แบบขยายหนึ่งต่อหนึ่ง
เรื่องของ แบบขยายหนึ่งต่อหนึ่ง ในงาน สถาปัตยกรรมไทย เคยได้มีโอกาสคุยกับเพื่อนในแวดวงสถาปนิก แต่ไม่ได้ทำงานในสายงานสถาปัยกรรมไทย สอบถามถึงการขยายลาย ว่ามีความจำเป็นหรือไม่ และทำไมจึงไม่สามารถนำแบบที่เขียนแบบเป็นลายเส้นด้วยคอมพิวเตอร์ไปพิมพ์ขยายให้ได้ขนาดเท่าจริง แล้วก่อสร้างไปเลย
นี่เป็นสิ่งที่แม้แต่คนในแวดวงสถาปัตยกรรมโดยตรงยังไม่เข้าใจ คนที่อยู่นอกสายงานจึงยิ่งน่าจะเข้าใจได้ยากยิ่งกว่า และมีบางท่านสอบถามว่า ทำอย่างไร จึงจะทำให้คนอื่นๆ ทราบถึงความสำคัญของขยายแบบเท่าจริง หรือ แบบขยายหนึ่งต่อหนึ่ง ในงาน สถาปัตยกรรมไทย ได้

ยิ่งในกระบวนการของการก่อสร้าง ผู้เกี่ยวข้องทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นพระเถระ พระอาจารย์ กรรมการวัด หรือผู้รับเหมาที่อาจไม่ได้คลุกคลีกับการทำงานก่อสร้างงานสถาปัตยกรรมไทยมาก่อน แม้จะเกี่ยวข้องกับงานออกแบบก่อสร้างอยู่ แต่ถ้าไม่เคยผ่านกระบวนการทำงานเต็มรูปแบบ ของงานออกแบบก่อสร้างงานสถาปัตยกรรมไทย ที่จำเป็นต้องมี แบบขยายหนึ่งต่อหนึ่ง หรือไม่เคยเห็นตัวแบบของจริงว่าเป็นอย่างไร ส่งผลต่องานก่อสร้างอย่างไร ก็ไมอาจกล่าวว่าเข้าใจได้
หลายครั้งหลายหน มีการทำงานก่อสร้าง ที่ปล่อยผ่านกระบวนการทำแบบขยายหนึ่งต่อหนึ่งนี้ไป เพราะจะด้วยการมองไม่เห็นความสำคัญของแบบดังกล่าว และคิดว่าเพียงแบบคอมพิวเตอร์ที่มีอยู่ ก็สามารถก่อสร้างได้แล้ว ความเข้าใจเช่นนั้น ส่งผลต่องานก่อสร้างอย่างน่าเสียดาย ทั้งนี้การทำงานดังกล่าวต้องใช้กำลังของผู้ออกแบบ ที่ต้องมีต้นทุนในการทำงาน ซึ่งบางโครงการมองไม่เห็นถึงประโยชน์ที่จะได้รับ แต่ผลสำเร็จของงานที่ขาดกระบวนการทำแบบหนึ่งต่อหนึ่งไป ทำให้งานดูว่าเสร็จในทางการก่อสร้าง แต่มันไม่สำเร็จในทางสถาปัตยกรรมไทย คุณค่าของผลงานทั้งสองแบบจะต่างกัน เมื่อศิลปกรรมสำคัญ ที่จะยกระดับคุณค่าของตัวสถาปัตยกรรมถูกละเลยไป ก็อาจจะได้งานสร้างเสร็จในลักษณะที่ว่า เสร็จแล้วเสร็จเลยเสร็จกัน โดยที่เจ้าของงานอาจไม่รู้ตัวว่า ได้ของที่ไม่สมบูรณ์ไป

การขาดขั้นตอนของการทำ แบบขยายหนึ่งต่อหนึ่ง จึงทำให้ เพชรที่กำลังจะได้รับการเจียระนัยเป็นเหลี่ยมคม อย่างมีระเบียบแบบแผนทางศิลปกรรมที่สำคัญ กลายเป็นถูกขัดถูกไถให้เสร็จไปแบบผ่านๆ ซึ่งไม่แน่ว่าผู้มีอำนาจในการก่อสร้าง จะเข้าใจและเห็นชัดถึงคุณค่าที่หดหายไปในงานสถาปัตยกรรมไทยชิ้นนั้นหรือไม่ อีกทั้งผู้เกี่ยวข้องยังอาจเข้าใจว่าดีงาม ไปตามความคาดคะเน ด้นนึกด้นเดา อย่างขาดหลักวิชามารองรับ ซึ่งนับเป็นเรื่องน่าเสียดายยิ่ง
อันที่จริงก็ไม่ได้ผิดอะไร หากจะสร้างโดยไม่มี แบบขยายหนึ่งต่อหนึ่ง นี้ แต่ผู้เขียนเห็นว่า ของที่เกิดขึ้นนี้ จะคงอยู่ให้ผู้คนได้เห็นไปอีกนานนับนาน หากสามารถทำให้สมบูรณ์แบบได้ คุณค่าของงานก็มีแต่จะเพิ่มพูน จนอาจคาดไม่ถึงว่าผลลัพธ์ จะกลายเป็นรางวัลแห่งความตั้งใจในวันข้างหน้า อย่างเช่นที่เกิดขึ้นกับวัดหลายๆแห่งในบ้านเรา ที่คนทั่วทั้งโลกอยากมาเห็น ก็ด้วยความสมบูรณ์ของสถาปัตกรรมและศิลปกรรม ที่ได้รับการบรรจงสร้างสรรค์ ตามหลักวิชาแห่งปราณีตศิลป์ที่ผสานเข้าเป็นเนื้อเดียวกับสถาปัตยกรรมได้
ถ้าเช่นนั้นแล้ว กระบวนการทำงานที่มี แบบขยายหนึ่งต่อหนึ่ง เป็นอย่างไร ทำอย่างไร จึงจะทำให้งานสถาปัตยกรรมไทยนั้น มีความสมบูรณ์ในกระบวนการออกแบบก่อสร้างที่สุด เพื่อให้เข้าใจถึงคุณค่าและความสำคัญของแบบดังกล่าวนี้ จึงจะขอกล่าวถึงการทำงานชนิดนี้สักหน่อย

โดยข้อมูลของแบบศิลปกรรม หรือแบบขยายหนึ่งต่อหนึ่งนี้ ได้มีปรากฏ ในหนังสือปาฐกถาศิลป์พีระศรี ครั้งที่ 26 ประจำปี พ.ศ.2564 โดย อ.วนิดา พึ่งสุนทร ศิลปินแห่งชาติ เป็นข้อมูลที่สรุปสังเขปความเข้าใจในกระบวนการ งานชนิดนี้ได้อย่างดี แต่ก็อาจหาอ่านได้ยาก เพราะพิมพ์เฉพาะวาระงานดังกล่าวจำนวนไม่มากนัก ฉะนั้นจึงขอยกมาให้ได้อ่านกัน ณ ที่นี้ ดังนี้
************************************************
สรุปความส่วนหนึ่งจากหนังสือ สานสร้างทางไทย
เอกสารประกอบ การแสดงปาฐกถาศิลป์ พีระศรี ครั้งที่ 26 ประจำปี พ.ศ.2564
โดย อ.วนิดา พึ่งสุนทร ศิลปินแห่งชาติ
(จัดโดยมหาวิทยาลัยศิลปากร)

“งานสถาปัตยกรรมไทย เป็นงานที่ประกอบไปด้วยศาสตร์และศิลป์ที่สำคัญสองส่วน ส่วนหนึ่งเป็นภาคของงานออกแบบสถาปัตยกรรม เช่นงานสถาปัตยกรรมบ้านเรือนหรืออาคารต่างๆ ที่ทำกันโดยทั่วไป แต่อีกส่วนที่สำคัญมาก คือภาคของงานศิลปกรรม ที่จะต้องให้เวลาและความสำคัญในการออกแบบ ไม่น้อยไปกว่าส่วนแรก โดยแบบครั้งแรกนี้จะมีความซับซ้อนในแง่ของการวางฟังก์ชันการใช้งานให้ตรงตามความต้องการของเจ้าของโครงการ แบบที่แล้วเสร็จในขั้นตอนนี้ สามารถนำไปใช้สำหรับงานก่อสร้างเพื่อให้สามารถใช้งานได้ตามมาตรฐานแบบก่อสร้าง..
จากนั้นสถาปนิกจะต้องนำแบบชุดแรกนี้ ไปทำการออกแบบครั้งที่สอง ซึ่งต้องใช้เวลาและทักษะความสามารถเฉพาะทางมากขึ้น นั่นคือการออกแบบรายละเอียดในส่วนของรูปแบบและรายละเอียดของงานศิลปกรรมในส่วนต่างๆ ของอาคาร ซึ่งได้ถูกกำหนดไว้เป็นกรอบกว้างๆ แล้วในครั้งแรก การออกแบบในครั้งที่สองนี้ เสมือนกับการทำการออกแบบซ้อนลงไปในการออกแบบครั้งแรก ที่คนโดยทั่วไปอาจคิดว่าแบบเสร็จสมบูรณ์เรียบร้อยแล้ว แต่ความจริง เราไม่สามารถออกแบบในส่วนของงานศิลปกรรมให้สมบูรณ์ได้ เนื่องจากจะต้องมากำหนดแนวคิดของลวดลาย และขยายรายละเอียดของลาย ทั้งการบากลาย การซ้อนลาย มิติของลาย รวมไปถึงรายละเอียดปลีกย่อยอื่นๆ ที่จะต้องมาดำเนินการตอนทำแบบขยายเท่าจริง หรือที่เรียกกันว่าแบบขยาย 1 ต่อ 1 และอาจใช้เวลาไม่น้อยไปกว่าการทำแบบครั้งแรกที่ใช้สำหรับการก่อสร้างนี้เลย

แบบขยายงานศิลปกรรม หรือลายเท่าจริงนี้ จะเกิดจากการออกแบบในสเกลเล็กๆ ก่อน เช่น 1 ต่อ 50 เมื่อออกแบบจนได้ลักษณะที่ต้องการแล้ว จึงขยับไปทำรายละเอียดในขนาดของแบบที่โตขึ้น เป็น 1 ต่อ 25 เป็น 1 ต่อ 10 เป็น 1 ต่อ 5 จนกระทั่งถึง 1 ต่อ 1 ซึ่งเป็นสัดส่วนจริงที่สามารถใส่รายละเอียดและมิติของลายได้อย่างครบถ้วน และเป็นขนาดที่ช่างศิลปกรรมสามารถนำไปทำงานต้นแบบได้ทันที ซึ่งจะทำให้งานศิลปกรรมที่ทำต่อจากแบบขยายเท่าจริงนี้ไม่ผิดเพี้ยน ความสำคัญของงานออกแบบในระดับของดีเทลนี้คนทั่วไปอาจไม่เข้าใจว่ามันจำเป็นมากน้อยขนาดไหน แต่ในการเรียนรู้ตามแบบแผนครูช่างไทย เราจะทราบกันดีว่าเป็นสิ่งสำคัญ ที่ทำให้งานออกแบบ ได้เดินทางไปจนถึงปลายทางของกระบวนการในงานสถาปัตยกรรมไทยได้อย่างสมบูรณ์
แม้ว่าการออกแบบในครั้งที่สองนี้จะทำให้งานศิลปกรรมมีความสมบูรณ์ที่สุดแล้ว แต่ในกระบวนการทำงานจริง ผู้ออกแบบยังต้องตามไปดูการขึ้นงานต้นแบบของศิลปกรรมนั้นต่อด้วย เพราะการดูมิติของลายเส้นกับมิติของชิ้นงานจริง อาจจะมีลักษณะของลีลาในงานบางอย่างที่ช่างอาจยังไม่ทราบตามความต้องการของผู้ออกแบบ หรือบางครั้ง งานที่ทำขึ้นมาจริงๆ แล้วอาจมีปัจจัยของหน้างานที่ทำให้ไม่สามารถทำได้ตามแบบทั้งหมด ซึ่งความคลาดเคลื่อนต่างๆ ของงานก่อสร้างเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้เสมอ แม้จะมีการควบคุมดูแลอย่างรัดกุมแล้วก็ตาม แต่หากได้รับการดูแลอย่างดี ค่าความคลาดเคลื่อน หรือสิ่งที่เกิดขึ้นเหนือความคาดหมาย ก็จะเกิดขึ้นได้น้อยที่สุด

จะเห็นได้ว่ากระบวนการทำงานในด้านศิลปกรรมนั้น มิใช่งานที่จะสามารถปล่อยผ่านไปได้ง่ายๆ เลย หากต้องการให้งานสถาปัตยกรรมไทยมีความสมบูรณ์ ทั้งนี้ลักษณะของศิลปกรรมในงานสถาปัตยกรรมไทย ยังเป็นเสมือนผลงานของผู้ออกแบบที่เปรียบดั่งศิลปินที่รังสรรค์ผลงานซึ่งจะมีลักษณะของการเขียนลาย หรือทางลาย อันเป็นแบบหรือบุคลิกเฉพาะตัวของแต่ละบุคคล เพราะการสร้างสรรค์งานศิลปกรรมในงานสถาปัตยกรรมไทย ก็ไม่ต่างจากศิลปินผู้สร้างงานศิลปะ อาทิ จิตรกรรม ประติมากรรม เช่นกัน เบื้องหลังผลงานที่ออกแบบที่มีความต่างกันนั้น ย่อมเป็นไปตามประสบการณ์ ความคิดความเชื่อและเจตคติของผู้ออกแบบแต่ละคนด้วย…”
*************************************************
จากข้อมูลข้างต้น น่าจะช่วยให้เข้าใจถึงความสำคัญของการทำแบบขยายหนึ่งต่อหนึ่งได้มากขึ้น และหวังว่าผู้เกี่ยวข้องในกระบวนการ โดยเฉพาะเจ้าของโครงการและผู้รับจ้างก่อสร้าง จะเห็นประโยชน์แห่งการดำเนินการทำงาน ที่ครบถ้วนสมบูรณ์ตามกระบวนการงานช่างไทย เพื่อรังสรรค์ต่อยอดผลงานศิลปะสถาปัตยกรรมให้เป็นผลงานอันทรงคุณค่าสืบไป

TAG: