ฐานานุศักดิ์ในงานสถาปัตยกรรมไทย

ฐานานุศักดิ์ในงานสถาปัตยกรรมไทย

Home » Talk Thai Arch » ฐานานุศักดิ์ในงานสถาปัตยกรรมไทย

ฐานานุศักดิ์ในงานสถาปัตยกรรมไทย เป็นคำที่ฟังดูเหมือนเป็นการแบ่งชั้นแบ่งพวก และดูจะขัดความรู้สึกกับความร่วมสมัยในปัจจุบันอยู่พอควร ค่อยๆมาไล่เรียงดูกันว่าทำไมจึงเป็นเช่นนั้น ฐานานุศักดิ์ในงานสถาปัตยกรรมไทย  คือการให้ความสำคัญแก่บางสิ่งบางอย่างที่สมควรได้รับการเคารพอย่างเป็นระบบ ระเบียบ และแบบแผน อันสะท้อนผ่านรูปแบบทางสถาปัตยกรรม ทั้งรูปทรงองค์ประกอบและการตกแต่ง ทั้งโดยหน้าที่การใช้สอย และความหมายอันเกี่ยวเนื่องกับคติบางประการ

ภาพ : รูปแบบ และองค์ประกอบในงานสถาปัตยกรรมไทย มีคติ ซึ่งสัมพันธ์กับฐานานุศักดิ์ของงาน ( วังหน้า )

ก่อนจะพูดถึงลำดับชั้นในงานสถาปัตยกรรมไทย เราอาจมองไปในลักษณะกลางๆ ก่อน เช่น บ้านสักหลัง ก็จะมีห้องต่างๆ มากมาย ห้องเหล่านั้น ในทางการออกแบบ ก็จะมีค่าความสำคัญของพื้นที่ใช้งานต่างๆ อยู่ด้วยเช่นกัน เช่น ห้องเก็บของอาจมีลำดับความสำคัญน้อยสุด และห้องนอนก็อาจเป็นห้องที่มีความสำคัญมากสุด เนื่องจากเป็นพื้นที่ส่วนตัวที่สุด และเป็นพื้นที่ซึ่งอาจมีของมีค่าสำคัญเก็บไว้ในพื้นที่นี้ด้วย

แม้ห้องน้ำจะมีความสำคัญ แต่ความสำคัญเมื่อนำมาเทียบกับห้องนอนว่า มีความสำคัญเท่ากันได้หรือไม่ ก็คงไม่อาจจะกล่าวว่าสำคัญเท่ากันแบบนั้นได้ แต่อย่างไรก็ดี ทุกห้องล้วนทำให้บ้านหนึ่งหลัง สมบูรณ์ได้ในตัว กล่าวคือทุกห้องนั้น ตามจริงล้วนมีบทบาทที่เติมเต็มให้บ้านหลังนั้น กลายเป็นบ้านที่เหมาะสำหรับการอยู่อาศัยอย่างแท้จริงได้ ในห้องนอน เมื่อเราเปิดดูในตู้เสื้อผ้า ก็จะมีเสื้อผ้าอีกหลายชุด ชุดนอนอาจเป็นชุดที่มีลำดับความสำคัญน้อยสุด หากเทียบกับชุดทำงานซึ่งจะต้องใช้ในการสวมใส่ไปทำกิจการงานและพบปะผู้คนมากมาย แต่ก็เป็นชุดที่สำคัญที่สุดเมื่อต้องนอน

สองตัวอย่างที่กล่าวมา อาจมีเหตุปัจจัยในการให้ลำดับความสำคัญต่างกัน แต่ก็จะเห็นได้ว่า ในสิ่งต่างๆ นั้น ก็จะมีลำดับความสำคัญที่แตกต่างกันไปมากน้อยตามเหตุผลแห่งการใช้งาน  แต่แม้ว่าจะมีลำดับความสำคัญมากน้อยต่างกัน ก็ไม่อาจจะขาดสิ่งหนึ่งสิ่งใดได้ ต้องประสานรวมกัน เพื่อให้กระบวนการใช้งานสิ่งเหล่านั้นครบถ้วนบริบูรณ์ในทุกๆ สถานการณ์ที่เกี่ยวเนื่องหรือต่อเนื่องกัน    การแสดงออกซึ่งความสำคัญของสิ่งใดๆ นั้น มักปรากฏรูปแบบต่อสายตาโดยตรงที่เข้าใจได้ทันทีที่เห็น หรือหากมีความสำคัญในเชิงคติประเพณีก็อาจมีสัญลักษณ์เชิงความหมายเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย

ภาพ : รูปแบบงานสถาปัตยกรรมไทย โดยมากจะปรากฏชัดถึงลักษณะที่สื่อแสดงถึงฐานานุศักดิ์อย่างชัดเจน

ฐานานุศักดิ์ในงานสถาปัตยกรรมไทย ที่กล่าวถึงข้างต้น ก็เป็นคำเรียกเพื่ออธิบายถึงลำดับชั้นความสำคัญของอาคารทางไทย เพื่อให้เข้าใจว่ามีบทบาทหน้าที่ในการแสดงถึงผู้ใช้ หรือแบบแผนพิธีการที่เกี่ยวเนื่องกับการใช้งานที่มีลำดับหน้าที่ตามความสำคัญ ทั้งต่อบุคคล และต่อสังคม

ในหนังสือ สถาปัตยกรรมไทย ปาฐกถาชุด “สิรินธร” ครั้งที่ 9 โดย อ.นิจ หิญชีระนันท์ ได้อธิบายถึงฐานานุศักดิ์ ของงานสถาปัตยกรรมว่า

เปรียบดั่งกริยามารยาททางสังคมไทย ที่เป็นระเบียบของสังคม สิทธิอันควรทางสังคม

โดยอาจารย์ได้ยกตัวอย่าง ซึ่งในที่นี้ขอสรุปมาให้เข้าใจดังนี้

ประตู : ทางเข้าพระที่นั่ง โบสถ์ วิหาร ที่ทำไว้เป็นสามช่องประตูนั้น ประตูกลางย่อมเป็นทางเฉพาะสำหรับเสด็จพระราชดำเนินเท่านั้น ขุนนาง ข้าราชการ ใช้แต่ประตูข้างดังวัดพระศรีรัตนศาสดาราม

หลังคา : หลังคาท้องพระโรงระดับเจ้าฟ้า มีมุขลดเป็นสองชั้น ส่วนท้องพระโรงระดับพระองค์เจ้าลงมา มีหลังคาชั้นเดียว

กำแพง: วังระดับเจ้าฟ้า ใช้ใบเสมา วังระดับพระองค์เจ้าลงมาไม่ใช้ใบเสมา

เป็นต้น

นอกจากนั้นอาจารย์นิจ ยังมีคำวินิจฉัยทิ้งไว้อีกว่า

ห้างร้าน ภัตตาคาร ฯลฯ ที่เกิดจากการรื้อวิหารมาประกอบขึ้นใหม่ หรือสิ่งที่สร้างอาคารทรงไทยขึ้นใหม่ มีหลังคาประกอบด้วยช่อฟ้าใบระกา เลียนแบบพระที่นั่งหรือวิหารดังที่ปรากฏอยู่ในบางแห่งอย่างไม่รู้จักที่สูงที่ต่ำนั้น นับเป็นการกระทำที่ขาดการพิจารณากลั่นกรองในด้านของความเหมาะสม โดยเฉพาะในด้านของฐานานุศักดิ์

ข้อมูลข้างต้นเป็นการบรรยายที่เกิดขึ้นใน ปี พ.ศ.2536 ซึ่งเป็นเวลาราว 30 ปีมาแล้ว ในห้วงเวลาที่บ้านเมืองไทยอาจยังไม่ได้มีสภาพบ้านเมืองที่เจริญด้วยอาคารสถานที่ต่างๆ อย่างมากเช่นทุกวันนี้

ฐานานุศักดิ์ กับการออกแบบ

ในปัจจุบันมีเรื่องราวหลายเรื่องที่อาจมีความคิดความเห็นที่แตกต่างไปจากในอดีต และบางเรื่องก็อาจยังมีความเชื่อความเห็นในทางอนุรักษ์สิ่งที่มีคุณค่าต่อชาติในอดีตไว้ ไม่ให้เสื่อมหายไป ซึ่งหลายประเทศแม้จะอยากมีก็มีไม่ได้เพราะสิ่งเหล่านี้เป็นมรดกทางวัฒนธรรม และฐานานุศักดิ์กับการออกแบบ ก็มีความเกี่ยวเนื่องกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในงานสถาปัตยกรรมไทย หากเกี่ยวเนื่องด้วยสถาบันพระมหากษัตริย์ ก็อาจจะยังต้องรักษาไว้ซึ่งแบบแผนคตินิยมในทางการออกแบบอาคารทางไทยที่รับใช้ในเชิงประเพณีอยู่เช่นเดิม แต่หากเป็นงานที่เป็นไปเพื่อส่วนภาคเอกชน เป็นการส่วนตัว ก็อาจมิได้คำนึงถึงฐานานุศักดิ์ทางการออกแบบดังเดิม แม้ว่าจะเป็นงานออกแบบที่ทำเพื่อการใช้สอยในแบบเดิมก็ตาม ซึ่งขึ้นอยู่กับทัศนะความคิดความเชื่อ ของผู้เกี่ยวข้องแห่งการสร้างงานนั้นๆ

ภาพ : ศาลท่านท้าวมหาพรหม ณ คิง เพาเวอร์ มหานคร (สถาปนิก : บริษัท พีลัสไทยสตูดิโอ จำกัด ) มีรูปแบบตามคติแบบแผนที่ร่วมสมัย

สำหรับงานสถาปัตยกรรมไทยในสถาบันพระมหากษัตริย์นั้น ฐานานุศักดิ์ถือว่ามีความสำคัญอย่างมาก เนื่องจากเป็นเครื่องแสดงถึงลำดับความสำคัญทางสังคม เป็นที่ปรากฏเชิงประจักษ์สะท้อนถึงอำนาจวาสนาบารมี อันเกี่ยวเนื่องกับคติที่มีมาว่า กษัตริย์เปรียบดั่งสมมติเทพ จึงต้องมีเครื่องทรง เครื่องประกอบ ที่สะท้อนถึงคติดังกล่าว ในส่วนของสถาปัตยกรรมไทย ที่เห็นชัดคือรูปแบบอาคารที่เรียกว่าพระที่นั่ง มหาปราสาทราชวัง อันเป็นที่ประทับตามแบบแผนคตินิยม  มีสถาปัตยกรรมเครื่องลำยอง และยอดปราสาททรงยอดมณฑป อันแสดงถึงพระเกียรติยศแห่งองค์รพระมหากษัตริย์ จากภายนอกหากสะท้อนเข้าสู่ภายใน ภายใต้เครื่องทรงของอาคาร อันเห็นเป็นยอดปราสาทนั้น มักจะปรากฏพระที่นั่งที่มีการกางกั้นฉัตรอยู่ภายใต้ นับเป็นรูปลักษณ์ทางศิลปสถาปัตยกรรมรูปทรงยอดแหลมเพื่อแสดงถึงการเป็นที่ประทับอันเป็นศูนย์กลางแห่งคติขององค์พระมหากษัตริย์ผู้ซึ่งเป็นสมมติเทพ ในทำนองเดียวกัน

ความหมายของรูปทรงองค์ประกอบและการตกแต่ง ล้วนมีความหมายในการอธิบายความสำคัญแห่งองค์พระมหากษัตริย์ อันเป็นสมมติเทพอย่างสมบูรณ์ทั้งสิ้น จึงเป็นการชัดเจนในการใช้งานอย่างจำเพาะเจาะจง ที่ไม่สามารถจะนำไปใช้อย่างทั่วไปได้ และในสมัยก่อนจะเปลี่ยนแปลงการปกครองนั้น ได้มีข้อห้ามในการใช้รูปแบบทางสถาปัตกรรมอันเป็นเครื่องแสดงถึงสถานภาพทางสังคมไว้ด้วย ดังข้อความที่ยกมาอ้างของ อาจารย์นิจ หิญชีระนันท์  หรือตัวอย่างอื่นๆ เช่น การไม่ยกยอดอาคารทรงปราสาทสำหรับวังหน้า ใช้ได้แต่เฉพาะวังหลวง  หรือกำแพงที่อยู่อาศัยจะทำเป็นใบเสมาได้ จะต้องเป็นเจ้านายระดับชั้นเจ้าฟ้าฯ ขึ้นไป เป็นต้น

ภาพ : ปราสาทเครื่องยอดเปรียบดั่งอาภรณ์เฉพาะบุคคล ( พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท )

ระเบียบแบบแผนดังกล่าวเป็นสิ่งที่สถาปัตยกรรมไทย ได้ทำหน้าที่เปรียบดั่งภูษาอาภรอันเป็นเครื่องทรงของบุคคล สะท้อนถึงลำดับความสำคัญทางสังคมที่ผู้คนนั้น ๆ มี เป็นการแสดงถึงพระราชอำนาจบารมีแห่งองค์พระมหากษัตริย์ หรือบุคคลชั้นต่างๆ  หากแต่ในทำนองเดียวกันเป็นเป็นดั่งมารยาทางสังคมในการให้ความเคารพแก่ผู้ปกครองในระดับชั้นสูงสุดด้วยเช่นกัน 

หากเปรียบเป็นปัจจุบัน ก็เหมือนกับการให้ความเคารพในอาวุโส ที่อาจจะเป็นอาวุโสด้วยอายุ หรืออาวุโสด้วยประสบการณ์ หรืออาวุโสด้วยบทบาทฐานะหน้าที่ซึ่งอยู่เหนือกว่า แต่ความเหนือกว่านี้ในปัจจุบันก็อาจมีการตีความแตกต่างจากอดีต กล่าวคือความเหนือกว่าไม่ได้แปลว่าอยู่เหนือกฎกติกาทางสังคม ที่ไม่คำนึงถึงระเบียบวินัยของบ้านเมืองที่ทุกคนต้องเคารพอย่างเดียวกัน   

ภาพ : องค์ประกอบที่ปรากฏในงานสถาปัตยกรรมไทย เล็กๆ น้อยๆ ล้วนมีความหมายที่สื่อถึงฐานานุศักดิ์ (พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ )

ระเบียบมีความสำคัญต่อลำดับชั้นทางสังคม ที่ต้องมีการบริหารจัดการอย่างเหมาะสม ในทุกๆสังคมต้องมีระเบียบอันเป็นที่ยอมรับของทุกคน อาทิระเบียบแห่งลำดับการมาก่อนหลัง หากไม่จัดลำดับใครมาก่อนหลัง ก็คงไม่สามารถบริหารจัดการการอยู่อาศัยร่วมกันทางสังคมได้อย่างสงบเรียบร้อย สิทธิดังว่านี้ก็เป็นสิทธิที่มีในทุกสถานที่ แม้แต่ในที่ทำงานก็มีระเบียบลำดับชั้นการปกครองบริหารองค์กร หรือระเบียบการแต่งกายภายในองค์กรเดียวกัน  ทั้งนี้ก็เพื่อให้การบริหารจัดการองค์กรต่าง ๆ เป็นไปอย่างมีระเบียบ (แต่ทั้งนี้ผู้มีสิทธิ์ทางการปกครองหรืออำนาจในการจัดระเบียบ ก็ควรต้องใช้สิทธิ์อย่างถูกต้องชอบธรรม ให้เกียรติซึ่งกันและกันด้วย )

งานสถาปัตยกรรมไทย มีหลากหลายประเภท และมีระเบียบในทางการออกแบบจำเพาะในแต่ละประเภทนั้น การให้ความสำคัญทางลำดับชั้นในงานสถาปัตยกรรมไทย จึงช่วยให้มีระเบียบทั้งการใช้สอยทางกายภาพ และทางความรู้สึกควบคู่กัน เหมือนกับเราเข้าไปในงานพิธี แต่ละคนที่แต่งกายแตกต่างกันอย่างมีแบบแผนชัดเจน จะช่วยให้แยกแยะบทบทหน้าที่ของแต่ละคนได้ ซึ่งทั้งหมดนี้อาจกล่าวว่าเป็นเรื่องสมมติ แต่มันก็จำเป็นในการอาศัยสมมตินี้ในการสร้างความเป็นระเบียบเรียบร้อย  การใส่เครื่องแต่งกายข้ามบทบาทหน้าที่อาจไม่ผิด (ยกเว้นเป็นเครื่องแบบที่มีกฏหมายรับรอง)  แต่จะไม่เหมาะสมเอาได้ เพราะทุกคนล้วนมีบทบาทหน้าที่เฉพาะ ซึ่งอาจเป็นบทบาทหน้าที่โดยกำเนิด หรือบทบาทหน้าที่โดยความสามารถที่สั่งสมมา เพื่อแสดงถึงตัวตนของผู้สวมเครื่องแบบหรืออาภรณ์นั้นๆ

งานสถาปัตยกรรมไทยเครื่องลำยอง จึงเป็นสถาปัตยกรรมที่เรียกว่าแสดงถึงฐานานุศักดิ์อยู่ในตัวแล้ว ไม่ว่าจะเป็น โบสถ์ วิหาร การเปรียญ เจดีย์ หรือแม้กุฏิ ก็มีรูปแบบและองค์ประกอบ เครื่องตกแต่งต่างๆ ที่ประกอบด้วยสัญลักษณ์และความหมายที่ไม่ใช้สำหรับผู้คนทั่วไป  และเครื่องประกอบฐานานุศักดิ์นั้น ก็อาศัยศิลปกรรมต่างๆ เป็นเครื่องมือหรือกลไกหนึ่งในการสร้างความสมบูรณ์ให้แก่สถาปัตยกรรมไทย ศิลปกรรมเหล่านั้น เปรียบได้กับเครื่องประดับที่มีลำดับความสำคัญดังกล่าว เมื่อนำไปวางประดับไว้ที่ใด ย่อมแสดงถึงคุณค่าและแสดงฐานะลำดับชั้นให้แก่สถาปัตยกรรมชิ้นนั้นๆ ไปโดยปริยาย

ภาพ : เครื่องประกอบในงานสถาปัตยกรรมไทย มีระดับฐานานุศักดิ์ที่ออกแบบให้เหมาะสมในแต่ละระดับได้
( อุโบสถ 3 ชั้น วัดภัททันตะอาสภาราม ชลบุรี / สถาปนิก : บริษัท พีพลัสไทยสตูดิโอ จำกัด )

ฐานานุศักดิ์ คือคุณค่าความสำคัญ

ฐานานุศักดิ์ คือคุณค่าความสำคัญ ช่วยยกระดับความสำคัญของอาคาร จากการใช้สอยโดยปกติสามัญ  ให้เคลื่อนขึ้นสู่งานสถาปัตยกรรมที่มีความพิเศษเชิงจิตวิญญาณ และสะท้อนถึงคุณค่าเชิงวัฒนธรรม ให้ผสานรวมเป็นหนึ่งเดียวกับงานชิ้นนั้นๆ กล่าวคือยกระดับคุณค่า ความงาม ความสำคัญขึ้นในคราวเดียวกัน โดยอาศัยศิลปกรรมและองค์ประกอบในงานสถาปัตยกรรมไทยเป็นเครื่องช่วยในการสื่อสารทางการออกแบบ  สิ่งนี้เป็นมรดกภูมิปัญญาที่สั่งสมบ่มเพาะมาโดยอาศัยสังคม เศรษฐกิจ และวัฒนธรรมโดยรวมเป็นตัวขับเคลื่อน ไม่อาจเกิดขึ้นอย่างฉับพลันได้ ในแต่ละประเทศจึงไม่สามารถสร้างสิ่งดังกล่าวนี้ได้เองด้วยใครคนใดคนหนึ่ง แต่เกิดจากการบ่มเพาะของสังคมมาโดยลำดับ

ฉะนั้นแล้วงานสถาปัตยกรรมใด ที่ต้องการคุณค่าพิเศษที่แสดงถึงระดับชั้นความสำคัญ และคุณค่าแห่งมรดกทางวัฒนธรรม ในเชิงเชิดชู ให้ความสำคัญ จึงมักอาศัยศิลปกรรมในงานสถาปัตยกรรมไทยเป็นเครื่องมือในการเสกสร้าง ยิ่งเป็นงานที่เกี่ยวเนื่องจำเพาะบุคคลที่มีความสำคัญเชิงจิตวิญญาณ ยิ่งอาจจะมีผลต่อการออกแบบสถาปัตยกรรมไทยมากยิ่งขึ้นไปด้วย  แต่ก็มิใช่เป็นข้อจำกัดจำเพาะทางการออกแบบงานสถาปัตยกรรมเสมอไป ว่าหากต้องการสื่อสารทางความรู้สึก หรือการสร้างคุณค่าทางจิตวิญญาณให้แก่งานสถาปัตกรรมชิ้นนั้นๆ แล้ว จำเป็นต้องอาศัยรูปแบบงานสถาปัตยกรรมไทยเสมอไป แต่อาจเป็นเพียงทางเลือกหนึ่งในหลายๆ ทางเลือกของเจ้าของโครงการเท่านั้น

ภาพ : งานออกแบบที่เจ้าของโครงการเห็นว่าควรได้รับการออกแบบให้มีฐานานุศักดิ์อันเหมาะสมต่อองค์เทพชั้นสูง
( สถาปนิก : บริษัท พีพลัสไทยสตูดิโอ จำกัด )

ในส่วนของการออกแบบเฉพาะภาคส่วนของเอกชน หรือของบุคคลทั่วไป ในงานบางชนิด อาศัยฐานานุศักดิ์ในการออกแบบอยู่ด้วยเช่นกัน อาทิ การออกแบบศาลพระพรหม ซึ่งถือเป็นเทพชั้นสูง ที่มีระดับชั้นฐานะทางสังคมแห่งเทพที่ควรแก่การให้ความเคารพบูชา ทั้งนี้เราอาจเห็นในหลายสถานที่มีการออกแบบศาลพระพรหมให้มีความทันสมัย สอดรับไปกับตัวอาคารที่มีความทันสมัยไปตามสังคมเศรษฐกิจวัฒนธรรมแบบใหม่ ซึ่งนั่นก็ขึ้นอยู่กับความคิด ความเชื่อของแต่ละบุคคล หากความคิดความเชื่อนั้นไม่ได้ไปรบกวนผู้อื่นผู้ใดย่อมทำได้ในขอบเขตรับผิดชอบแห่งตน  

เราอาจเคยเห็นการออกแบบศาลพระภูมิ เจ้าที่ ในบางโครงการที่ไม่ได้มีรูปแบบของงานสถาปัตยกรรมไทยแล้ว แต่ออกแบบให้มีลักษณะเป็นงานสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ ทำนองเดียวกันกับภาพรวมของโครงการ ซึ่งก็ถือเป็นทางเลือกที่เจ้าของโครงการเห็นชอบ เพื่อต้องการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ อันเป็นเจตจำนงที่กำหนดให้งานออกแบบปรากฏความทันสมัยเช่นนั้น ในขณะที่บางโครงการต้องการรูปแบบสถาปัตยกรรมที่สื่อความหมายในการให้ความสำคัญกับคติแบบแผน ตามแบบพราหมณาจารย์กำหนด ว่าเป็นการให้เกียรติและเคารพแก่ผู้สถิตในสถาปัตยกรรมพิเศษชิ้นนั้น และเห็นว่าเป็นคุณค่าทางจิตวิญญาณที่ให้ความสำคัญผ่านรูปแบบที่สื่อสารได้อย่างชัดเจนเป็นสำคัญ ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับความคิด เจตคติ และประสบการณ์ ความรู้สึกของเจ้าของงานว่าจะมีต่องานชิ้นนั้นอย่างไร และเลือกไปในทางที่เหมาะกับจริตตน หรือบางครั้งก็อาจมองไปถึงทัศนคติที่ผู้อื่นจะมีความคิดความรู้สึกต่อโครงการนั้นด้วย

ครั้งหนึ่งผู้เขียนเคยได้รับการติดต่อจากลูกค้าท่านหนึ่ง ที่ไว้วางใจ และเชื่อมั่นว่าผู้เขียนจะสามารถออกแบบที่อยู่อาศัยซี่งมีลักษณะงานสถาปัตยกรรมไทย ให้ได้ตามที่ต้องการ เมื่อได้คุยความต้องการของเขาก็พบว่าเขามีความประทับใจในงานสถาปัตกรรมไทยมาก อย่างน่าชื่นชม และต้องการให้ออกแบบบ้านพักอาศัยของเขาให้มีเรือนยอดปราสาทแบบพระบรมมหาราชวังบ้าง ซึ่งต้องยอมรับว่าในทีแรกรู้สึกตกใจกับความต้องการของเจ้าของบ้านมาก ความรักที่มีต่องานสถาปัตยกรรมไทยเป็นสิ่งที่ดีงาม แต่หากเจ้าของบ้านทำตามความต้องการโดยไม่ทราบที่มาและความหมายของฐานานุศักดิ์ในงานออกแบบ ก็อาจทำให้เกิดข้อผิดพลาดหรือความไม่เหมาะสมได้ ต้องอธิบายให้เข้าใจว่า รูปแบบงานดังกล่าวมีที่มาที่ไป และเหตุผลอย่างไรในการออกแบบให้มีลักษณะเช่นนั้น   

ความไม่ทราบนี้ หากยกตัวอย่างเช่นว่าบางท่านชอบชุดเครื่องแบบของตำรวจทหาร ซึ่งถ้าเราไม่ได้เป็นตำรวจหรือทหาร การจะใส่ชุดหรือเครื่องแบบนั้น ย่อมไม่สามารถทำได้ ( ส่วนนี้ไม่ใช่แค่ความเหมาะสม แต่ถึงขั้นผิดกฎหมาย )  แม้จะเป็นการเปรียบเทียบที่ไม่ตรงนัก แต่ก็คิดว่าจะทำให้เข้าใจได้มากขึ้นว่าของบางอย่างถูกสร้างขึ้นเพื่อใช้งานเฉพาะบทบาทหน้าที่ที่กำหนดไว้

ทั้งนี้งานสถาปัตยกรรมก็ใช่ว่าจะออกแบบใช้สอยรูปแบบต่างๆ ได้โดยไม่มีกฎกติกาอะไร การออกแบบบางอย่างก็ถูกกำหนดความหมายอย่างจำเพาะเจาะจงไว้แล้ว ผู้คนที่ไม่เข้าใจกระบวนการในการออกแบบและก่อสร้าง ก็อาจมองว่าไม่ได้มีความซับซ้อนอะไร  เส้นแต่ละเส้นประกอบเป็นรูปแบบรูปทรง ล้วนผ่านการหาข้อมูลทั้งศาสตร์และศิลป์ที่เกี่ยวข้องจำนวนมาก จนได้ข้อสรุปที่เหมาะสม ซึ่งอาจผ่านทางเลือกในกระบวนการออกแบบมากมายหลายเส้น รวมถึงความหมายที่ซ่อนอยู่เบื้องหลังเส้นเหล่านั้น กว่าจะสรุปเลือกเส้นที่เหมาะสมที่สุด ให้ผลทางการใช้งานที่เหมาะสมที่สุด การชั่งตวงวัดประเมินค่าก่อนจะสรุปเลือกเส้นใดๆ จึงมีความสำคัญต่อผู้ออกแบบอย่างมาก และท้ายที่สุดเมื่องานแล้วเสร็จ ตัวงานสถาปัตกรรมนั้นก็จะเป็นเสมือนตัวแทนหรือความหมายบางประการที่สื่อไปถึงเจ้าของโครงการว่าเป็นเช่นไรด้วย 

ภาพ : องค์ประกอบที่ปรากฏในงานสถาปัตยกรรมไทย รูปครุฑที่สื่อถึงฐานานุศักดิ์แห่งองค์พระมหากษัตริย์ ( พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท )

กล่าวโดยสรุป ฐานานุศักดิ์ในงานสถาปัตยกรรมไทย เป็นแบบแผนทางการออกแบบที่มีรูปแบบ องค์ประกอบ และงานศิลปกรรม ที่ประกอบด้วยความหมาย อันสื่อถึงผู้สร้าง ผู้ใช้ หรือผู้ที่ต้องการอุทิศให้ ซึ่งมีความจำเพาะเจาะจง ทั้งนี้ความหมายที่มีอยู่นั้นอาจเป็นความหมายในลักษณะการเชิดชู ให้เกียรติ เคารพ บูชา หรือเฉลิมฉลอง ก็สุดแท้แต่เจตจำนงอันเป็นวัตถุประสงค์สำคัญของการออกแบบสร้างสรรค์  การเลือกใช้รูปทรง องค์ประกอบ รวมศาสตร์ศิลป์ดังกล่าวนี้จึงต้องเป็นไปด้วยความรู้ ความเข้าใจ จึงจะส่งเสริมให้ตัวงานสถาปัตยกรรมมีคุณค่าโดยสมบูรณ์

จากที่กล่าวมาข้างต้น เชื่อว่าจะทำให้ผู้อ่านได้รับทราบข้อมูลที่จะก่อให้เกิดความเข้าใจ ในคำว่า ฐานานุศักดิ์ในงานสถาปัตยกรรมไทยได้มากขึ้น และย่อมทำให้การมีส่วนแห่งการสร้างสรรค์ในอนาคต มีการผลิดอกออกผลทางการสร้างสรรค์ที่ดีงามไม่ผิดไปจากศาสตร์ศิลป์จำเพาะทาง ที่ได้สั่งสมบ่มเพาะ จนเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่ขึ้นหิ้งมาถึงทุกวันนี้

TAG:

Read this article in English