงานศิลป์ได้ดี  และจะสามารถชั่งตวงวัดได้อย่างเข้าใจ ไม่ใช่ตัดสินเพียงแค่ความรู้สึก และยิ่งเป็นงานสถาปัตยกรรมด้วยแล้ว การให้คะแนนงานออกแบบชิ้นนั้นอาจต้องมองในหลายๆ มิติ  ไม่สามารถมองแค่เรื่องของความงามเพียงมุมเดียวได้  บางทีเราจึงได้ยินเจ้าของบ้านหรือผู้คนที่พูดถึงงานสถาปัตยกรรมบางแห่งว่า

 “มันสวยดี แต่ใช้งานไม่ค่อยดีเลย…”   

สถาปัตยกรรมไทย กับการเรียนในระบบ จึงจำเป็นอย่างมาก ที่จะทำให้มีความเข้าใจงานสถาปัตยกรรมที่มิใช่แค่เปลือกนอกที่ดูงามตาเท่านั้น  แต่ทั้งนี้ก็มิได้จะบอกว่าคนที่ไม่ได้เรียนรู้งานสถาปัตยกรรมอย่างเป็นระบบมา จะไม่เข้าใจศาสตร์แห่งการออกแบบงานสถาปัตยกรรมนี้ เพียงแต่อาจหาผู้เข้าใจอย่างแท้จริงได้ยาก หากจะเรียนรู้เองเช่นนั้น

สำหรับการออกแบบโดยงานช่างท้องถิ่น ที่มีการสืบทอดองค์ความรู้ทางงานช่าง และผลงานของช่างในท้องถิ่นเป็นที่ยอมรับของสังคมชุมชนนั้นๆ อยู่แล้ว ย่อมเชื่อได้ว่าทำอยู่บนฐานแห่งความรู้ในงานก่อสร้างแบบพื้นถิ่น หรือท้องถิ่น และมักจะเป็นผลงานที่นักวิชาการทั้งหลายยอมรับในภูมิปัญญาแห่งงานช่าง ซึ่งอาจไม่ได้เป็นงานที่เป็นแบบแผนอย่างที่ทำให้แก่เจ้าขุนมูลนายอย่างงานช่างหลวง แต่งานเหล่านั้นก็เป็นงานที่มีคุณค่าไม่แพ้นกัน เพราะเป็นความคิดสร้างสรรค์จากการสั่งสมลองถูกผิดจนได้ผลลัพธ์ที่ดีเลิศท่ามกลางบริบทของท้องถิ่นนั้นแล้วจริงๆ และการทำงานในกลุ่มช่างท้องถิ่นที่สืบทอดกันมาอย่างยาวนั้น ก็ไม่ต่างอะไรกับการเรียนรู้ในระบบเช่นกัน

ปัจจุบันการเรียนรู้งานช่างไทย ในลักษณะงานช่างหลวงนี้ มิได้สืบทอดในแบบเดิมอีกต่อไป แม้แต่พระสงฆ์องค์เจ้าที่เดิมเคยมีความรู้ในงานช่างโดยฝึกฝนวิชาช่างไทยจนชำนาญ เพื่อใช้สำหรับการดูแลศาสนสถาน ด้วยความรู้และเข้าใจอย่างแท้จริงก็หาได้เป็นเช่นนั้นไม่  แต่อาศัยการหาช่างฝีมือที่มีความรู้ และทักษะฝีมือที่ดี มาทำงานการก่อสร้างในวัดแทน  สำคัญคือผู้ทำงานถวายให้ท่านต้องทำด้วยความตั้งใจ ให้งานนั้นเสร็จและมีคุณค่าอย่างสมบูรณ์ มิใช่ทำเพียงแค่ให้เสร็จและรับเงินไปเท่านั้น ซึ่งความน่าเป็นห่วงคือ ความเข้าใจของวัดที่มีต่องานที่แล้วเสร็จเหล่านั้น ว่าดีงามตามหลักแห่งศาสตร์ศิลป์อันควรแล้วหรือยัง

(วัดและผู้ออกแบบควรให้ความเป็นธรรมแก่กันและกันในการทำงาน ทั้งส่วนของวัดที่จะต้องดูแลค่าบริการทางวิชาชีพให้แก่บุคลากรทางวิชาชีพอย่างเป็นธรรม เพื่อเป็นกำลังใจและไม่เกิดกระบวนการทำงานที่ผิดไปจากที่ควรเป็นผ่านนายหน้าตัวแทนซึ่งอาจเรียกรับผลประโยชน์มากเกินจริง    และในส่วนของผู้ออกแบบควรทำงานด้วยความตั้งใจเต็มกำลัง รับผิดชอบในงานอย่างเต็มที่ ไม่เอาเปรียบวัด เพื่อสร้างสรรค์ผลงานอันเป็นประโยชน์ต่อพระพุทธศาสนาและวัฒนธรรมอันดีงามของชาติ)

ภาพ : หลักการเรียนรู้ระเบียบวิธีในการออกแบบงานสถาปัตยกรรมไทย ในระบบอาคารทางราบ โดย อ.วนิดา พึ่งสุนทร ศิลปินแห่งชาติ (ที่มาภาพ ภาพจากวารสารหน้าจั่ว ฉบับประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรมและสถาปัตยกรรมไทย ฉ.2 กรกฎาคม 2547.”ระเบียบวิธีและการออกแบบสถาปัตยกรรมไทยประเพณีในปัจจุบัน / วนิดา พึ่งสุนทร.”)

การเรียนรู้อย่าง School of Art หรือ School of Thai Architecture จึงเป็นกระบวนการสำคัญ ที่ทำให้เรียนรู้และเข้าใจด้วยการชำแรกผ่านเปลือกที่ห้อหุ้มตัวงานเข้าไปสู่เนื้อหาสาระสำคัญที่ประกอบอยู่ภายในได้อย่างถึงแก่น จะว่าไปก็เหมือนเป็นการทำความเข้าใจคนคนหนึ่ง ที่เราจะไม่ได้ดูแค่หน้าตารูปลักษณ์ภายนอก แต่จะดูเข้าไปถึงเทือกเถาเหล่ากอ เครือญาติ ความคิดอ่าน ที่หล่อหลอมเขาขึ้นมา  

สถาปัตยกรรมไทย กับการเรียนในระบบ จะทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันในกลุ่ม หรือเครือข่ายการศึกษาเรียนรู้ มีการถ่ายทอดองค์ความรู้จากผู้ชำนาญการรุ่นก่อน ไปสู่รุ่นใหม่ๆ ทำให้มีความเข้าใจในการเรียนอย่างกว้างขวางและลึกซึ้งผ่านประสบการณ์สั่งสมที่ผ่านมา สามารถช่วยร่นระยะเวลาในการเรียนรู้ให้สั้นลง ประกอบกับเครื่องมือในการศึกษาสมัยนี้ก็มีความก้าวหน้าอย่างมาก ซึ่งสามารถช่วยให้การเรียนเป็นไปโดยสะดวกมากยิ่งขึ้น โดยมีครูในระบบ school of art ที่มีประสบการณ์มาชี้แนะให้เรา

ครู เป็นบุคคลสำคัญของระบบการเรียนรู้ในงานสถาปัตยกรรมไทย หรืองานช่างไทย ทั้งครูที่เป็นบุคคลที่สอนเราในเรื่องต่างๆ และครูที่เป็นตัวงานสถาปัตยกรรมไทยดี ๆ  ที่ผู้เรียนต้องไปสร้างประสบการณ์จริงให้ครบทุกมิติ เพื่อก่อให้เกิดความเข้าใจโดยถ่องแท้   และเราเอง ก็ต้องเป็นครูให้ตัวเราเองด้วย สอนเราเอง ขับเคี่ยวเราเอง ให้มีทั้งทักษะฝีมือ ความรู้ ความคิด ที่พร้อมต่อการทำงานในที่สุด  ผู้เขียนได้พูดให้เด็กๆ รุ่นใหม่ฟังเสมอว่า

“ไม่มีครูคนไหนจะสอนเราได้… ถ้าเราไม่คิดจะสอนตัวเราเอง”

ภาพ : การเรียนการสอนในระบบ ที่จะมีการเรียนรู้ทั้งในห้องเรียน นอกห้องเรียน และนักศึกษายังต้องศึกษาด้วยตนเองนอกเวลาเพื่อให้มีความรู้ความเข้าใจในศาสตร์วิชาที่เรียนอย่างรอบด้าน (ที่มาภาพ : IG :thaiarch_silpakorn)

สถาปัตยกรรมไทย กับการเรียนในระบบ โดยเฉพาะในระบบมหาวิทยาลัย หรือสถาบันที่มีผู้รู้ผู้ชำนาญเป็นผู้สอนจึงเป็นสิ่งดี ที่จะทำให้ผู้เรียนได้ความรู้ ทักษะ ความรู้ ความคิด ความเข้าใจ และความเคารพในบริบทแห่งการสร้างสรรค์ที่ประกอบขึ้นจากประวัติศาสตร์ ศิลปะ ศาสตร์วิชาที่เกี่ยวข้องทั้งหมด

ไม่เกิดความคิดในการจะออกแบบอะไรไปตามมโนทัศน์ ที่หลุดออกจากบริบทที่ควรจะเป็น เพื่อให้งานออกแบบมิใช่เพียงว่าจะดูสวยงามแต่ภายนอกเท่านั้น  แต่การใช้งาน การดูแลรักษาอาคาร และประสบการณ์ในงานสถาปัตยกรรมที่ผู้มาเห็น มาใช้งาน จะได้รับการดูแลผ่านงานออกแบบอย่างครบทุกมิติโดยแท้จริง

TAG: