สัดส่วนในงานสถาปัตยกรรมไทย ว่าด้วยตำรา
หนังสือเรื่อง สัดส่วนในงานสถาปัตยกรรมไทย แต่งโดย รศ.ฤทัย ใจจงรัก ศิลปินแห่งชาติ นับเป็นตำราเล่มเดียวที่นำเสนอการฝึกเขียน สัดส่วนองค์ประกอบและรูปแบบงานสถาปัตยกรรมไทยอย่างละเอียดที่สุด โดยต่อยอดมากจากการทำงานวิจัยเรื่องเรือนไทย ที่ใช้เวลาหลายปี จนกลายมาเป็นหนังสือตำราเล่มสำคัญที่รวบรวมขัอมูลอย่างสมบูรณ์เรื่อง “เรือนไทยเดิม”
ในหนังสือตำรา เรือนไทยเดิม จะเห็นได้ว่าเนื้อหาส่วนหนึ่งที่โดดเด่นและอาจดูแปลกตาอย่างมาก สำหรับตำราในงานสถาปัตยกรรมไทยที่เคยมีมาในยุคนั้น คือส่วนที่อาจารย์ได้ทำการศึกษาวิเคราะห์รูปทรงสัดส่วนเรือนไทย ที่ได้จากการเก็บข้อมูลเรือนไทยในพื้นที่ภาคกลางกว่า 400 หลังคาเรือน จนสามารถนำมาเขียนแบบเรือนไทย ให้เป็นมาตรฐานของลักษณะเรือนไทยได้ในที่สุด
ถือเป็นการทดลองทำการศึกษางานสถาปัตยกรรมไทย โดยนำเครื่องมือในการศึกษาวิเคราะห์งานสถาปัตยกรรมอย่างตะวันตก มาทดลองใช้กับการศึกษางานสถาปัตยกรรมไทย และอาจารย์ได้เคยเล่าให้ผู้เขียนฟังว่า จากการวิเคราะห์สัดส่วนของเรือนไทย พบว่ามีความสัมพันธ์กันอย่างลงตัวพอดิบพอดี เสมือนมีสูตรในการออกแบบก่อสร้างอยู่ และวิธีการดังกล่าวนี้ ก็นำไปสู่การเรียนรู้และการศึกษาของนักวิชาการในรุ่นหลัง ที่นำเรื่องสัดส่วนนี้ มาทดลองศึกษางานสถาปัตยกรรมไทยในลักษณะอื่นๆ เพิ่มเติม
ด้วยความที่อาจารย์ต้องสอนหนังสือให้กับนักศึกษาสถาปัตยกรรม ในหลักสูตรการเรียนรู้ในด้านงานสถาปัตยกรรมไทย ซึ่งโดยปกติจะต้องอาศัยทักษะในการฝึกฝนมือและตาในการวาดในการออกแบบเขียนแบบ ที่ต้องใช้ระยะเวลายาวนาน กว่าที่จะสามารถเขียนแบบงานสถาปัตยกรรมไทยให้เข้ารูปเข้าทรงที่ได้สัดส่วนงดงามตามแบบแผนได้
อาจารย์จึงคิดว่าการที่จะสอนให้ผู้เรียน สามารถเขียนรูปทรงองค์ประกอบอาคารในงานสถาปัตยกรรมไทย ทั้งเรือนไทย และ อาคารในกลุ่มอาคารทางศาสนา โบสถ์ วิหาร ให้ได้ในระยะเวลาอันจำกัด ควรที่จะต้องมีเครื่องช่วยบางอย่างเหมือนใส่ชูชีพช่วยในขณะฝึกว่ายน้ำไว้ก่อน ( คือยังไม่สามารถเขียนงานไทยได้ ) เมื่อว่ายน้ำเป็นแล้วจึงค่อยถอดออก
นี่คือที่มาของการเกิดขึ้นของตำราเล่มสำคัญ เรื่อง สัดส่วนในงานสถาปัตยกรรมไทย เล่มนี้ ซึ่งเป็นประโยชน์ทั้งในแง่ของการฝึกเขียนองค์ประกอบงานสถาปัตยกรรมไทย อาทิ ช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ เป็นต้น ไปจนถึงการฝึกเขียนอาคารพื้นฐานสำคัญต่างๆ ได้แก่ ซุ้มประตูวัด หอไตร หอกลอง ศาลา เป็นต้น เรียกได้ว่า สามารถเรียนรู้ฝึกฝนการเขียนไปได้แทบจะครบถ้วนทั้งหมดอันเป็นการเขียนงานสถาปัตยกรรมไทยพื้นฐานง่ายๆ ไปจนถึงงานที่ซับซ้อนและยากขึ้นไปได้โดยลำดับ
ต้นแบบที่นำเสนอในตำราเล่มนี้ อาจารย์ได้คัดเลือกชิ้นงานในแต่ละชนิดงานที่ไม่ยาก และพิจารณาว่าน่าจะเป็นภาพตัวแทน ของงานชนิดนั้นหรือประเภทนั้นๆ ได้เป็นอย่างดี เสมือนเราฝึกเขียน ก ไก่ ข ไข่ ตามแบบมาตรฐานไปทีละตัว แต่ท้ายที่สุดเมื่อฝึกเขียนจนเป็นแล้ว แต่ละคนก็จะมีลายมือเป็นของตนเองในการเขียนองค์ประกอบเหล่านั้น ซึ่งดูโดยภาพรวมก็ยังมีความใกล้เคียงกับตัวแบบมาตรฐาน คล้ายๆ กับเราเขียนหนังสือ ที่แม้จะเป็นลายมือเราเอง แต่คนอื่นก็สามารถอ่านและเข้าใจเนื้อความได้
แต่แน่นอน ลายมือของแต่ละคนที่ฝึกเขียนองค์ประกอบทางสถาปัตยกรรมไทยแบบ ก ไก่ ข ไข่ เหล่านั้น ท้ายที่สุด อาจจะอ่านลายมือนั้นได้ แต่ลายมือนั้นจะสวยงามประทับใจผู้อ่านเพียงไร ก็คงอยู่ที่ความตั้งใจและทักษะในการฝึกเขียนของแต่ละคน ตำราเป็นแต่เพียงแนวทางในการเรียนรู้เบื้องต้นเท่านั้น
นอกจากนั้นแล้วผู้เรียนควรได้มีโอกาสไปดูงานของจริง ในประเภทหรือองค์ประกอบชิ้นงานที่ฝึกฝนเหล่านั้นด้วยตนเอง ในสถานที่จริง เพื่อที่จะได้เห็นว่าองค์ประกอบเหล่านั้น มีความแตกต่างกันไปในแต่ละสถานที่ ซึ่งอาจแตกต่างกันด้วย วัสดุ สัดส่วนอาคาร หรือบริบททางประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวข้อง ก็จะทำให้เกิดการเรียนรู้ที่กว้างขวางมากยิ่งขึ้น
ตามจริงแล้วทักษะการเรียนรู้ทางด้านศิลปะ นักเรียนทางด้านศิลปะโดยมากก็ต้องมีการฝึกวาดภาพอยู่แล้ว ถ้าเป็นนักเรียนสถาปัตย์ก็จะเริ่มจากวาดภาพนิ่งง่ายๆ ในห้อง ก่อนจะขยับไปวาดภาพต้นไม้ ตึกรามบ้านช่อง นอกห้องเรียนไปโดยลำดับ
และการวาดภาพเหล่านั้นในทางศิลปะก็จะต้องอาศัยตาและมือในการทำงานประสานกัน ตามองวัตถุที่จะวาด ก็ต้องมีการกะสัดส่วนโดยอาจใช้ดินสอเป็นเครื่องมือสำคัญในการกะส่วน ซึ่งถ้าเคยเห็นนักเรียนสายศิลปะวาดภาพคงเคยเห็นเขาถือดินสอเหยียดเข้าเหยียดออกเล็งแล้วเล็งอีกทำนองนั้น นั่นคือการกะสัดส่วนของวัตถุหรือสิ่งที่กำลังจะวาดลงกระดาษ ไม่ให้ผิดเพี้ยนไปจากต้นแบบนั่นเอง
การกะสัดส่วนนี้ล่ะ เป็นฐานของการวาดให้ภาพที่ปรากฏมีความใกล้เคียงกับสัดส่วนของสิ่งที่จะวาด โดยเฉพาะอย่างยิ่งการวาดภาพในลักษณะเสมือนจริง จำเป็นต้องเข้าใจวิธีการกะส่วนนี้ก่อน แล้วทำความเข้าใจจากการมองวิเคราะห์สัดส่วนนั้น เพื่อส่งผ่านภาพที่ตาเห็นไปเป็นภาพบนกระดาษ
แต่การวาดภาพยังอาจมีกระบวนการทางด้านจินตนาการสร้างสรรค์ร่วมด้วย เพื่อสร้างงานเหล่านั้น ให้มีรายละเอียดของภาพที่ขยับเลยออกไปจากภาพต้นฉบับของจริง ซึ่งเป็นแบบแผนการสร้างสรรค์งานศิลปะที่สำคัญ และการฝึกวาดองค์ประกอบในงานสถาปัตยกรรมไทย ก็เป็นไปในทำนองเดียวกันนี้
เพราะฉะนั้นสัดส่วนที่ตำราเล่มนี้ได้แนะแนวไว้ จึงเป็นเสมือนการเข้าสู่กระบวนการเริ่มต้นของการฝึกวาดหรือเขียนแบบงานสถาปัตยกรรมไทยพื้นฐาน และเมื่อผู้เรียนรู้สามารถฝึกวาดตามสัดส่วนดังกล่าวได้เข้ามือแล้ว ก็จะทำให้การเขียนองค์ประกอบเหล่านั้นมีความงามตามแบบแผนแห่งการสร้างสรรค์ของงานสถาปัตยกรรมไทยได้ในที่สุด
เมื่อเราสามารถเขียนแบบจนเข้ามือได้แล้ว ก็จะนำไปสู่กระบวนการที่อาจารย์ได้กล่าวไว้ว่าจะสามารถถอดเครื่องชูชีพสำหรับฝึกว่ายน้ำในทีแรกออกได้ และเข้าสู่การสร้างสรรค์ด้วยความคิด ความรู้ และการออกแบบ ให้สิ่งที่ได้ฝึกฝนมา ได้เกิดการเติบโตงอกงามต่อไป
ซึ่งการที่จะทำให้การออกแบบเกิดการแตกหน่อต่อยอดออกไปได้นั้น ไม่ควรลัดขั้นตอน คือต้องผ่านจากการฝึกฝนเรียนรู้จากสัดส่วนและรูปแบบที่เป็นมาตรฐานนี้ก่อน เปรียบได้ดั่งจิตรกรหรือประติมากร ที่ต้องทำงานศิลปะแบบ Realistic ให้จัดเจนเสียก่อน จึงจะกระโดดไปทำงาน Abstact ได้อย่างมีรากฐานงานสร้างสรรค์ที่มั่นคง
อันที่จริงทุกศาสตร์วิชาก็ต้องมีฐานการเรียนรู้ที่มั่นคงก่อนทั้งสิ้น เช่น เรียนดนตรีก็ต้องรู้และเข้าใจคอร์ดพื้นฐานก่อน ต้องเริ่มจากเพลงพื้นฐานง่ายๆ ก่อน เมื่อเจนจัดก็สามารถแต่งเพลงได้ในที่สุด หรืองานวรรณกรรม ก็ต้องรู้ภาษา อ่านวรรณกรรมพื้นฐาน และวรรณกรรสำคัญ อ่านแล้วอ่านอีก จนมีความคุ้นเคยกับตัวหนังสือที่โลดแล่นในยุทธภพทั้งหมด และอาจรวมถึงประสบการณ์ชีวิตร่วมด้วย จึงจะสามารถร้อยเรียงอักษรและประโยคต่างๆ จนกลายเป็นวรรณกรรมดีๆ ได้
อาจบางที การเรียนรู้เรื่องสัดส่วนก็เป็นเหมือนสูตรพื้นฐานที่ต้องท่องไว้ ไม่ต่างอะไรกับสูตรคูณ ที่ดูเหมือนจะน่าเบื่อในตอนท่องในช่วงแรก แต่เมื่อต้องแก้สมการเมื่อไหร่ สูตรเหล่านั้นก็จะเข้ามาทำงานซ้อนอยู่เบื้องหลังกระบวนการคิด ให้การทำงานเบื้องหน้าวิ่งไปได้อย่างไหลลื่นโดยอันตโนมัติ เสมือนเป็นน้ำมัน ที่ไปขับเคลื่อนกลไกลอันซับซ้อนให้ทำงานได้อย่างราบรื่นนั่นเอง
ฉะนั้นแล้ว ตำราเรื่อง สัดส่วนในงานสถาปัตยกรรมไทย จึงเป็นเครื่องมือสำคัญยิ่ง ที่จะช่วยสร้างพื้นฐานการเรียนรู้งานสถาปัตยกรรมไทย ทั้งองค์ประกอบ และตัวอาคารประเภทต่างๆ ให้มีทรวดทรง และรูปแบบที่สวยงามแบบมาตรฐานเป็นขั้นต้น นับเป็นบาทฐานอันสำคัญ ที่จะส่งต่อให้ผู้เรียนรู้ได้ก้าวไปสู่การออกแบบที่มั่นคงต่อไป แล้วเราจะมาคุยเรื่องสัดส่วนให้เข้าใจในส่วนสัดของสถาปัตยกรรมไทย ว่าเป็นอย่างไรกันในโอกาสต่อไป
TAG: