เรือนไทย สถาปัตยกรรมไทย ขั้นคลาสสิค
เมื่อพูดถึงเรือนไทย คนส่วนใหญ่ จะนึกถึงเรือนที่มีหน้าตาเป็นยอดแหลมๆ มีตัวเหงาปิดปลายชายคา และมีตัวเหงาอยู่ทั้งสองฝั่งของปีกหลังคา ในทำนองตวัดขึ้นฟ้าอย่างอ่อนช้อยแต่ก็มีพลังอยู่ในที เป็นภาพจำที่ทำให้อาจกล่าวได้ว่า เรือนไทย สถาปัตยกรรมไทย ขั้นคลาสสิค
แต่เอาตามจริงเรือนไทย มิได้มีเพียงรูปแบบดังที่คิดนึกกันนี้ แต่เรือนไทย มีรูปแบบมากมาย แยกไปตามภูมิภาค เหนือ กลาง อีสาน ใต้ และแม้ในภูมิภาคเดียวกัน ก็ยังมีรูปแบบแตกต่างกันไปได้อีกหลายลักษณะ อย่างเรือนไทยภาคกลาง หากพิเคราะห์ดูไปในรายละเอียด ก็จะมีเรือนที่แบ่งออกไปได้อีกมาก ดังตำราที่ รศ.ฤทัย ใจจงรัก ศิลปินแห่งชาติ ได้เขียนไว้เรื่อง “เรือนไทยเดิม” ซึ่งท่านได้ทำการเก็บข้อมูลเรือนไทยมากกว่าสี่ร้อยหลังคาเรือน ในพื้นที่ภาคกลางหลายๆ จังหวัด ใช้เวลาเก็บรวบรวมข้อมูลอยู่หลายปี ทำการศึกษาวิเคราะห์จนสรุปได้เป็นตำราสำคัญของชาติเล่มนี้ในที่สุด ซึ่งหาอ่านได้ยาก แต่ถ้าไปห้องสมุดคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ หรือหอสมุดสำคัญ ก็จะเจอตำราเล่มนี้ เพราะถือเป็นตำราแห่งชาติไปแล้ว
ในวันนี้เราคงหาเรือนบางหลังที่ปรากฏในตำราไม่เจอแล้ว เพราะเรือนไม้มีอายุไม่มากไปกว่าร้อยปีเศษ (ซึ่งจะว่าไปก็มากโขอยู่ เมื่อเทียบกับอายุคนเราหนึ่งชั่วคน) เรือนที่เห็นในตำราหลายๆ หลังนั้น จึงเป็นเหมือนบันทึกแห่งความทรงจำ ที่ส่งผ่านกาลเวลามาให้เราได้เห็นเรือนต่างๆ เหล่านั้นในปัจจุบันได้ และเป็นคุณูปการต่อการเรียนรู้และทำความเข้าใจในเรื่องเรือนไทยแบบมาตรฐานได้เป็นอย่างดี ( เรือนไทยแบบมาตรฐาน ก็แปลว่า แบบมาตรฐาน)
แต่การเรียนรู้ผ่านตำราก็มีข้อจำกัดอยู่ เพราะเราคงไม่สามารถรับรู้มิติที่ละเอียดลงไปในทางการช่าง ซึ่งเป็นการเรียนรู้ที่จะต้องอาศัยทักษะการทำงานจริงเป็นสำคัญ ผู้ที่จะรู้อย่างแท้จริง (และโดยจริงแท้) จึงต้องเป็นผู้ที่ได้ทำงานไม้นั้นๆ ได้ลงมือทำจริงๆ โดยมากก็คือช่างปรุงเรือนไทย หรือสถาปนิกบางท่านที่รักและหลงไหลกับเรือนไทย หรืออินกับงานไม้จัดๆ ก็จะเข้าใจในมิติดังว่าได้
เรือนไทย ในภูมิภาคอื่นๆนั้น คงจะได้คุยกันในโอกาสต่อไป แต่ในที่นี้จะขอพูดถึงเรือนไทยภาคกลาง ที่เป็นเรือนไทยในความคิดของคนส่วนใหญ่ และอาจรวมถึงความเข้าใจของชาวต่างชาติ ที่มีต่อเรือนไทย หรือบ้านไทยแท้ๆ ที่เขาเห็นเป็นภาพจำ ซึ่งก็คือเรือนไทยที่ยกจั่วตัวเหงาปั้นลมแบบที่ รศ.ฤทัย ได้เขียนตำราไว้นี้
ทำไม จึงได้ตั้งหัวข้อไว้ว่า เรือนไทย สถาปัตยกรรมไทย ขั้นคลาสสิค ที่ว่าขั้นคลาสสิคหมายถึงอะไร ในภาษาอังกฤษคลาสสิค เมื่อแปลเป็นไทย แปลได้ในความหมายที่ว่า มีมาตรฐาน ดีเลิศ ชั้นเอก ดีมาก ฯลฯ ซึ่งในทางการออกแบบ ถือว่าเป็นงานที่มีคุณค่าชั้นสูง ยกระดับคุณค่าทางการออกแบบขึ้นไป จนถึงขั้นชนเพดาน หรือกล่าวได้ว่า ยืนหนึ่ง ลอยลำ ไปแล้ว ( อันนี้ความอวยส่วนตัวของผู้เขียน ) อย่างงานสถาปัตยกรรมกรีก ที่นักออกแบบเรียกกันว่าเป็นงานคลาสสิคนั้น ก็คืองานที่ถือว่ามีพัฒนาการทางศิลปะของยุคอย่างสูงสุด
ฉะนั้น ขอให้ภูมิใจได้เลย ว่างานสถาปัตยกรรมไทย ที่เป็นเรือนไทย แบบมาตรฐาน หรือแบบคลาสสิคนี้ เป็นมรดกอันสำคัญของโลกไปแล้ว เป็นคุณค่าทางการออกแบบที่ขึ้นหิ้งไปแล้ว (ยังคงอวยอยู่ )
ฉะนั้นแล้วเรือนไทย ที่กล่าวว่าถึงขั้นคลาสสิคนี้ (ผู้เขียนกล่าวเองเพราะเชื่อว่าอันนี้ของดีจริง) ผู้เขียนก็ให้ความหมายในลักษณะที่ว่า เป็นงานออกแบบสร้างสรรค์ งานสถาปัตยกรรมไทย ที่มีความเป็นเลิศ และถือเป็นแบบแผนอันเป็นการพัฒนาขั้นสูงสุด ถ้าเป็นการประกวดในเวทีใดๆ ก็คือได้รับรางวัลสูงสุด หรือมงลงทำนองนั้นนั่นเอง
ความโดดเด่นงดงามของเรือนไทยนี้ เป็นที่ชื่นชอบของชาวต่างชาติอย่างมาก โดยที่บางคนก็ไปกว้านซื้อเรือนไทยเก่าๆ ของชาวบ้านบางพื้นที่หลายแห่งด้วยกัน โดยชาวบ้านเองคิดว่าเรือนเก่าแล้วดูแลรักษาไม่ไหว ซ่อมใหม่ก็ต้องใช้เงินมาก หรือบางคนก็คิดว่าเรือนไทยดูเชยไปแล้วด้วยซ้ำ จึงไม่คิดที่จะเก็บหรือรักษาสืบทอดต่อไป แต่ในระยะหลังหลายคนเริ่มมองเห็นว่าเรือนไทย คืองานสถาปัตกรรมไทยที่มีคุณค่า และมีมูลค่า หลังจากที่การท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์ หรือโฮมสเตย์ได้รับความนิยม ใครมีเรือนไทยถือว่าไม่ธรรมดา เพราะไม่ใช่ของสร้างง่ายเหมือนแต่ก่อนเก่าอีกแล้ว
ในต่างประเทศก็มีการออกแบบก่อสร้างเรือนไทยด้วยเช่นกัน ซึ่งถือครองโดยเจ้าของชาวต่างชาติโดยตรง ที่มีความชอบงานสถาปัตยกรรมไทย (ซึ่งไม่แน่ใจว่าเป็นเพราะชาติก่อนเคยเกิดเป็นคนไทยในสมัยประวัติศาสต์ที่ผ่านมาหรือเปล่า จึงถูกจริต คุ้นเคยกับงานไทยๆ) และมองเห็นเป็นทุนทางวัฒนธรรมที่จะสามารถนำไปต่อยอดได้ ตัวอย่างงานที่มีชื่อเป็นที่รู้จัก อาทิโครงการ บ้านเรือนไทย(สปา) ออกแบบโดย รศ.ภิญโญ สุวรรณคีรี ศิลปินแห่งชาติ ที่ Echo Valley Ranch & Spa ประเทศแคนาดา หรืองานออกแบบหมู่บ้านเรือนไทย ซึ่งเป็นสวนน้ำในประเทศสเปน โดย รศ.ฤทัย ใจจงรัก ศิลปินแห่งชาติ ที่ Siam park ประเทศสเปน โดยท่านออกแบบเฉพาะในส่วนที่เป็นกลุ่มเรือนไทยที่มีสัดส่วนทรวดทรงงดงามตามแบบแผน และซุ้มประตูทางเข้าโครงการอีกส่วนหนึ่งซึ่งดัดแปลงจากศิลปสถาปัตยกรรมแบบขอม
เรือนไทย ที่สร้างขึ้นในปัจจุบันเพื่อการอยู่อาศัยของคนในยุคนี้ อาจจำเป็นต้องได้รับการปรับเปลี่ยนให้สัมพันธ์กับวิถีชีวิต และเทคนิคทางการก่อสร้างบ้าง และเรือนไทยในปัจจุบันยังถูกนำมาประยุกต์ออกแบบให้ตอบสนองกับการใช้งานในลักษณะอาคารสาธารณะด้วย เนื่องจากความต้องการบรรยากาศของตัวสถาปัตยกรรม ที่สัมพันธ์กับการใช้งาน หรือต้องการเอกลัษณ์ ที่จะสร้างให้เกิดทั้งคุณค่าและมูลค่าให้กับสถานที่นั้นๆ ควบคู่กันไป โดยมีการปรับปรุงในรายละเอียดให้แตกต่างออกไปจากเรือนไทยต้นฉบับในอดีตบางส่วน เพื่อให้ตอบสนองต่อการใช้งานในปัจจุบันได้ดียิ่งขึ้น แต่ยังคงไว้ซึ่งบรรยกาศและความรู้สึกถึงความเป็นเรือนไทยได้อยู่เช่นเดิม ซึ่งการออกแบบในเชิงพลวัตรเช่นนี้ ผู้ออกแบบต้องมีความเข้าใจในระเบียบของงานเรือนไทยเป็นอย่างดี จึงจะสามารถทำให้ผลลัพธ์ทางการออกแบบตอบสนองความต้องการและรักษาจิตวิญญาณของเรือนไทยไว้ได้ (แต่ก็คงไม่ต้องรักษาจิตวิญญาณของเจ้าของเรือนเดิมหรือจิตวิญญาณที่สิงสถิตในต้นไม้ให้คงอยู่ด้วยหรอกนะ)
การเรียนรู้และเข้าใจเรือนไทย สำหรับผู้ที่ชื่นชอบในงานสถาปัตยกรรมไทยชนิดนี้ ไม่ใช่เรื่องยากนัก ตำราเรื่อง “เรือนไทยเดิม” ดังกล่าว อาจเป็นหนทางหนึ่งในการเรียนรู้และทำความเข้าใจในเบื้องต้นได้ เราจะได้ยกมาเล่าและชี้ชวนให้เห็นถึงคุณค่าในมรดกทางวัฒนธรรมของไทยชนิดนี้ ในโอกาสต่อไป
TAG: