สถาปัตยกรรมไทย ว่าด้วยตำราลายไทย

สถาปัตยกรรมไทย ว่าด้วยตำราลายไทย

Home » Talk Thai Arch » สถาปัตยกรรมไทย ว่าด้วยตำราลายไทย

ในครั้งนี้เราจะมาพูดเรื่องราวของสถาปัตยกรรมไทย ที่ว่าด้วยตำราลายไทย เพราะ ลายไทย เป็นศาสตร์วิชาที่ผู้เรียนทางด้าน สถาปัตยกรรมไทย จะต้องฝึกฝนเรียนรู้ เป็นวิชาพื้นฐานขั้นต้นที่ค่อนข้างสำคัญ เพื่อนำไปสู่การผูกผสานร้อยเรียง องค์ประกอบอันเกี่ยวเนื่องในงานออกแบบ ให้ประสานเป็นเนื้อเดียวกับงานสถาปัตยกรรมไทย รวมถึงผู้ศึกษาในทางวิจิตรศิลป์ หรือศิลปะไทยเกี่ยวเนื่องอื่นๆ ก็จะต้องศึกษาองค์ความรู้ชนิดนี้ด้วยเช่นกัน  

ภาพ : ส่วนหนึ่งของลายไทย ในตำราของ พระเทวภินิมมิต

การศึกษาเรื่อง ลายไทย เป็นที่รู้จักโดยทั่ว ว่าหมายถึงการเรียนรู้ ลายไทย ในสี่ส่วนสำคัญด้วยกันคือ  กนก นารี กระบี่ คชะ ซึ่งกนก ก็คือส่วนที่เป็นลักษณะลายต่างๆ ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นลายกระจัง ลายกนกสามตัว ลายรักร้อย ฯลฯ ซึ่งมีแม่ลายมากมายที่ต้องฝึกฝนและเรียนรู้ โดยมากแล้วจะเป็นลายบาทฐานที่ใช้สำหรับการออกแบบงานสถาปัตยกรรมไทยโดยทั่วไปได้ ส่วนนารี หมายถึงลายตัวพระตัวนาง ที่ในทางสถาปัตยกรรมไทย อาจจะเกี่ยวข้องด้วยไม่มากนัก แต่ก็มิใช่ว่าจะไม่มี เพราะลายบางส่วนเช่น หน้าบัน อาจมีลายจำพวก เทวดา พระอินทร์ พระนายรายณ์ หรือ พระพุทธเจ้า ปรากฏประกอบลายส่วนแรก (กนก) ร่วมกัน ถัดมาเป็นลายหมวด กระบี่ ซึ่งในที่นี้จะหมายถึงลายพวก ลิง ยักษ์ หรือจำพวกที่เป็นกึ่งคน กึ่งสัตว์ ในทางวรณคดี ก็จะเป็นส่วนที่อาจกล่าวได้ว่า เป็น ทหารผู้ช่วยทั้งหลายของพระราม และกลุ่มทศกัณฐ์ เหล่าวงวารขุนนางอำมาตย์ และทหารทั้งหลาย และสุดท้ายกลุ่มลายพวก คชะ คือลายพวกสัตว์ต่าง ๆ และโดยเฉพาะพวกสัตว์หิมพานต์ ที่มีลักษณะพิเศษสวยงามล้ำจินตนาการทั้งหลาย

ทั้งสี่หมวดข้างต้น หากจะสรุปโดยย่อแล้ว ก็แบ่งได้เป็นสองส่วนใหญ่ๆ คือ ลายกับตัวภาพ ส่วนที่เป็นลายคือกนก  และตัวภาพ คือ นารี กระบี่ คชะ  ทั้งนี้กนก ก็คือแม่ลายต่างๆ ซึ่งหากดูตำรา ลายไทย ที่มีอยู่มากมายหลายเล่ม หากเป็นตำราอันเป็นทางของจิตรกรรม ก็จะประกอบด้วยกลุ่มหรือประเภทลายครบชุด ดังที่กล่าวมาทั้งหมดข้างต้น

แต่หากพูดถึงตำรา ลายไทย สำหรับการศึกษาเรียนรู้ ในงานสถาปัตยกรรมไทยแล้ว มักจะย่นเหลือเพียงหมวดลาย เท่านั้น กลุ่มตัวภาพ อาจไม่ได้เน้นหรือให้ความสำคัญ ถ้ามีก็จะประกอบเป็นส่วนที่เติมเต็มให้สมบูรณ์ตามกระบวนการ ของการเรียนรู้ ยกตัวอย่างเช่น หนังสือเรื่อง “สมุดตำราลายไทย” ของพระเทวาภินิมมิต ตำราที่แสดงถึงฝีมืออันจัดเจนในการเขียนลายไทย  โดยได้แบ่งลายไว้มากมายอาทิ  ลายกระหนกสามตัว ลายบัว ลายลูกฟัก ลายหน้ากระดาน ลายกระจัง ลายรักร้อย เป็นต้น ซึ่งตำราเล่มนี้ถือเป็นตำราเล่มสำคัญ ที่นักเรียนสถาปัตยกรรมไทย ใช้เป็นแนวทางในการศึกษาลายไทยได้อย่างดีมากเล่มหนึ่ง

ภาพ : ส่วนหนึ่งในตำราลายไทย ของ พระพรหมพิจิตร

แต่ตำราเล่มสำคัญซึ่งกล่าวได้ว่าเป็นตำราเฉพาะของผู้เรียนสถาปัตกรรมไทยคือ พุทธศิลป์ภาคต้น  โดยพระพรหมพิจิตร ศิษย์คนสำคัญของ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ หรือสเด็จครู นายช่างใหญ่แห่งกรุงสยาม (จะได้นำเสนอเรื่องของท่านต่อไป) ซึ่งเนื้อหาของตำราเล่มนี้ได้แสดงให้เห็นว่าผู้เรียนรู้ต้องเข้าใจ ลายไทย ในสามส่วนสำคัญคือ ตัวลาย อันได้แก่ลายกระหนก เป็นปฐม และมีลายอันเป็นองค์ประกอบทางสถาปัตยกรรม เช่น หางหงส์ คันทวย รวมถึง ลายซึ่งเป็นรูปบุคคล ซึ่งก็เปรียบดั่งการเรียนรู้ตัวพระ ตัวนาง เป็นเบื้องต้น มีลายหน้าบัน ทั้งลักษณะหน้าบันและตัวอย่างลวดลายที่ประกอบเข้ารูป นอกจากนั้นยังปรากฏรูปสถาปัตยกรรมขนาดเล็ก เช่น บุษบก ศาลา ฯลฯ  นี่ย่อมทำให้เห็นได้ว่าการเรียนรู้ศาสตร์วิชาด้านนี้ มีวิธีการเรียนรู้เรื่องลายไทยที่แตกต่างกัน ระหว่างงานศิลปกรรม และงานสถาปัตยกรรม  ดูเผินๆ เหมือนเป็นประเภทแม่ลายกับตัวภาพ แต่ครูช่างได้เสริมการเรียนรู้ในส่วนของลายในลักษณะซึ่งเป็นองค์ประกอบที่อยู่ร่วมกับงานสถาปัตยกรรมเข้าไปด้วย ซึ่งลักษณะลายในงานสถาปัตยกรรมนี้เป็นที่น่าสนใจว่า คือลายที่ผสานสัมพันธ์ไปกับงานสถาปัตยกรรมจนเหมือนจะแยกจากกันไม่ได้ ซึ่งนับเป็นหลักที่สำคัญในการออกแบบลวดลายในงานสถาปัตยกรรมไทยเลยทีเดียว

ภาพ : สถาปัตยกรรมไทย และ ลายไทย ที่หากออกแบบตามบาทฐานของหลักวิชาแล้ว ก็ไม่อาจแยกเป็นคนละส่วนได้

การเรียนรู้จะเริ่มจากการปูพื้นฐานการฝึกฝนการเขียนลายจากปฐมบทง่ายๆ ในรูปทรงที่ลอกเลียนมาจากธรรมชาติ โดยเฉพาะดอกบัว ซึ่งถือเป็นกำเนิดลายไทยที่เป็นแม่ลายพื้นฐานคือกระหนกสามตัว ไล่เรียงจากลายชนิดที่อยู่อย่างเดี่ยวๆ จนถึงลักษณะลายที่ต่อกันเป็นชุดทั้งในลักษณะสาย และผืน (dot ,line ,plane)  จากนั้นจึงนำไปสู่ลักษณะลายแบบเป็นปริมาตรรูปทรง ที่แยกไม่ได้ระหว่างลายหรือตัวองค์ประกอบทางสถาปัตยกรรม (Volumn ) เห็นได้ว่ากระบวนการที่ครูช่างวางไว้ให้เรียนรู้นั้นคล้ายดั่งการเรียนรู้พื้นฐานสำคัญทางด้านงานสถาปัตยกรรมแบบสากลด้วยเช่นกัน (ความเห็นของผู้เขียน)  ฉะนั้นแล้วการศึกษาเรียนรู้ ลายไทย ในงานสถาปัตยกรรมก็มีวิธีการจากฐานลายแบบ 2 มิติ ไล่เรียงไปจนเป็นลักษณะลายแบบ 3 มิติ และนำไปสู่สถาปัตยกรรมเต็มรูป ที่ก่อร่างสร้างทรงประกอบลายเพื่อให้บังเกิดเส้นสายที่อ่อนช้อย งดงาม อย่างสมบูรณ์ในตัวงานสถาปัตยกรรมไทย

น่าเสียดายที่ตำราพุทธศิลป์ภาคต้น ไม่มีภาคต่อ ซึ่งไม่แน่ว่าจะมีภาคปลายตามมา แล้วจบโดยสังเขป หรือจะมีขยายความออกไปอีกก็สุดจะทราบได้ ทั้งที่ความตั้งใจของอาจารย์พระพรหมพิจิตรอาจวางไว้ตามตำราที่ร่างไว้ แต่เรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับการฝึกฝนเรียนรู้ในความเป็นจริง ดูจะมีอยู่ไม่น้อย  เนื่องจากหากความคิดของครูช่างที่มีต่อการวางแบบแผนการเรียนรู้ให้เป็นไปตามระดับความยากง่ายแล้ว เราก็จะเห็นว่าตำราเล่มแรกเป็นการวางกรอบโครงโดยรวมของลายและองค์ประกอบพื้นฐานที่ทำงานร่วมกันในการออกแบบพุทธศิลปสถาปัตยกรรมไทย  หากตำราเล่มต่อมาได้ถือกำเนิดขึ้นเชื่อได้ว่าคงจะมีความซับซ้อนในแง่ของตัวลายและองค์ประกอบสำคัญในงานสถาปัตยกรรมมากยิ่งขึ้น ทั้งตัวภาพที่เป็นบุคคลอาจมีส่วนของภาพอมนุษย์และสิงสาราสัตว์ประกอบ เนื่องจากหากเขียนภาพพระ นาง ได้แล้ว ก็น่าจะขยับไปสู่การฝึกฝนเขียนภาพที่จำเป็นในส่วนอื่นๆต่อไป ส่วนองค์ประกอบทางสถาปัตยกรรม อาจมีเรื่องราวขององค์ประกอบงานเครื่องยอด ซึ่งนับเป็นงานชั้นสูงในศาสตร์วิชาสถาปัตยกรรมไทย ให้ศึกษาเรียนรู้โดยละเอียดตามกระบวนการของการศึกษา ลายไทย และสถาปัตยกรรมไทย

ภาพ : ลายไทยที่ปรากฏในบริเวณหน้าบัน มักมีความสำคัญที่สุด

แม้ตำราภาคสมบูรณ์มิได้บังเกิดขึ้นสมตามเจตจำนงของอาจารย์พระพรหมพิจิตร แต่ผลงานของท่านและครูช่างอื่นๆ ที่ได้ฝากไว้แก่แผ่นดินมากมาย ล้วนเป็นไปตามครรลองศาสตร์วิชาที่ถูกต้อง โดยชนรุ่นหลังสามารถศึกษาหาความรู้ได้จากวัดวาอารามที่บรรจงสร้างสรรค์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งวัดที่สร้างโดยองค์พระมหากษัตริย์ รวมลงมาถึงวัดที่สร้างโดยข้าราชบริพารในลำดับชั้นถัดลงมา ซึ่งนับได้ว่าเป็นตำราชิ้นสำคัญที่เป็นไปตามระเบียบแห่งงานสถาปัตยกรรมไทยตามแบบแผน (หรือแบบประเพณี) ผู้ศึกษาควรได้ศึกษาเรียนรู้ให้ขึ้นใจทั้งส่วนงานสถาปัตยกรรมโดยรวม และ ลายไทย ที่ประกอบกัน ก่อนที่จะได้ดูและศึกษางานสถาปัตยกรรมไทยต่อไป เพื่อเปรียบเทียบให้เห็นพัฒนาการของการต่อยอดที่คนรุ่นใหม่ได้คิดและทำกันต่อมา  ซึ่งงานเหล่านั้นจะเป็นผลงานที่ดีมากน้อยเพียงไรย่อมอยู่ในวินิจวิฉัยของแต่ละท่าน แต่เชื่อว่าจะเป็นฐานความคิดอันสำคัญให้ทุกคนมีทางเดินของตนต่อไป

ภาพ : ลายไทยประกอบงานสถาปัตยกรรมไทย โดย อ.วนิดา พึ่งสุนทร ศิลปินแห่งชาติ (พระมหาธาตุเจดีย์ศรีจันเสน วัดจันเสน จ.นครสวรรค์)

ทั้งนี้เพราะศิลปะคือความดี ความงาม ความเจริญ ผลงานที่ทำแล้วอย่างเข้าใจในทฤษฎีที่ครูช่างในอดีตได้รังสรรค์ไว้ ย่อมได้ผล และบังเกิดผลดังว่า เป็นศิลปะเสมอกัน ลายไทย จึงเป็นองค์ประกอบสำคัญส่วนหนึ่ง ที่ทั้งทรงค่าต่อมรดกทางวัฒนธรรม และมีมูลค่าร่วมด้วย อย่างไม่อาจปฏิเสธได้เลย

TAG:

Read this article in English