ความสำคัญของศิลปกรรมในงาน สถาปัตยกรรมไทย

คุณค่าของศิลปกรรม กับ สถาปัตยกรรมไทย
Home » สถาปัตยกรรม » ความสำคัญของศิลปกรรมในงาน สถาปัตยกรรมไทย

สถาปัตยกรรมไทย แบบแผนประเพณี เป็นงานที่เรารู้จักคุ้นเคย ว่าเป็นสถาปัตยกรรมที่ตกแต่งด้วยลวดลาย และองค์ประกอบอันเป็นศิลปกรรมชั้นสูง มีงานปราณีตศิลป์ของไทยประกอบอยู่ในงานสถาปัตยกรรมหลากหลายแขนง เช่น ช่างไม้ ช่างปูน ช่างปั้น และอีกหลายหลายที่ไทยเราเดิมเรียกกันว่า “ช่างสิบหมู่”

ลายรดน้ำปิดทอง บนตู้พระธรรม เป็นงานช่างชั้นสูงชนิดหนึ่งของไทย

สำหรับคำว่า “ช่างสิบหมู่” ในงาน สถาปัตยกรรมไทย นั้น คำว่า “สิบ” ในที่นี้ บางท่านอาจกล่าวว่า เดิมทีเดียวก็อาจถูกจัดหมวดหมู่ไว้เป็นสิบจำพวก แต่มาเพิ่มเติมอีกหลายจำพวกในภายหลังจนเกินสิบกลุ่มงานช่างไป

อย่างไรก็ดี คำว่า “สิบ” ที่ว่านี้ อาจจะเป็นการกร่อนของคำว่า “สิปปะ” ซึ่งป็นคำในภาษาสันสกฤติ หมายถึง “ศิลปะ” หาใช่หมายความว่า ช่างสิบอย่าง อีกทั้งหมู่ช่างดังกล่าว ก็ยังมีหมวดหมู่งานช่างมากกว่า 10 จำพวกอีกด้วย

ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตาม ช่างสิบหมู่ ก็เป็นคำที่อธิบายถึงหมวดงานช่างศิลปกรรมของไทย ปัจจุบัน ช่างสิบหมู่ ถือเป็นแผนกงานอันสำคัญยิ่งแผนกหนึ่งของกรมศิลปากร มีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการว่า “สำนักช่างสิบหมู่”

สถาปัตยกรรมไทย ที่พบเห็นในวัดวาอาราม
สถาปัตยกรรมไทย ที่พบเห็นในวัดวาอาราม

สถาปัตยกรรมไทย อันรุ่มรวยไปด้วยงานศิลปกรรม ที่พบเห็นได้โดยทั่วไป คือ วัดวาอาราม ที่มีอยู่ทั่วไปในประเทศไทย แต่งานช่างศิลป์สำคัญที่ปรากฏในตัวงานสถาปัตยกรรมมักจะเป็นวัดหลวง หรืออารามที่สร้างโดยพระมหากษัตริย์ ซึ่งมีช่างหลวงที่มากฝีมือ มาร่วมรังสรรค์ให้งานเต็มไปด้วยความงดงามอลังการ พระมหากษัตริย์เป็นผู้ทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาเป็นหลักในสมัยก่อน ทรงสร้างพระอารามและบำรุงรักษาสืบมา เลี้ยงดูช่างในทุกๆ แขนงให้มีกำลังในการทำงานศิลปกรรมให้เต็มฝีมือ และสืบสานแนวทางการทำงานให้คงคุณค่าและรูปแบบศิลปะสถาปัตยกรรมตามขนบธรรมเนียมที่มีมา งานดังกล่าวได้รับการพัฒนาสืบสานจนขึ้นถึงระดับสูงสุด หรือเรียกว่าไทยคลาสสิคไปแล้ว มีคุณค่าเทียบเท่าศิลปกรรมคลาสสิคของประเทศอื่นๆ อย่างทัดเทียมกัน

อาจมีผู้สงสัยได้ว่า คำสอนในพระพุทธศาสนานั้น สอนให้เราละวางความยึดถือทั้งหมด ปล่อยวาง แล้วเหตุใด สถาปัตยกรรมไทย ในพระพุทธศาสนาจึงดูเหมือนจะแตกต่างจากคำสอนดังกล่าว  หากเรามองย้อนอดีตดีๆ จะเห็นว่า ความเป็นเนื้อแท้แห่งพระพุทธศาสนานั้นมีความเรียบง่ายพอดี แต่สวนกระแสกับความคิดความต้องการของผู้คนบนโลก ที่ยังต้องการแสวงหาสิ่งเติมเต็มความต้องการที่ไม่มีจุดสิ้นสุด

พระพุทธศาสนา กับ สถาปัตยกรรมไทย
พระพุทธศาสนา จากอินเดีย ให้อิทธิพลแก่งานสถาปัตยกรรมไทย

การที่จะให้คนทุกคนมีความเห็นตรงกันในการทำให้พระพุทธศาสนามีความเรียบง่ายแบบคำสอน จึงเป็นไปได้ยาก การเข้าถึงพระพุทธศาสนาด้วยคำสอนแบบเดียวกันก็ไม่อาจทำได้ เพราะหลักธรรมบางข้อก็ยากเกินจะเข้าใจได้เหมือนกันทุกคน การหาสิ่งยึดเหนี่ยวทั้งรูปเคารพ หรือประติมากรรมพระพุทธรูป จึงนับเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างสรรค์ศิลปะ ในเชิง สถาปัตยกรรมไทย ที่สามารถพบเห็นได้ในพระพุทธศาสนาที่สำคัญ (ราวพุทธศตวรรษที่ 6 ในสมัยพระเจ้ามิลินท์ กษัตริย์เชื้อสายกรีกที่ขยายอำนาจเข้ามายังอินเดีย ได้สดับพระธรรมจนเกิดความเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา และสร้างพระพุทธรูปขึ้นเพื่อสักการบูชา ทำนองเดียวกับเทวรูปของชาวกรีก)

การก่อเกิดของรูปเคารพในพระพุทธศาสนาครั้งนั้น เสมือนเป็นการสร้างเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจโดยตรงที่มีต่อองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และเมื่อพระพุทธศาสนาได้มีนิกายแบบมหายานเกิดขึ้น ก็รับเอาสิ่งต่างๆ อันเป็นเครื่องประกอบลัทธิเข้ามาเสริมเติมแต่งให้แก่พระพุทธศาสนา ให้มีความรุ่มรวยทั้งทางศิลปกรรมและความคิด ที่ต่อยอดออกมาจากความคิดแบบเถรวาทดั้งเดิม แน่นอนว่าอาจจะผิดแผกไปจากหลักการที่แท้จริงของความเป็นเนื้อแท้แห่งพระพุทธศาสนา แต่มันก็ถูกจริตผู้คนโดยมาก ที่ยังไม่สามารถละทิ้งโลกหรือเครื่องประกอบต่างๆ รอบๆ ตัวไปได้ จึงอิงอาศัยเครื่องประกอบเหล่านั้นเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวไปก่อน การตกแต่งประดับประดาเหล่านั้นได้ช่วยสร้างศรัทธา และทำให้ผู้คนเข้าถึงพระพุทธศาสนาได้ง่ายขึ้น ทั้งยังสอดคล้องกับสภาพสังคมในเวลานั้น ที่เกิดการแข่งขันกันระหว่างศาสนาโดยเฉพาะอย่างยิ่งศาสนาพราหมณ์ ที่เต็มไปด้วยรูปเคารพ พิธีกรรม และศิลปกรรมอันรุ่มรวยของศาสนสถานทั้งหลาย

พระพุทธศาสนาแบบมหายาน ต้นกำเนิดของศิลปกรรม ในเชิง สถาปัตยกรรมไทย
พระพุทธศาสนาแบบมหายาน ที่ยิ่งใหญ่แห่งหนึ่ง ณ บุโรพุทโธ ประเทศอินโดนีเซีย

พระพุทธศาสนาแบบมหายาน จึงเป็นจุดตั้งต้นของศิลปกรรม ในเชิง สถาปัตยกรรมไทย ในพระพุทธศาสนาอย่างมิอาจปฏิเสธได้  และศิลปกรรมเหล่านั้นในอินเดีย ก็เป็นแบบแผนให้กับศิลปกรรมทางพระพุทธศาสนาในประเทศอื่นๆ ที่ได้ยอมรับนับถือเป็นศาสนาสำคัญของชาติเหล่านั้นด้วย ไม่ว่าจะเป็นการเผยแผ่พระพุทธศาสนาผ่านคาบสมุทรทางใต้ของอินเดีย ข้ามไปยังศรีลังกา กระจายไปสู่หมู่เกาะในอินโดนีเซียอันเป็นกลุ่มวัฒนธรรมศรีวิชัยและเลยขึ้นมาถึงแถบทางตอนใต้ของประเทศไทยด้วย อิทธิพลดังกล่าวข้ามมาถึงกลุ่มอิทธิพลของวัฒนธรรมในศิลปกรรมขอม จามปา และประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ยอมรับนับถือพระพุทธศาสนาทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นพม่า สยาม ล้านนา ล้านช้าง  หรือการเผยแผ่ขึ้นไปทางตอนเหนือของอินเดียมีรูปแบบของลัทธิแบบอาจาริยวาทที่ต่างออกไป ทั้ง ทิเบต เนปาล จีน เกาหลี และญี่ปุ่น

พระพุทธศาสนาแบบเถรวาท กับ สถาปัตยกรรมไทย
พระพุทธศาสนาแบบเถรวาทสำคัญแห่งหนึ่ง คือที่ประเทศศรีลังกา

การเปิดโอกาสให้พุทธศาสนาแบบเถรวาทดั้งเดิม ได้มีโอกาสรับเอาลัทธิความคิดความเชื่อแบบฮินดูเข้ามาผสมผสานร่วมกับแนวคิดแบบอาจาริยวาทของมหายาน ทำให้รูปแบบของศิลปกรรมในเชิง สถาปัตยกรรมไทย ที่พบเห็นได้ในพระพุทธศาสนานั้นเจริญเติบโตงอกงาม จนปรากฏเป็นหลักฐานสำคัญดังทุกวันนี้  เรามิอาจปฏิเสธสิ่งที่ประกอบเป็นเปลือกผิวของพระพุทธศาสนาได้ว่าผิดไปจากหลักคำสอนดั้งเดิมอันจริงแท้ แต่เปลือกผิวเหล่านี้เองที่ห่อหุ้มแก่นแกนความจริงของคำสอนภายใน ให้อยู่รอดผ่านยุคผ่านสมัยมานับพันปีได้ ดุจดังยอดหญ้าที่ไหวเอนไปตามแรงลมที่มาปะทะบ้าง เพื่อมิให้ทั้งต้นต้องหักโค่นลงมา

ในเชิงคุณค่าของศิลปกรรมจากงาน สถาปัตยกรรมไทย แม้จะเป็นเพียงเปลือกห่อหุ้มภายนอก แต่ก็ถือเป็นกุศโลบายอันแยบยลสำคัญ ที่เปิดโอกาสให้ผู้คนได้ลองชิมลิ้มรสอันเป็นเครื่องประกอบแห่งพระพุทธศาสนาอันรุ่มรวยนี้  และนำไปสู่การเดินเข้าไปถึงเนื้อแท้แห่งคำสอนที่แท้จริงของพระพุทธศาสนาในวันหนึ่งข้างหน้าได้  คุณค่าของศิลปกรรมในงาน สถาปัตยกรรมไทย ที่ปรากฏห่อหุ้มเนื้อแท้แห่งพระพุทธศาสนาจึงมีสำคัญยิ่ง และไม่อาจปฏิเสธถึงคุณูปการอันใหญ่หลวงนี้ได้เลย

คุณค่าของ ศิลปกรรม กับ สถาปัตยกรรมไทย
คุณค่าของ ศิลปกรรม มีผลต่อความรู้สึกและการสร้างสรรค์

วันนี้การที่เรานำพวงมาลัยที่บรรจงร้อยเรียงอย่างงดงามไปวางไว้หน้าพระปฏิมาอันเป็นสมมติรูปแห่งองค์พระศาสดา จึงเป็นเหมือนสมมติพิธีแห่งการแสดงความเคารพในทำนองเดียวกัน ความเคารพที่แท้จริงอยู่ภายในที่ปราศจากรูปหรือเครื่องประกอบใดๆ แต่เครื่องประกอบที่ว่านี้ก็สำคัญมิใช่น้อย เพราะมันช่วยเติมเต็มศรัทธาอย่างวิถีคนเดินดินอย่างเราๆ ได้ และยังเป็นเครื่องตอกย้ำถึงศรัทธาที่มีได้อย่างเป็นรูปธรรมที่สุด

ศิลปกรรมในงาน สถาปัตยกรรมไทย จึงเป็นเสมือนเครื่องประกอบอันคัญ ที่ผู้คนมีต่อพระพุทธศาสนาในแบบโลกๆ หรือตามวิถีโลก สะท้อนถึงภูมิปัญญาของผู้คน ที่ได้สร้างสรรค์สิ่งอันเป็นสมมติ เพื่อแสดงถึงความเคารพศรัทธา ที่มีต่อพระพุทธศาสนาอย่างเป็นรูปธรรมและงดงามอย่างที่สุด ซึ่งเราจะได้มาทำความเข้าใจต่อบทบาทของศิลปกรรมให้ลึกซึ้งต่อในโอกาสต่อไป

ศิลปะสถาปัตยกรรมไทยที่อ่อนช้อยและโดดเด่น

TAG:

Read this article in English