สถาปัตยกรรมไทย มรดกภูมิปัญญาสร้างสรรรค์

สถาปัตยกรรมไทย : มรดกภูมิปัญญาสร้างสรรค์

Home » Talk Thai Arch » สถาปัตยกรรมไทย มรดกภูมิปัญญาสร้างสรรรค์

สถาปัตยกรรมไทย มรดกภูมิปัญญาสร้างสรรค์ เป็นสิ่งที่ตกทอดจากรุ่นสู่รุ่น เป็นสมบัติเฉพาะ เรียกว่าเป็นมรดก มรดกดังกล่าวนี้มีทั้งคุณค่าและมูลค่าอันเป็นที่ยอมรับโดยสากล  

****

วัฒนธรรม คือมรดกของกลุ่มชนหรือสังคม เพราะเป็นสิ่งซึ่งสั่งสมตกทอดกันมาจากรุ่นสู่รุ่น วัฒนธรรมเองก็มีทั้งที่เป็นรูปธรรมและนามธรรม โดยในแต่ละประเทศที่ก่อเกิดและสืบทอดมาเป็นเวลายิ่งนานเท่าไหร่ ก็จะมีมรดกทางวัฒนธรรมสั่งสมต่อเนื่องสืบมายาวนานเท่านั้น และหากยิ่งมีเวลาสั่งสมยาวนานก็จะทำให้วัฒนธรรมนั้นๆ มีคุณค่าทางจิตใจอย่างมาก ได้รับการยกย่องในด้านความเก่าแก่ ดั้งเดิม ที่ไม่อาจซื้อหาหรือเสกสร้างกันเองได้ เพราะเวลาต่างหากที่เป็นผู้ทำให้เกิดคุณค่าเช่นนั้นขึ้นได้

ในบรรดามรดกทางวัฒนธรรมต่างๆ นั้น สถาปัตกรรม ถือเป็นมรดกอันเป็นรูปธรรมที่ชัดเจนจับต้องได้ และเป็นหลักฐานอันประจักษ์ชัดชนิดหนึ่ง  เป็นวัฒนธรรมอันเป็นเอกลักษณ์หรืออัตลักษณ์อย่างชัดเจนแตกต่างกันไปในแต่ละถิ่นที่ เนื่องด้วยกลุ่มชนชาติต่างๆ ล้วนมีความพยายามในการสร้างความชัดเจนในลักษณะเฉพาะกลุ่มของตนเองในทุกๆ ด้าน และโดยเฉพาะอย่างยิ่งสถาปัตยกรรมก็เช่นกัน

เพราะการสร้างเอกลักษณ์หรือลักษณะเฉพาะดังกล่าว เป็นการแสดงถึงความเป็นหมู่เหล่าหรือพวกเดียวกัน และยังเป็นเครื่องมือทางสังคมที่ทำให้เกิดการรับรู้ถึงการครอบครอง ไม่ว่าจะเป็นการครอบครองผู้คน ครอบครองธรรมชาติแวดล้อม หรือดินแดนที่ปรากฏเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมเหล่านั้น 

สถาปัตยกรรมเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่ปรากฏชัดว่ากลุ่มชนในวัฒนธรรมนั้นได้ครอบครองดินแดนไปถึงเขตใด สุดขอบการปรกครองตรงไหน ก็อาศัยตัวสถาปัตยกรรมนั่นล่ะ เป็นสิ่งบ่งบอกได้อย่างชัดเจนที่สุด ฉะนั้นแล้วบางทีเราจึงเห็นบางประเทศสร้างสถาปัตยกรรมของเขายันไปที่สุดเขตประเทศ เพื่อแจ้งเตือนอาณาเขตอธิปไตยของเขา ณ ดินแดนตรงนั้น และการที่สิ่งก่อสร้างต่างๆ จะกลายเป็นมรดกของสังคมได้ ย่อมต้องได้รับการพัฒนาสั่งสมจนเป็นที่ยอมรับในกลุ่มชนนั้นๆ อย่างถ่องแท้ ทุกคนเห็นถึงความดีงามทั้งปวงอันประกอบรวมเข้าเป็นส่วนหนึ่งของสังคมนั้น

ภาพ: วัดพระศรีสรรเพชญ์ พระนครศรีอยุธยา

นั่นคือการที่สิ่งใดสิ่งหนึ่งจะกลายเป็นวัฒนธรรมของสังคมได้ สิ่งสำคัญคือสังคมนั้นๆ ต้องยอมรับในคุณค่าและความดีงามที่มี หาไม่แล้ว สิ่งนั้นก็จะถูกทอดทิ้ง ไม่ได้รับการสืบสาน สืบทอด และยอมรับสืบต่อกันมา วัฒนธรรมจึงหาใช่แต่เพียงการสร้างให้มีขึ้นเท่านั้น แต่ต้องมีขึ้นแล้วปรากฏถึงคุณค่าต่างๆ จนสังคมยอมรับและนำมาใช้สืบต่อกันมาด้วยความภาคภูมิใจร่วมกัน อย่างเป็นภาพรวม หรือก็คือการยอมรับร่วมกันทั้งหมดนั่นเอง และโดยนัยทางวัฒนธรรมแล้วมักจะต้องเป็นสิ่งที่สร้างขึ้นในทางดีงาม หรือมีผลลัพธ์ต่อสังคมเชิงบวกด้วย

****

สถาปัตยกรรมไทย จัดว่าเป็นมรดกทางวัฒนธรรมได้ เพราะได้รับการสร้างสรรค์ด้วยภูมิปัญญาที่คิดค้น กลั่นกรอง จนได้ชิ้นงานอันสมบูรณ์ทั้งการใช้งาน ความแข็งแรง และงดงามอย่างเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว ที่หมายแทนได้ว่า การออกแบบและก่อสร้างนี้เป็นตัวแทนของกลุ่มชนวัฒนธรรม 

****

การคิดค้นสร้างสรรค์มรดกทางวัฒนธรรมนี้ ต้องอาศัยความรู้ในด้านการช่างหลายประการ เบื้องต้นเป็นการใช้ความรู้เชิงวิศวกรรมเพื่อทำให้ตัวอาคารคงอยู่ ทนแดดฝน แรงลมแรงพายุ หรือภัยทางธรรมชาติต่างๆ ได้อย่างปลอดภัยมั่นคง   ต้องใช้ความรู้ในเชิงเทคนิค ที่จะทำให้การประสานตัวของวัสดุต่างๆ ที่มีอยู่รอบตัวมาใช้ เพื่อตอบสนองความต้องการ ทั้งความสูง ความกว้าง ความยาว

และส่วนสุดท้ายคือความรู้ที่สามารถประกอบเหตุปัจจัยต่างๆข้างต้นนั้น ให้รวมกันเข้าจนเกิดความงาม ลงตัว  ซึ่งเป็นการตอบสนองความต้องการขั้นสูง คือเลยความต้องการขั้นพื้นฐานออกไป ซึ่งต้องอาศัยความคิดความเข้าใจในเชิงสุนทรียศาสตร์เป็นสำคัญ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเป็นงานสถาปัตยกรรมไทยแล้ว ความงามในแนวคิดของผู้สร้างสรรค์ จะมองความงามอย่างไทย ที่มักจะมิได้มองความงามอย่างตรงไปตรงมา  แต่อาศัยการจับวิญญาณแห่งความงามในธรรมชาติรอบตัว  มาแปลงรูปให้ปรากฏผลทางความรู้สึกเป็นสำคัญ

จะเห็นได้ว่าการก่อรูปก่อร่างงานสถาปัตยกรรมไทย อาศัยความรู้ ความคิด ทักษะ ฝีมือ สั่งสมฝึกฝนจนชำนาญ ด้วยระยะเวลาอันยาวนานในการพัฒนารูปแบบ และเทคนิควิธีต่างๆ ทางการก่อสร้าง จนปรากฏเป็นมรดกตกทอดมาถึงปัจจุบัน ซึ่งมิใช่เรื่องง่าย และผลลัพธ์แห่งการสั่งสมดังกล่าวก็เป็นที่ยอมรับของอารยประเทศถึงคุณค่า และความงามที่มี

บรรพชนไทยในอดีต อาจมิรู้เลยว่าการสร้างสรรค์งานสถาปัตยกรรมไทยด้วยหัวใจอันดีงามในครั้งก่อนนั้น จะปรากฏเป็นมรดกให้ผู้คนในปัจจุบันได้ประโยชน์สืบต่อมาอย่างมากมายเพียงใด มรดกนี้มิได้ให้ประโยชน์แต่เพียงการใช้งานตามที่อาคารได้ถูกสร้างขึ้นเท่านั้น แต่มรดกดังกล่าวนี้ยังนำมาซึ่งมูลค่าเพิ่มมากมาย ไม่ว่าจะเป็นรายได้จากการท่องเที่ยวที่ผู้คนทั่วโลก พากันเดินทางข้ามน้ำข้ามทะเล เพื่อมาชื่นชมวัดวาอาราม หรือบ้านเรือนต่างๆ ที่มีกลิ่นอายเอกลักษณ์อันเป็นอัตลักษณ์เฉพาะแห่งความเป็นไทย

มรดกดังกล่าวนำมาซึ่งความภาคภูมิใจที่บรรพชนได้คิดค้นและสร้างสรรค์ สิ่งดีงามดังกล่าวไว้ให้ ซึ่งถือเป็นทรัพย์สินทางปัญญาที่ใครก็มิอาจลอกเลียนไปได้ หากลอกเลียนไปก็มิใช่เจ้าของที่แท้จริง แต่เป็นการลอกแบบไป แม้จะลอกไปได้เหมือนมากเพียงใด ก็ยังคงเป็นคุณค่าในชั้นรองเท่านั้น เพราะมรดกทางวัฒนธรรมย่อมเป็นของเจ้าของวัฒนธรรมนั้นๆ โดยตรง

แม้ว่าโลกทุกวันนี้จะเปลี่ยนไปจากอดีตอย่างมาก และวัฒนธรรมที่เห็นก็ดูเหมือนจะเคลื่อนเข้าหากันจนเหมือนจะเป็นแบบแผนเดียวกันไปแล้ว แต่ผู้เขียนยังเชื่อว่าลึกๆ ในจิตใจของผู้คนยังคงคิดว่าตนมีวัฒนธรรมเป็นของตนเองเฉพาะกลุ่ม ที่หล่อหลอมความเป็นตัวตน ความคิดความรู้สึก ที่จะไหลรวมกองกันอยู่ในแบบแผนทางวัฒนธรรมที่หยั่งรากอยู่ภายในร่วมกัน  ไม่ว่าแต่ละคนจะมีความคิดลึกๆ เช่นใดก็ตาม หากทุกความแตกต่างทางวัฒนธรรมนั้น สร้างคุณค่าและความสุขให้แก่โลกนี้ โดยไม่เกิดการแก่งแย่งเอารัดเอาเปรียบ ก็เชื่อว่าจะเป็นวัฒนธรรมสากล ที่มีคุณค่า และกลายเป็นมรดกทางวัฒนธรรมของโลกที่ทุกคนจะได้เป็นเจ้าของร่วมกัน

TAG:

Read this article in English