สถาปัตยกรรมไทย : ผู้ออกแบบจะทำงานให้ดีได้อย่างไร

สถาปัตยกรรมไทย : ผู้ออกแบบจะทำงานให้ดีได้อย่างไร

Home » Talk Thai Arch » สถาปัตยกรรมไทย : ผู้ออกแบบจะทำงานให้ดีได้อย่างไร

คุณค่าในงานสถาปัตยกรรมไทยนั้น ถือว่าสูงค่าอย่างมาก เพราะเป็นงานที่รวบรวมงานช่างศิลป์ทุกแขนงมาไว้ในที่เดียวกันได้อย่างสมบูรณ์ที่สุด ถึงกับมีคำกล่าวที่ว่า สถาปัตยกรรมไทยเป็นแม่แห่งศิลปกรรมทั้งปวง  เพราะในตัวงานสถาปัตยกรรมไทย เป็นที่ปรากฏแห่งศิลปกรรมแทบจะทุกแขนง  และศิลปกรรมทั้งหลายนั้น ก็มิใช่ทำไปตามความคิดนึกอย่างเอกเทศ แต่ทำบนฐานความรู้ความเข้าใจในศาสตร์ศิลป์ จึงจะทำให้งานศิลปกรรมดังกล่าวทำหน้าที่ร่วมกับตัวสถาปัตยกรรมได้อย่างสมบูรณ์ ด้วยความเข้าใจถึงบทบาทหน้าที่ซึ่งมากไปกว่าการประดับประดาเพียงให้สวยงามไปเท่านั้น ตามที่บางท่านอาจเข้าใจกันไปเช่นนั้น[1]

งานสถาปัตยกรรมไทย โดยเฉพาะงานสถาปัตยกรรมไทยแบบประเพณี ต้องอาศัยบุคคลากรซึ่งเป็นผู้มีทักษะในทุกด้านของงานศิลปสถาปัตยกรรมไทยมาร่วมกันทำงาน (เนื่องจากต้องอาศัยทักษะและฝีมือที่ต้องฝึกฝนเป็นเวลานาน)  รวมถึงการใช้งบประมาณในการทำงานอย่างมากด้วยเช่นกัน เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่สมบูรณ์  (โดยเฉพาะในส่วนของวัสดุตกแต่งในงานแบบประเพณีที่มีราคาค่อนข้างสูง)  การจะสร้างสรรค์งานสถาปัตยกรรมไทย ให้ปราณีตงดงามตามแบบอย่างงานช่างในอดีต จึงไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับคนในยุคปัจจุบัน ที่ต้องวางแผนการทำงาน โดยมีกรอบเวลาทำงาน กรอบกำไรขาดทุน และความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ ซึ่งในสมัยก่อนไม่ได้คิดถึงเรื่องเหล่านี้ในการสร้างสรรค์งานสถาปัตยกรรมไทย แต่อาศัยศรัทธาเป็นตัวนำ ในการสร้างสรรค์สิ่งที่ดีที่สุด ให้แก่พระพุทธศาสนาเป็นสำคัญ ด้วยมีพระมหากษัตริย์เป็นผู้อุปถัมภ์ในการดังกล่าว การทำงานในกระบวนการก่อสร้างปัจจุบัน จึงค่อนข้างยากกว่าสมัยก่อน แต่อาจสามารถใช้กรอบเกณฑ์ทำนองเดียวกับการสร้างสถาปัตยกรรมทั่วไปได้เป็นกรณีๆ ตามความจำเป็น และความเห็นชอบของเจ้าของงานเป็นรายๆ ไป  หากพยายามประสานประโยชน์แห่งกระบวนการทำงานศิลปกรรมเข้ากับกรอบความคิดสมัยใหม่นั้นได้ โดยไม่ยึดแต่กรอบวิธีสมัยใหม่แต่เพียงอย่างเดียว ก็อาจช่วยให้ผลลัพธ์ในงานสถาปัตยกรรมไทยไม่เกิดความเสียหายในท้ายที่สุด

ภาพ : ผลงานออกแบบพระมหาธาตุเจดีย์ ในพุทธาวาส วัดธัมมธโร กรุงแคนเบอร์ร่า สาธารณรัฐออสเตรเลีย (ภาพจากหนังสือ พุทธศิลป์สถาปัตยกรรมไทย : ระเบียบวิธีการออกแบบสถาปัตยกรรมไทยแบบประเพณีในปัจจุบัน / อ.วนิดา พึ่งสุนทร ศิลปินแห่งชาติ)

จากที่กล่าวถึงข้างต้น งานสถาปัตยกรรมไทยเป็นงานที่อาศัยบุคลากรเฉพาะทาง เหตุเพราะงานประเภทวัดวาอาราม เป็นงานที่มีแบบแผนทางความคิดและการช่างไทย ที่ต้องอาศัยการบ่มเพาะเรียนรู้ ทั้งทักษะทางการออกแบบ บนฐานความรู้ความเข้าใจ ทั้งกระบวนการคิดและการจำประการหนึ่ง กับทักษะทางฝีมือที่ต้องฝึกฝนอย่างหนักอีกประการหนึ่ง อาศัยทักษะทั้งสองส่วนดังกล่าวเป็นฐานในการทำงานร่วมกัน เพื่อนำไปสู่การออกแบบสร้างสรรค์ ที่ก่อให้เกิดการแตกหน่อต่อยอดมรดกทางศิลปกรรมสำคัญของชาตินี้ให้สืบสานต่อไปได้ ศิลปกรรมที่ประกอบงานสถาปัตยกรรม คือสิ่งที่แสดงคุณค่าสำคัญของงานชนิดนี้ หากทำได้ไม่ดีก็จะกลับกลายเป็นการลดทอนคุณค่าทางสถาปัตยกรรมโดยรวมลงอย่างน่าเสียดาย[2]

หากฝึกฝนในส่วนแรกได้เพียงอย่างเดียวก็อาจทำได้แต่เพียงเป็นนักคิด  แต่ถ้าทำได้แต่เพียงส่วนหลังก็อาจทำได้เพียงนักเขียน(ลาย) ฉะนั้นการทำได้ทั้งสองส่วนจึงเป็นองค์ประกอบสำคัญ ที่จะทำให้สามารถเป็นสถาปนิกสถาปัตยกรรมไทยได้อย่างแท้จริง คือสามารถเขียนออกมาได้อย่างที่คิดบนฐานความรู้ความคิดและปรัชญาแห่งงานสถาปัตยกรรมไทย ซึ่งสถาปนิกที่เรียนรู้ในด้านนี้ จำต้องอดทนในการฝึกฝนทักษะดังกล่าว เพราะเป็นสิ่งที่ไม่อาจจะสามารถฝึกฝนและทำได้ในระยะเวลาอันสั้น ครั้งหนึ่งผู้เขียนได้มีโอกาสสอบถามการฝึกเขียนลายไทยกับ รศ.ดร.ภิญโญ สุวรรณคีรี ศิลปินแห่งชาติ ว่าอาจารย์มีแนวทางในการฝึกเขียนลายไทยอย่างไร อาจารย์ตอบว่า ต้องฝึกฝนให้มาก ต้องเขียนทุกวัน หยุดไม่ได้ ไม่เช่นนั้นมือจะแข็ง (หมายถึงลายเส้นจะไม่อ่อนช้อยคดโค้งได้ตามต้องการ-ผู้เขียน) แม้ทุกวันนี้อาจารย์ก็บอกว่ายังเขียนทุกวันไม่เคยหยุด  

จะเห็นได้ว่าทักษะดังกล่าวมีความสำคัญตั้งแต่เริ่มต้น จนกระทั่งถึงที่สุดทุกวันนี้ก็ยังคงต้องฝึกอยู่โดยตลอด แม้ว่าจะทำงานมาแล้วอย่างมากเพียงไรก็ตาม ก็ไม่อาจทิ้งกระบวนการฝึกฝนนี้ได้ ซึ่งหลายครั้งสถาปนิกสถาปัตยกรรมไทย มักจะถูกช่างทดสอบความสามารถในการทำงานเชิงทักษะ อาทิการปั้น หรือการวาดลาย หากไม่สามารถฝึกฝนจนทำให้ช่างเห็นได้ว่าสามารถทำงานได้จริง ก็อาจถูกมองว่า เป็นผู้ออกแบบที่ได้แต่พูดและสั่ง แต่ลงมือทำจริงๆ ไม่เป็น

ภาพ : ลายเส้น ลายมือ ลายไทย แบบศาลาไทย ณ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย (จากหนังสือที่ระลึกงานพระราชทานเพลิงศพนายประเวศ ลิมปรังษี ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (สถาปัตยกรรม) ปีพุทธศักราช 2532 )

ทักษะการเรียนรู้งานสถาปัตยกรรมไทย ที่สำคัญอีกส่วนหนึ่งที่คนโดยทั่วไปอาจไม่ทราบ คือการเรียนรู้ในการขยายแบบเท่าจริง หรือที่เรียกกันว่าแบบ 1 : 1  งานสถาปัตยกรรมไทยเป็นงานที่เสมือนต้องออกแบบสองโปรเจคในงานชิ้นเดียวกัน กล่าวคือ การออกแบบเพื่อนำแบบไปใช้ในงานก่อสร้างครั้งหนึ่งก่อน และการออกแบบขยายแบบศิลปกรรมเพื่อใช้สำหรับการทำงานศิลปกรรมประกอบอีกครั้งหนึ่ง โดยทั้งสองส่วนอาจใช้เวลามากพอๆกันก็เป็นได้ เพราะยิ่งตัวงานมีความละเอียดทางความคิดอันเกี่ยวเนื่องกับศิลปกรรมมากเท่าไหร่ ก็จำเป็นต้องใช้เวลาทางการออกแบบและพัฒนาแบบมากเช่นกัน สถาปนิกปกติที่มิใช่สถาปนิกสถาปัตยกรรมไทยหลายท่าน ไม่ทราบว่าเหตุใดจึงต้องขยายแบบดังกล่าว แท้จริงแล้วการขยายแบบเป็นเครื่องมือทางความคิดอันสำคัญในการใช้กำกับควบคุมกระบวนการทางงานช่างให้ไม่ผิดเพี้ยน และทำให้ศิลปกรรมมีความละเอียดสมบูรณ์

ในงานสถาปัตยกรรมไทยนั้น อาจารย์ประเวศยังได้เคยให้ข้อคิดสำคัญไว้อีกส่วนหนึ่งว่า “การใช้สอยมีสองทาง  การใช้สอยทางด้านพื้นที่อาคารหนึ่ง การใช้สอยอีกอย่างคือการตกแต่งศิลปศาสตร์เข้าไปในอาคาร..นี่ใช้สอยทางจิตใจ” และข้อคิดที่สำคัญซึ่งแสดงให้เห็นว่างานขยายแบบสำคัญมากคืออาจารย์ได้เคยเล่าถึงสมัยเรียนกับอาจารย์ศิลป์ผู้ซึ่งเป็นครูของศิลปินไทยทั้งลายว่า “อาจารย์ศิลป์บอกว่า ถ้างานศิลปะไม่เขียน  1 ต่อ 1 ..อย่าทำเลย” [3]

ภาพ : หน้าจั่วอุโบสถเครื่องลำยอง โดยพระพรหมพิจิตร (ผู้ลงเส้น อ.โหมด ว่องสวัสดิ์) (จากวารสารหน้าจั่ว ฉบับประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรมและสถาปัตยกรรมไทย ฉบับที่ 2 ก.ค.2547. ในบทความเรื่อง “ความสับสนในงานสถาปัตยกรรมไทย” / รศ.สมใจ นิ่มเล็ก)

สำหรับงานศิลปกรรมแล้ว ระยะเซ็นติเมตรหรืออาจบางครั้งเป็นระยะมิลลิเมตร นับว่ามีความสำคัญอย่างมาก และอาจส่งผลต่อความเสียหายในศิลปกรรมประกอบได้  หากไม่ทำแบบขยายให้กับงานออกแบบสถาปัตยกรรมชิ้นนั้น จักถือว่างานไม่แล้วเสร็จ นี่คือคำครูที่ชี้ชัดว่าเราไม่อาจยกงานขยายแบบดังกล่าวไปให้ช่างหรือผู้รับเหมาทำเองได้ เพราะงานดังกล่าวยังถือว่าเป็นส่วนประกอบสำคัญทางความคิดของผู้ออกแบบ ที่ต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จต่อเนื่องไปกับแบบสถาปัตยกรรมโดยภาพรวมด้วย จึงจะถือได้ว่าสถาปนิกได้ทำงานชิ้นนั้นสำเร็จโดยสมบูรณ์    สิ่งที่อาจารย์กล่าวไว้นั้น สอดคล้องกับข้อเขียนข้างต้นที่ผู้เขียนอธิบายไปในส่วนของการทำงาน ที่เสมือนเป็นสองโครงการในงานชิ้นเดียว และความสำคัญเชิงทักษะจะเป็นสิ่งที่ทำให้การทำงานในส่วนของศิลปะสำเร็จสมบูรณ์ได้ในที่สุด หาไม่แล้วเราก็ต้องไปยืมมือคนอื่นมาทำแทน เพราะเราเขียนลายไม่เป็น และนั่นย่อมจะกล่าวได้ว่า เราไม่ได้เป็นสถาปนิกสถาปัตยกรรมไทย เพราะเราไม่ได้ทำจนจบกระบวนการของงานไทยด้วยตัวเองอย่างแท้จริง

ภาพ : กระบวนการทำงานออกแบบงานสถาปัตยกรรมไทย / ที่มาภาพ : เอกสารจากการบรรยาย   คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ผังเมืองและนฤมิตศิลป์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม 5 มี.ค.65

( อ่านเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับภาพเบื้องต้นได้ที่ แบบขยายหนึ่งต่อหนึ่ง(คลิกอ่าน))

จะเห็นได้ว่าการศึกษาหาความรู้และทักษะฝีมือ ที่ต้องฝึกฝนตามแนวทางที่ครูงานสถาปัตยกรรมได้สอนไว้ เป็นเรื่องที่ค่อนข้างหนักหนาสำหรับผู้สนใจในการเรียนรู้งานสถาปัตยกรรมไทยแบบประเพณีอยู่ไม่น้อย แต่หากสถาปนิกที่สนใจในการออกแบบงานพุทธสถาปัตยกรรม ที่ไม่มีทักษะดังกล่าว ก็อาจทำการออกแบบให้เป็นไปในลักษณะสถาปัตยกรรมไทยแบบประยุกต์ หรือสถาปัตยกรรมไทยร่วมสมัยได้ เพียงผู้ออกแบบได้ศึกษาความรู้ในงานสถาปัตยกรรมไทย และหลักแห่งการออกแบบอาคารแต่ละชนิดให้เข้าใจ ก็จะไม่เกิดข้อผิดพลาดทางการออกแบบได้ อาทิ เรื่อง พุทธบัญญัติ,พื้นที่สังฆกรรม,สีมากถา เป็นต้น นอกจากนั้นการเข้าใจในวัตรปฏิบัติของสงฆ์ ก็สำคัญต่อการออกแบบพื้นที่บางประเภทด้วยเช่นกัน เช่นพื้นที่สำหรับการเดินจงกรมในหลักการปฏิบัติของพระสายปฏิบัติภาวนา จะกำหนดทั้งทิศทางและความยาวของพื้นที่ไว้ด้วย เป็นธรรมเนียมปฏิบัติที่สืบทอดมาแต่ครั้งพุทธกาล ฉะนั้นการออกแบบเพียงเพื่อความงาม เช่นทางเดินจงกรมเป็นวงกลม แม้ว่าจะไม่ผิดในทางความคิดของการออกแบบ แต่อาจผิดหลักของการปฏิบัติที่แท้จริงได้ เป็นต้น

ภาพ : วิหารขนาดเล็ก (การศึกษาสัดส่วนเพื่อการฝึกฝนเรียนรู้ทักษะฝีมือสำหรับนักศึกษาสถาปัตยกรรมไทย) (จากหนังสือ สัดส่วนในงานสถาปัตยกรรมไทย ฉบับสมบูรณ์ /รศ. ฤทัย ใจจงรัก ศิลปินแห่งชาติ )

รศ.ดร.ภิญโญ สุวรรณคีรี ศิลปินแห่งชาติ ได้ให้ข้อคิดไว้ว่า การออกแบบงานสถาปัตยกรรมไทยนั้น ต้องให้อยู่ในฉันทลักษณ์ที่มีลักษณะบางประการที่ต้องรักษาไว้ เป็นภาคบังคับส่วนหนึ่ง แม้จะมีการเปลี่ยนแปลงการใช้สอยหรือเทคโนโลยีไปบ้าง แต่ฉันทลักษณ์ของงานสถาปัตยกรรมไทยนั้นต้องรักษารูปลักษณ์เดิมไว้[4]  การเรียนรู้ศาสตร์วิชาสถาปัตยกรรมไทยนี้แม้จะมีสอนในระดับมหาวิทยาลัย แต่ระยะเวลาในการฝึกฝนก็น้อยเกินกว่าจะเรียนรู้ได้อย่างถ่องแท้ และต้องฝึกฝนต่อเนื่องเสมอ[5] ข้อมูลนี้จะเห็นได้ชัดว่า ผู้เชี่ยวชาญในงานสถาปัตยกรรมไทย เห็นว่างานชนิดนี้อาจปรับเปลี่ยนการใช้งานและการก่อสร้างได้ แต่ยังจำเป็นต้องรักษาลักษณะรูปแบบบางประการของงานไว้ ไม่ให้ผิดเพี้ยน ส่วนหนึ่งผู้เขียนคิดว่า เพราะเป็นงานที่ควรสืบสานและต่อยอดอย่างสร้างสรรค์ ดังที่ครูงานสถาปัตยกรรมไทยหลายๆ ท่านพาดำเนินมาตลอดทุกยุคทุกสมัย

ภาพ : เอกสารประกอบการสอน รศ.ภิญโญ สุวรรณคีรี ศิลปินแห่งชาติ เพื่อสร้างองค์ความรู้ให้แก่นักศึกษาในสาขาวิชาสถาปัตยกรรมไทย (จากหนังสือ ‘ชีวิตและผลงาน รศ.ดร.ภิญโญ สุวรรณคีรี’ / ปิยนุช สุวรรณคีรี และประกิจ ลัคนผจง บรรณาธิการ-รองบรรณาธิการ )

พัฒนาการทางด้านรูปแบบและการใช้สอยในงานก่อสร้างอาคารเนื่องในพระพุทธศาสนาในปัจจุบัน จะมีความแปลกแตกต่างไปจากเดิมอย่างชัดเจนมากในปัจจุบัน ในความเห็นของผู้เขียนนั้น คิดว่าความแปลกใหม่นั้นมาจาก

  1. การออกแบบตามความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้องในงานก่อสร้างทั้งเจ้าของวัด เจ้าของเงิน เป็นผู้ขับเคลื่อนเอง โดยอาจมิได้ทราบถึงองค์ความรู้ที่เป็นฐานทางการออกแบบในระบบ School of Thai Architecture
  2. การออกแบบบนฐานความคิดที่ตั้งอยู่บนปรัชญาของงานออกแบบตามแบบแผนพุทธศิลปสถาปัตยกรรมไทยอย่างที่เคยดำเนินมา (ทั้งงานช่างหลวงและงานพื้นถิ่นที่มีการตกผลึกความรู้ความคิดในศาสตร์ศิลป์มาอย่างยาวนาน ) โดยอาจเห็นการทำงานเป็นอีกสองกลุ่มย่อยคือ ก) กลุ่มที่พยายามรักษาสืบสานงานช่างไทยที่มีมาแต่เดิมมิให้ผิดเพี้ยนไปจากงานครู และ ข) กลุ่มที่พยายามต่อยอดการออกแบบ ซึ่งมีฐานแห่งเอกลักษณ์ทางศิลปสถาปัตยกรรมไทยของงานครูเป็นสำคัญ แต่ต้องการค้นหาสิ่งใหม่ให้เกิดการสืบสานสร้างสรรค์ต่อไป

โดยในหมวดย่อยทั้งสองกลุ่ม ได้รับการศึกษาจากสกุลช่างโดยตรงในสถาบัน หรือองค์กรที่มีการสืบสานองค์ความรู้ในงานสถาปัตยกรรมไทย สืบต่อมาโดยไม่ขาดสาย จึงยังทำให้รูปแบบของงานสถาปัตยกรรมไทยยังไม่ผิดไปจากฉันทลักษณ์ดังที่ รศ.ดร.ภิญโญ กล่าวไว้  แม้สมัยโบราณงานช่างศิลปกรรม จะดำเนินการโดยการคิดการสร้างของพระหรือเจ้าอาวาสในวัด แต่ล้วนเป็นพระช่าง ที่มีการเรียนรู้สืบทอดจากครูช่างศิลปกรรมมาโดยตรง (กล่าวคือได้รับการถ่ายทอดองค์ความรู้งานช่างตามแบบแผน มิใช่นึกเอง) จึงมีฐานความรู้ความคิดที่ตั้งอยู่ในกรอบสำคัญแห่งการสร้างสรรค์ ต่อมาภายหลังความรู้ส่วนนี้ได้ถูกยกออกไปไว้ในกลุ่มสกุลช่าง หรือองค์กรสถาบันการศึกษาแทน คงเหลือเพียงให้พระเป็นผู้ดูแล ศาสนสถาน และจักต้องดูแลด้วยความรู้ความเข้าใจในมรดกทางวัฒนธรรมดังกล่าว ไม่เกิดการทำลายมรดกเหล่านั้นโดยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ซึ่งอาจต้องมีการถวายความรู้ความเข้าใจเพื่อให้ท่านรับทราบถึงความสำคัญดังกล่าว

กลุ่มที่ออกแบบพุทธสถาปัตยกรรม ซึ่งไม่ได้รับการศึกษาในงานสถาปัตยกรรมไทยโดยตรง ย่อมคิดและทำแบบเพื่อการก่อสร้างไปตามความคิดหรือจินตนาการส่วนบุคคล หรือบางครั้งอาจมีจุดมุ่งหมายมุ่งไปที่การสร้างความเร้าใจ หรือความน่าตื่นเต้น ให้แก่ผู้คนที่มาศาสนสถานได้ปักหมุดบนโซเชียล เป็นกระแสในวงกว้าง  ซึ่งมีทั้งอาคารที่เนื่องในพระพุทธศาสนา และเกี่ยวข้องกับลัทธิความเชื่ออื่นๆ  ทั้งนี้ตามจริง การจะสร้างสถานที่ให้เป็นกระแสนิยม ย่อมเป็นประโยชน์แก่เจ้าของสถานที่นั้นๆ แต่หากบทบาทหน้าที่ของสถานที่ดังกล่าวเป็นเช่นไร ก็ควรที่จะรักษาบทบาทหน้าที่นั้นให้ยังดำรงอยู่ เพื่อให้เกิดประโยชน์แก่การใช้งานอย่างที่ควรจะเป็นก่อนเป็นลำดับแรก

นอกจากการเปลี่ยนแปลงทางรูปลักษณ์ทางสถาปัตยกรรมนั้นแล้ว ยังมีการเปลี่ยนแปลงของความเชื่อความศรัทธา ที่นอกเหนือไปจากพุทธศาสนามาผสมผสานในเขตพุทธสถาปัตยกรรมด้วย  อาจกล่าวได้ยากว่า เป็นสิ่งที่ถูกต้องหรือไม่ หากเพราะอาคารในลักษณะนี้เกิดขึ้นสนองตอบศรัทธาแห่งผู้คนที่มีต่อความคิดความเชื่อที่มีความหลากหลายและซับซ้อนมากยิ่งขึ้นในปัจจุบัน และดูเหมือนความคิดความเชื่อที่เคยแยกพื้นที่อย่างชัดเจนในสมัยก่อน ได้พากันเชื่อมเข้าหากันมากขึ้น ทำให้เราอาจเห็นศิลปกรรมในพุทธสถาน อาจมีความหลากหลายมากขึ้น ตามไปด้วย

แต่ในความเห็นของผู้เขียนเห็นว่า ควรมีการจัดการพื้นที่ภายในพุทธสถานทั่วไป ให้มีความเป็นระเบียบเรียบร้อย พื้นที่สำคัญเช่นเขตพุทธาวาส ควรให้ความสำคัญต่อองค์พระพุทธเจ้าด้วยความเคารพศรัทธาเป็นสำคัญ หากจะมีสิ่งที่เกี่ยวเนื่องกับความคิดความเชื่อในลัทธิอื่นควรแยกออกไป หรือหลบไปอยู่ในบริเวณที่ไม่รบกวนความสำคัญของความเป็นเขตพุทธาวาส เฉพาะอย่างยิ่งพื้นที่พุทธพาณิชย์ที่มีค่อนข้างมากในปัจจุบัน ไม่ควรรบกวนพุทธศาสนิกชนที่เข้าไปกราบสักการะบูชาพระพุทธรูปสำคัญในพื้นที่นั้น หรือหากจะเป็นรูปเคารพเทพเจ้าต่างศาสนา ก็ควรหาสถานที่หรือบริเวณสำหรับประดิษฐานที่เหมาะสมเรียบร้อย (เพราะคงไปห้ามความคิดความเชื่ออันเป็นส่วนสร้างความมั่นคงทางใจให้แก่ผู้คนไม่ได้ แต่สามารถจัดระเบียบเชิงฟังก์ชันได้)  ส่วนรูปแบบอาคารอาจสัมพันธ์ไปกับลัทธิความเชื่อนั้นได้ แต่ไม่ก่อให้เกิดมลทัศน์ทั้งเชิงรูปแบบ และบริบทโดยรวมของสถานที่นั้น ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเป็นสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ หรือศิลปกรรมสำคัญของสถานที่นั้น ควรพิจารณาอย่างมากในการออกแบบให้เกิดความเหมาะสม หรือควรมีผู้ออกแบบที่มีความรู้ความเข้าใจในสาขาวิชาชีพนี้โดยตรงมาช่วย เพื่อมิให้เกิดความเสียหายในภาพรวม

งานสถาปัตยกรรมไทยในปัจจุบันส่วนหนึ่ง อาจเกิดการออกแบบโดยเจตนาดีที่จะสร้างการผสมผสานความรู้ทางตะวันตกเข้ามาร่วมด้วย เพื่อให้เกิดงานสถาปัตยกรรมไทยแบบใหม่ๆ ตามความเจริญก้าวหน้าที่เป็นไป เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะสมเด็จครูได้เคยกล่าวถึงข้อพึงระวังและความสำคัญของผู้ออกแบบไว้อย่างน่าคิด กล่าวคือ  คนไทยเองพยามจะให้เป็นการผสมผสานระหว่างไทยและเทศ จนทำให้เกิดเป็น “สถาปัตยกรรมไทยแบบพันทาง” ขึ้น  ด้วยความคิดว่าทันสมัย ความเห็นของพระองค์ปฏิเสธแนวคิดนี้ ด้วยเห็นว่า การจะนับว่าเป็นแบบแผนของชาติใดที่แท้จริงนั้น  ย่อมต้องงอกหรือพัฒนาขึ้นจากพื้นฐานหรือต้นรากเดิมทางวัฒนธรรมของชาตินั้นๆ หาใช่เป็นการผสมปนเปกันไม่[6]

ภาพ : ผลงานออกแบบสมเด็จครู ที่ทรงมีความรู้ ความเข้าใจ และทักษะฝีมือ ในงานออกแบบสถาปัตยกรรมไทยอย่างที่สุด (คลังภาพ บริษัท พีพลัสไทยสตูดิโอ จำกัด)

แนวคิดของสมเด็จครูอาจจะดูว่าเป็นการเข้มงวดต่อการออกแบบอยู่พอสมควร คิดว่าเป็นแนวทางที่สำคัญต่อการพัฒนางานสถาปัตยกรรมไทยในปัจจุบัน เฉพาะในส่วนงานสำคัญที่ยังจำเป็นต้องรักษาลักษณะแห่งความเป็นไทยไว้ และผู้เขียนเห็นว่าแนวคิดในการผสมผสานลักษณะสถาปัตยกรรมอย่างตะวันตก ก็เป็นสิ่งที่สามารถทำได้สำหรับงานที่มิได้มีบริบทที่จำเป็นขนาดนั้น เพียงแต่ต้องมีความเข้าใจในเรื่องสถาปัตยกรรมไทยและฉันทลักษณ์ของงานสถาปัตยกรรมไทย ผสมผสานให้เห็นได้ว่า เกิดการต่อยอด ไม่กลายพันธุ์ไป จนขาดเอกลักษณ์แห่งวัฒนธรรมไทยที่ดีอันควรมีไปอย่างน่าเสียดาย หาไม่แล้วงานชิ้นนั้นก็อาจไปตั้งอยู่ ณ ที่แห่งใดก็ได้ในโลก หากผู้ออกแบบงานสถาปัตยกรรมไทย เป็นผู้ที่ได้รับการศึกษาเรียนรู้ในแขนงวิชาเฉพาะทางนี้มาบ้าง ก็เชื่อว่าจะทำให้การออกแบบ พัฒนาเป็นไปโดยไม่เสียหายต่อมรดกทางวัฒนธรรมส่วนนี้  เพราะจะเข้าใจว่าสิ่งใดดี สิ่งใดเลว สิ่งใดควรออกแบบ สิ่งใดไม่ควรออกแบบ เพราะมีตาที่แม่นยำ ส่งผลดีต่อทั้งเนื้อหาและรูปแบบในงานที่ทำได้ ดังที่สมเด็จครูท่านได้เปรียบไว้ว่า ช่างดี ช่างเลว จะมองเห็นข้อดีข้อเสียในงานได้ไม่เหมือนกัน ช่างดีย่อมเห็นข้อควรตำหนิในงานได้  ส่วนช่างเลวเมื่อดูไม่ออก ก็บอกไม่ได้ว่าจะต้องไปแก้ไขงานอย่างไร หรือมิบางครั้งอาจมองงานดีเป็นงานเลวเอาได้เหมือนกัน ด้วยขาดความรู้ความเข้าใจต่อศิลปะอันดีงาม[7]

******************************************************

หมายเหตุ : เนื้อหาบทความนี้ปรับปรุงจากเนื้อหาส่วนหนึ่งของการทำรายงานประกอบขอเลื่อนขั้นจากภาคีสถาปนิกเป็นสามัญสถาปนิกเพื่อนำเสนอต่อสภาสถาปนิก ในหัวข้อย่อยเรื่อง “พัฒนาการบนฐานการเรียนรู้อย่างเข้าใจในงานสถาปัตยกรรมไทย” โดย ประกิจ ลัคนผจง หน้า 79-86.

[1] ประกิจ ลัคนผจง, สถาปัตยกรรมไทย คุณค่าแบบไทยทำไมต้องไทยแบบนี้  ใน ปริภูมิคดี ฉบับที่ 3 ,จุลสารสถาบันศิลปสถาปัตยกรรมไทย,คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์,มหาวิทยาลัยศิลปากร,( มกราคม-มิถุนายน 255),หน้า20-23.

[2]  อ่านเพิ่มเติมได้ใน ประกิจ ลัคนผจง, คุณค่าในงานศิลปกรรม ใน ศิลปกรรมการช่างวัดอรุณราชวราราม (กรุงเทพฯ : บริษัท อมรินทร์ปริ้นติ้ง แอนด์ พับลิชชิ่ง จำกัด(มหาชน), 2557),หน้า 16-23. (ผู้เขียนร่วม / บรรณาธิการ : รศ.สมคิด จิระทัศนกุล)

[3] สถาบันศิลปสถาปัตยกรรมไทยเฉลิมพระเกียรติ มหาวิทยาลัยศิลปากร , หนังสือที่ระลึกงานพระราชทานเพลิงศพนายประเวศ ลิมปรังษี,(กรุงเทพฯ : บริษัทรุ่งศิลป์การพิมพ์( 1977)จำกัด,2561) ,หน้า 259,หน้า 278.

[4] ปิยนุช สุวรรณคีรี และ ประกิจ ลัคนผจง บรรณาธิการ , ชีวิตและผลงาน รศ.ดร.ภิญโญ สุวรรณคีรี ,(กรุงเทพฯ :บริษัทอมรินทร์ปริ้นติ้ง แอนด์ พับลิชชิ่ง จำกัด(มหาชน), 2561),หน้า 33.

[5] เล่มเดียวกัน หน้า 46.

[6] สมคิด จิระทัศนกุล ,งานออกแบบสถาปัตยกรรมไทยฝีพระหัตถ์ สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ภาคต้น.(กรุงเทพฯ : พิมพลักษณ์,2556) ,หน้า 247.

[7] เล่มเดียวกัน หน้า 238.

TAG: