สถาปัตยกรรมไทย คุณค่าคู่สังคม (ตอน 1 และ 2)
สถาปัตยกรรมไทย คุณค่าคู่สังคม เป็นเรื่องที่เคยเขียนไว้นานแล้ว ในจุลสารสถาบันศิลปสถาปัตยกรรมไทย มหาวิทยาลัยศิลปากร เป็นเนื้อหาที่จะพาให้ทุกคนได้เห็นคุณูปการโดยภาพรวมของงานชนิดนี้ได้เป็นอย่างดี ซึ่งจะขอยกเนื้อหามาให้อ่านดังนี้
*************************************************
“สถาปัตยกรรมไทย คือมรดกทางวัฒนธรรมอันสำคัญของชาติ เหตุเพราะสิ่งนี้เป็นผลงานรังสรรค์ที่เป็นภูมิปัญญาสั่งสมแห่งบรรพชนเรื่อยมานับแต่อดีตกาลนานมาแล้ว ทั้งเรือนไทย ตึกรามบ้านช่อง วัดวาอาราม ล้วนแล้วแต่สามารถเรียกได้ว่าเป็นสถาปัตยกรรมไทยได้ด้วยกันทั้งนั้น เพราะต่างก่อกำเนิดภายใต้สังคม เศรษฐกิจ วัฒนธรรมไทย โดยเฉพาะงานที่มีมาจากรากทางวัฒนธรรมไทยอย่างเห็นได้ชัด
และมูลเหตุหรือจุดมุ่งหมายในของสร้างประกอบไปด้วยภูมิปัญญาสร้างสรรค์ที่เกี่ยวเนื่องกับวัฒนธรรม ซึ่งแตกต่างจากการสร้างอาคารอื่นๆ ซึ่งอาจมีคุณค่าในเชิงสถาปัตยกรรม แต่อาจมีคุณค่าในเชิงวัฒนธรรมไม่มากนัก ตัวแทนสำคัญของผลงานสถาปัตยกรรมไทยที่เปี่ยมด้วยคุณค่าเชิงวัฒนธรรมนั้นสามารถหาดูได้ง่ายๆ เพียงไปวัดทำบุญก็จะพบเห็นได้ทันที ยิ่งถ้าเป็นวัดที่สร้างอย่างปราณีต หรือมีช่างชั้นเยี่ยมเสกสรรค์ด้วยแล้วความงาม ความศรัทธา ก็จะปรากฎหรือสัมผัสได้ในใจของผู้ที่ได้ไปเยี่ยมเยือนได้ทันที
สถาปัตยกรรมไทยดีๆ อย่างเช่นศาสนสถาน จึงมีคุณค่าต่อสังคมเป็นอย่างยิ่ง คุณค่าดังกล่าวอาจมีมากน้อยแตกต่างกันไป สามารถแจกแจงได้มากมายนอกเหนือจากคุณค่าทางศิลปกรรมอย่างเห็นได้ชัดแล้ว ยังมีคุณค่าทางการศึกษา คุณค่าทางประวัติศาสตร์ หรือแม้แต่คุณค่าทางเศรษฐกิจ ดังเช่นวัดวาอารามที่นักท่องเที่ยวไปเยี่ยมชมกันอย่างมากมาย ซึ่งอาจจะไม่ใช่วัตถุประสงค์ที่แท้จริงของวัด แต่เป็นผลลัพธ์ที่ประจักษ์แจ้งดังนานาอารยประเทศที่มีมรดกทางวัฒนธรรม เฉกเช่น สถาปัตยกรรมไทย ต่างได้รับประโยชน์ทางอ้อมนี้กันถ้วนหน้า และรักษาไว้ให้เดินควบคู่ไปกับงานสร้างสรรค์ใหม่ๆในปัจจุบัน สะท้อนออกซึ่งแนวคิดที่ว่าเราคงไม่อาจถวิลหาแต่อดีตอันเรืองรอง หรือไขว่คว้าแต่เทคโนโลยีอันล้ำสมัยเพียงด้านใดด้านหนึ่ง แต่ควรรับไว้และสร้างสมดุลให้แก่คุณค่าที่ดีทั้งสองด้านนั้น ดังเช่นการแพทย์แผนใหม่ให้ดูแลสุขภาพทั้งกายและใจ หรือปรัชญาตะวันออกที่กล่าวถึงสมดุลย์ทางธรรมชาติที่ต้องมีสิ่งคู่กันเพื่อส่งเสริมให้กันและกัน
สถาปัตยกรรมไทยอย่างเช่นวัดวาอารามนั้นเปี่ยมด้วยคุณค่าดังกล่าวแล้วมากมาย และมิได้มีไว้สำหรับใช้ประกอบกิจกรรมทางศาสนาเท่านั้น แต่ยังมีไว้ชุบชีวิตที่เหี่ยวเฉาให้สงบและมีสติสำหรับในห้วงเวลาแห่งชีวิตที่เราประสบปัญหารุมเร้า สถานที่แห่งนี้ย่อมช่วยปลอบประโลมใจได้เป็นอย่างดื หรือมีไว้ให้ได้เรียนรู้เรื่องราวทางศาสนา เป็นดังตำราเล่มใหญ่กางไว้ให้ได้เข้าไปศึกษาผ่านพุทธศิลป์ต่างๆ ที่ปรากฎมีบนตังงานสถาปัตยกรรมและมีไว้ให้ชื่นชมดื่มด่ำกับศิลปะไทยแขนงต่างๆ ที่มีอยู่อย่างเรียกได้ว่าแทบจะครบถ้วนกระบวนงานช่างไทย เป็นการขัดเกลาจิตใจไปเฉกเช่นการเสพงานศิลป์ตามพิพิธภัณฑ์ชั้นนำในปัจจุบัน ซึ่งคุณค่าความงามในลักษณะดังกล่าวย่อมเป็นที่ประจักษ์ชัดดังปรากฎเห็นชาวต่างชาติที่ข้ามน้ำข้ามทะเลมาชื่นชมความงามของศิลปะสถาปัตยกรรมไทยกันมากมาย เช่น วัดพระแก้ว เป็นต้น
มรดกทางวัฒนธรรมอันล้ำค่าซึ่งมีอยู่มากมายไม่ได้มีแต่เฉพาะในกรุงเทพฯเท่านั้น ตามต่างจังหวัดท้องถิ่นหลายต่อหลายแห่งก็ล้วนเป็นอู่อารยธรรมที่มีคุณค่ายิ่ง ที่อวดชาวต่างชาติได้อย่างภาคภูมิ แม้สถาปัตยกรรมบางแห่งอาจเป็นเพียงอาคารหลังเล็กๆ แต่กลับสูงด้วยคุณค่าแห่งความเป็นมรดกทางวัฒนธรรมของท้องถิ่น น่าเสียดายที่คนไทยด้วยกันเองกลับมองข้ามไป
สิ่งเหล่านี้เป็นฐานอันมั่นคงของท้องถิ่นที่สามารถต่อยอดสู่เศรษฐกิจสร้างสรรค์ หรือ วัฒนธรรมอื่นๆได้ เพียงแต่ต้องมีนักวิชาการ ผู้รู้ หรือแม้แต่ปราชญ์ท้องถิ่นที่จะได้ช่วยกันคิดช่วยกันทำ ดังเช่น สำนักงานวัฒนธรรมแห่งชาติ ก็ได้มีโครงการต่างๆหลายชิ้นที่ดำเนินการเพื่อการส่งเสริมสนับสนุนในเชิงวัฒนธรรมด้านต่างๆอย่างต่อเนื่องตลอดมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งมรดกทางด้านสถาปัตยกรรมไทยที่รวมไว้ตั้งแต่อาคารบ้านเรือนเรื่อยไปกระทั่งวัดวาอาราม ซึ่งเป็นมรดกทางวัฒนธรรมด้านรูปธรรมที่เห็นได้ชัดเจน ควรที่ชุมชนจะได้ตระหนักรู้ถึงคุณค่าความสำคัญที่มีอยู่ในงานสถาปัตยกรรมไทยเหล่านั้น
โดยเฉพาะเยาวชนคนรุ่นใหม่ที่จะต้องทำความเข้าใจว่าสิ่งเหล่านี้คือส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตคนไทยนับแต่อดีตจวบจนปัจจุบัน แม้จะมีบทบาทที่แตกต่างจากอดีตไปแล้วก็ตาม แต่นั่นคือภูมิปัญญารากฐานที่ควรภูมิใจและหาทางสืบสานและสร้างสรรค์ต่อยอดมรดกทางวัฒนธรรมดังกล่าวนี้ให้งอกงามจากรุ่นสู่รุ่นต่อไปได้อย่างไม่ขาดสาย สิ่งที่ไม่สมสมัยก็ต้องปรับเปลี่ยไปเป็นธรรมดาแห่งลักษณะของวัฒนธรรม ซึ่งคงต้องอาศัยความร่วมไม้ร่วมมือร่วมแรงร่วมใจของทุกภาคส่วน แต่ที่สำคัญคือการริเริ่มจากท้องถิ่นต่างๆนั้นเอง
คุณค่าที่มีอยู่ในงานสถาปัตยกรรมไทยนั้นเราอาจเริ่มต้นเรียนรู้กันได้จากมรดกชิ้นสำคัญต่างๆของชาติ ที่บรมครูได้รังสรรค์ไว้แล้ว หากได้เรียนรู้อย่างเข้าใจจากงานชั้นเยี่ยม เราก็จะเข้าใจสิ่งต่างๆที่เกี่ยวเนื่องทั้งหมด เพราะหากเราไม่เคยรู้เห็นของดี เราย่อมไม่สามารถประเมินคุณค่าสิ่งที่เกิดขึ้นในเวลาต่อมาได้”
*************************************************
สถาปัตยกรรมไทย คุณค่าคู่สังคม (ตอน 2)
ประเทศไทย นับเป็นประเทศหนึ่งในโลก ที่โชคดีมาก มีเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมสั่งสมเป็นของตนเองมาอย่างยาวนาน พื้นที่นี้เคยมีผู้คนตั้งรกรากอยู่อาศัยมานานนับพันปีแล้ว เห็นได้จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่ขุดพบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ภาคอีสาน แต่ไม่ปรากฏหลักฐานทางด้านสถาปัตยกรรมที่เก่าไปกว่าสมัยทวารวดี
โดยปกติสถาปัตยกรรมจำพวกเรือนพักอาศัยย่อมต้องสร้างด้วยวัสดุจำพวกไม้ที่ปรุงเป็นเรือนเครื่องสับ หรือไม้ไผ่ที่นำมาปรุงเป็นเรือนเครื่องผูก แต่วัสดุไม้เหล่านี้ไม่อาจอยู่ทนต่อกาลเวลาได้ ก็ผุผังสลายตัวไปในที่สุด ยังคงเหลือแต่วัสดุพวกอิฐ หิน ที่ยังคงสภาพพอให้เห็น แต่ที่น่าทึ่งกว่านั้นคือลวดลายปูนปั้นอายุนับพันปีบางทีก็ยังเหลือให้เห็นด้วย
การที่บ้านเมืองใดๆ จะมีมรดกทางสถาปัตยกรรมขึ้นมาได้อย่างมั่นคง ได้รับการสร้างสรรค์อย่างตั้งใจ มักจะได้รับแรงบันดาลใจส่วนหนึ่งจาก ความคิดความเชื่อทางศาสนาเป็นแรงผลักดัน เป็นพลังภายในความคิดและจินตนาการที่ขับเคลื่อนงานสร้างสรรค์ต่างๆ ให้ปรากฏสู่สังคมชุมชน และเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ สร้างความเข้มแข็งมั่นคงที่นำไปสู่ความเจริญของชุมชนนั้นๆ ต่อไป
ยุคสมัยทวารวดี เป็นยุคที่ศาสนาพุทธได้เข้ามาลงหลักปักฐานได้อย่างค่อนข้างมั่นคงในบ้านเราแล้ว และส่งผลให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ต่อการสร้างพุทธสถาปัตยกรรม เป็นลำดับแรกๆ แม้ก่อนหน้านั้นอาจมีความคิดความเชื่อในศาสนาอื่นๆ หรือเป็นลัทธิบูชาธรรมชาติอันเก่าแก่ที่เป็นแบบฉบับของชุมชนโบราณ แต่ก็ไม่มีพลังมากพอแก่การสร้างสรรค์งานสถาปัตยกรรมเท่ากับ พุทธศาสนา และศาสนาพราหมณ์ฮินดู (ในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้โดยภาพรวม) หรือแม้แต่ศาสนาอิสลามก็มีความยิ่งใหญ่ไม่แพ้กัน
พุทธศาสนาเป็นแกนความคิดสำคัญ ที่นอกจากจะใช้ในการนำพาชีวิตของผู้คน สังคม และชุมชนแล้ว ยังใช้ในทางการปกครองบ้านเมืองด้วย จึงมีผลให้งานสถาปัตยกรรมได้รับการบรรจงสร้างอย่างเต็มที่ และรักษาให้เป็นขวัญและกำลังใจแก่สังคมชุมชน หน่วยย่อยแห่งศิลปกรรมมากมาย ที่ปรากฏประกอบงานสถาปัตยกรรม ก็ล้วนได้รับแรงบันดาลใจจากพระพุทธศาสนานี้ด้วยเช่นกัน
การสร้างงานสถาปัตยกรรมภายใต้บริบทแห่งความศรัทธาในพระพุทธศาสนานี้ ได้ทำให้งานพุทธศิลป์สถาปัตยกรรม เต็มไปด้วยความรุ่มรวย งดงาม ได้รับการสร้างขึ้นอย่างเต็มกำลัง ทั้งทรัพยกรที่ใช้ก่อสร้าง และทรัพยากรทางความคิดอันสร้างสรรค์ สะท้อนออกซึ่งความศรัทธาอย่างสูง ที่ผู้คนมีต่อพระพุทธศาสนา และกลายเป็นสิ่งที่สร้างคุณค่าให้แก่สังคมสืบมาอย่างไม่อาจปฏิเสธได้
ศิลปกรรมที่มีไม่ได้เพียงแค่ทำหน้าที่เล่าเรื่องสำคัญทางพระพุทธศาสนาเท่านั้น แต่ยังได้เล่าเรื่องราวของสังคม เศรษฐกิจ วัฒนธรรม ในแต่ละช่วงเวลาที่พุทธศิลปสถาปัตยกรรมได้ถูกสร้างขึ้นด้วย จึงกล่าวได้ว่า เป็นหน้าประวัติศาสตร์สำคัญของชาติส่วนหนึ่ง ที่ได้รับการบันทึกไว้บนตัวสถาปัตยกรรม ในรูปแบบ จิตรกรรม ประติมากรรม อันเป็นงานปราณีตศิลป์สำคัญ ที่ผนวกเข้ากันเป็นงานช่างศิลป์ ทั้งแบบช่างหลวง ในงานอันเกี่ยวเนื่องกับพระมหากษัตริย์ และงานช่างพื้นบ้านหรือช่างพื้นถิ่น ที่เกิดขึ้นในชุมชน หมู่บ้าน แต่ทั้งสองส่วนล้วนเป็นภาพสะท้อนสังคม เศรษฐกิจ และวัฒนธรรมที่มีคุณค่าอย่างยิ่งทั้งคู่
ยิ่งศิลปะสถาปัตกรรมที่สร้างขึ้น จะเก่าแก่เพียงใดก็ตาม คุณค่าที่มีนั้นไม่เคยลดเลือนหายไปไหน แต่กลับจะยังทรงคุณค่า เป็นมรดกทางวัฒนธรรมของสังคมยิ่งขึ้นไปอีก เพราะกลายเป็นความหายากยิ่งในด้านกาลเวลาร่วมด้วย การสร้างสรรค์ที่เกิดขึ้นใหม่ ที่มีฐานความคิดความเข้าใจและความตั้งใจที่เจริญรอยต่อยอดจากฐานทางวัฒนธรรมเดิมที่มี ย่อมทำให้อัตลักษณ์สำคัญของชาตินี้ยังคงดำรงอยู่ และสืบทอดต่อไปได้
ที่สำคัญคือ ผู้คนในสังคม ควรจะต้องเห็นคุณค่าในงานสถาปัตยกรรมไทยนี้ เข้าใจในมรดกทางวัฒนธรรมอันสำคัญนี้ ก็จะเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนให้เกิดการรักษา สืบสาน สร้างสรรค์ งานสถาปัตยกรรมไทย ให้วัฒนาสืบต่อไป
TAG: