สถาปัตยกรรมไทย หน้าจั่ว หน้าบัน

สถาปัตยกรรมไทย : หน้าจั่ว หน้าบัน

Home » Talk Thai Arch » สถาปัตยกรรมไทย หน้าจั่ว หน้าบัน

หน้าจั่ว หน้าบัน สองคำนี้เชื่อว่าน่าจะทำให้ผู้คนสับสนกันพอสมควร ว่ามันเหมือนหรือต่างกันอย่างไร ใช้เรียกองค์ประกอบของงานสถาปัตยกรรมไทยชนิดใด ตรงไหน

ขอสรุปให้ง่ายๆ ดังนี้คือ หน้าจั่ว ใช้เรียก ส่วนของกรอบสามเหลี่ยมใต้จั่วหลังคาของเรือนไทย โดยมากมักจะเป็นหน้าจั่วพรมหพักตร์ที่คุ้นตาในเรือนไทยมาตรฐานแบบภาคกลาง หรือบางครั้งก็อาจเป็นลายตะวัน ที่ตีเป็นช่องโปร่งให้แสงและลมพัดผ่านไปได้ ซึ่งมักใช้กับเรือนครัว

ส่วนหน้าบัน ก็เป็นองค์ประกอบ สถาปัตยกรรมไทย ที่อยู่ใต้กรอบจั่วสามเหลี่ยมของ อาคารจำพวก โบสถ์ วิหาร ซึ่งมักมีการปั้นปูนลวดลายประดับประดาอย่างงดงาม จะอธิบายโดยละเอียดต่อไปดังนี้

ภาพ : ลายเส้น หน้าจั่ว หน้าบัน ของ เรือนไทย และปราสาทพระเทพบิดร (โดย รศ. สมใจ นิ่มเล็ก ราชบัณฑิต )

ในงานสถาปัตยกรรมไทยตามแบบแผนนิยมที่ดำเนินมานั้น  ส่วนของการตกแต่งทางศิลปกรรมที่สำคัญส่วนหนึ่งของตัวสถาปัตยกรรมเอง คงหนีไม่พ้น ส่วนที่เรียกว่าหน้าบันนี้เอง  คำว่าหน้าบันนั้นคือพื้นที่ว่างในกรอบสามเหลี่ยมภายใต้หลังคายื่นคลุมออกมาปิดหัวท้ายของอาคาร ถ้าเป็นเรือนไทยจะเรียกว่าหน้าจั่ว อาคารส่วนใหญ่ของไทยนั้นจะกำหนดด้านสกัด (ด้านสั้น) ของอาคารเป็นเสมือนด้านหน้าของอาคาร งานตกแต่งในส่วนนี้จึงเป็นส่วนที่ช่าง หรือศิลปินให้ความสำคัญในการตกแต่งมาก

ถ้าเป็นเรือนไทย เราจะเห็นการตกแต่งนับแต่การทำรูปปั้นลม (แผ่นไม้ส่วนที่วางอยู่บนอกไก่เพื่อกั้นลมกั้นฝนให้กระเบื้องตลอดแนวจั่วหลังคา) ให้มีลักษณะยกยอดแหลม และส่วนปลายทางด้านล่างที่โค้งงอขึ้น ซึ่งเรียกว่า “ตัวเหงา” (จะเหงามากหรือเหงาน้อยขึ้นกับรสนิยมของทั้งผู้ออกแบบและผู้อยู่อาศัย)

ภาพ : ตัวเหงา ที่อยู่ส่วนล่างของปั้นลมเรือนไทยภาคกลาง แบบมาตรฐาน

ซึ่งความจริงรูปที่เห็นไม่ได้มีผลโดยตรงทางด้านการใช้งาน แต่เป็นการออกแบบที่ต้องการผลทางด้านความรู้สึกเป็นสำคัญ เหมือนกับการแต่งกายของผู้คน  ที่หากว่าด้วยเรื่องของการใช้งาน ก็คือความต้องการเสื้อผ้าสำหรับปกปิดหรือกันร้อนหนาวให้แก่ร่างกายอันเป็นความต้องการขั้นพื้นฐาน แต่หากต้องการรูปแบบที่พิเศษเหมาะแก่การใช้สอยในโอกาสต่างๆ  นั่นก็จะกลายมาเป็นการสร้างความพิเศษขึ้นเพื่อตอบสนองในด้านความรู้สึกนั่นเอง  

ซึ่งส่วนของ หน้าจั่ว หรือ หน้าบัน นี้ล่ะ คือสิ่งที่ผู้เขียนเห็นว่าเป็นเสมือนหน้าตาของอาคารที่มีหน้าที่ในการสื่อสารให้ผู้คนเห็นถึงความสำคัญของอาคารและผู้ที่เกี่ยวข้องกับอาคารในทางใดทางหนึ่งมาเป็นเวลาช้านานแล้ว

หากเป็นเรือนไทยตามปกติ ส่วนของหน้าจั่วนี้ก็อาจมีการออกแบบให้เป็นได้ทั้งส่วนตกแต่งและการใช้สอย (เช่นระบายอากาศ)ร่วมกันไป  โดยมากเรือนเครื่องสับ (เรือนไม้จริงทั้งหลัง) มักทำจั่วพรหมพักตร์  ตามแบบฉบับเรือนภาคกลาง ประกอบรูปปั้นลมที่เราคุ้นเคยกันดี 

ซึ่งนอกจากปลายปั้นลมจะเป็นตัวเหงาแล้ว ก็อาจมีปั้นลมลักษณะอื่นๆ เช่น ปั้นลมหางปลา และอาจมีการตกแต่งในส่วนของปั้นลมให้แตกต่างนอกเหนือไปจากที่กล่าวไปแล้วนี้ด้วยลวดลายพิเศษที่ต่างออกไปก็ได้ หากเรือนดังกล่าวนั้นสร้างขึ้นสำหรับบุคคลสำคัญที่มีฐานานุศักดิ์ผิดไปจากสามัญชนทั่วไป หรือสร้างขึ้นเพื่อการใช้สอยพิเศษเป็นการเฉพาะที่ต่างออกไป

เรือนไทยบางหลังอาจมีการตกแต่งบริเวณหน้าจั่วให้มีลักษณะพิเศษได้ หากอาคารนั้นมีความจำเพาะเจาะจง ซึ่งโดยมากมักเป็นเรือนที่มีฐานานุศักดิ์พิเศษ กล่าวคือเป็นเรือนสำหรับบุคคลสำคัญ หรือเรือนที่มีการใช้งานพิเศษกว่าเรือนไทยปกติทั่วๆไป

ภาพ : หน้าจั่วเรือนไทยที่ออกแบบลักษณะลายประกอบหน้าจั่ว ( ออกแบบโดย บริษัท พีพลัสไทย สตูดิโอ จำกัด )

ดังนั้นการคิดออกแบบส่วนของหน้าจั่วหรือหน้าบัน จึงเป็นส่วนสำคัญที่จะสื่อสารสาระสำคัญของอาคารหรือบุคคลที่เกี่ยวเนื่องให้ปรากฏ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเป็นหน้าบันของอาคารทางพระพุทธศาสนา ส่วนของหน้าบันจะเป็นส่วนที่สื่อความหมายได้ชัดเจนที่สุดถึงสาระสำคัญของอาคารหรือผู้ที่เกี่ยวข้องกับการสร้างอาคารนั้นๆ  อาทิ พระอุโบสถวัดพระแก้วซึ่งมีการตกแต่งเป็นรูปนารายณ์ทรงครุฑ เพื่อสื่อความหมายถึงวัดที่พระมหากษัตริย์ทรงสร้าง และใช้ในการพระราชพิธี  เป็นต้น

ภาพ : หน้าบัน อุโบสถ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ( วัดพระแก้ว ) เป็นลาย พระนารายณ์ทรงครุฑ ประกอบลายก้านขดเทพพนม

การออกแบบงานสถาปัตยกรรมไทยประเภทวัดวาอารามในส่วนของหน้าบันจึงเป็นองค์ประกอบสำคัญของงานออกแบบที่สามารถนำเสนอเนื้อหาสาระสำคัญส่งผ่านไปยังผู้ใช้อาคารได้เป็นอย่างดี ทั้งนี้โดยมากจะต้องสัมพันธ์กับเนื้อหาสาระทางศาสนาเป็นสำคัญ จึงจะทำให้เกิดการส่งเสริมคุณค่าให้แก่งานตกแต่งอาคารนั้นๆ  ซึ่งจะเป็นไปตามความคิดอ่านของผู้ออกแบบ ที่เคารพต่อปรัชญาการออกแบบพุทธศิลปสถาปัตยกรรมไทย ดังที่ครูช่างได้สร้างสรรค์กันมาอย่างต่อเนื่อง บางครั้งผู้ออกแบบอาจคิดเรื่องราวที่แปลกใหม่ แต่คงต้องให้อยู่กรอบเกณฑ์แห่งการสร้างความรู้สึกอันผ่องแผ้วดีงาม และสร้างเสริมศรัทธาให้บังเกิดขึ้นในใจของพุทธบริษัทเป็นสำคัญ 

รูปลักษณ์อาคารโดยรวมก็ไม่ต่างจากรูปลักษณ์ของคนหนึ่งคน โดยหน้าบันของอาคารก็เปรียบได้กับหน้าตาของคน ๆ นั้นนั่งเอง ฉะนั้นทั้งสองส่วนจึงมีความสำคัญควบคู่กัน ถ้ารูปร่างดีแต่หน้าตาไม่งามก็น่าเสียดาย หรือแม้หน้าตางามแต่รูปร่างไม่ดีก็น่าเสียดายเช่นกัน เมื่องานออกแบบทั้งรูปทรงโดยรวมและหน้าตาสอดประสานกันเป็นอย่างดี ย่อมทำให้งานนั้นมีความสมบูรณ์ในที่สุด  

ภาพ : พระอุโบสถ วัดภัททันตะอาสภาราม ( ออกแบบโดย บริษัท พีพลัสไทย สตูดิโอ จำกัด )

ฉะนั้นส่วนของหน้าบันอาคารที่ถูกกำหนดให้เป็นด้านหน้า จึงถือเป็นด้านที่มีความสำคัญอย่างมาก เพราะจะเป็นที่พบเห็นของผู้คนทั่วไปได้ในทันทีที่มองเห็นอาคารนั้นๆ  ในทางการออกแบบกล่าวได้ว่าเป็นประธานของการตกแต่งหน้าตาอาคารเลยทีเดียว  ทั้งนี้ด้านหน้าดังกล่าวไม่จำเป็นต้องเป็นส่วนที่อยู่ในด้านสกัดของอาคารเสมอไป ขึ้นอยู่กับการวางแบบทางสถาปัตยกรรมที่ยักเยื้องตามกลวิธีของผู้ออกแบบ หรือตามสภาพของที่ตั้งเป็นตัวกำหนด อาทิเช่น อาคารในลักษณะตรีมุข หรือจัตุรมุข หรือในลักษณะพิเศษอื่นๆ เป็นต้น

เมื่อผู้คนได้สัญจรผ่านอาคารสถาปัตยกรรมไทยใด ๆ และแหงนมองขึ้นไปบนหน้าจั่ว หน้าบันของอาคาร ย่อมรู้สึกสัมผัสถึงหน้าตาอาคาร และสาระสำคัญที่อาคารนั้นได้ส่งสารและสร้างความรู้สึกมายังผู้พบเห็น สมดังที่ผู้ออกแบบได้รังสรรค์ด้วยความตั้งใจไว้แล้วด้วยดี   หน้าบันอาคารจึงเป็นเหมือนหน้าต่างทางความคิดความรู้สึกที่อาคารนั้นมีต่อผู้คน ทั้งหวังว่าผู้ที่ได้พบเห็นจะเกิดความเจริญจิตเจริญใจไปกับศิลปสถาปัตยกรรมที่ปรากฏ และซึมซับความดีงามผ่านศิลปกรรมนั้นได้โดยทั่วกัน

ภาพ : หน้าบันที่ซุ้มประตูทางเข้า และหน้าบันพระอุโบสถ วัดมกุฏกษัตริยารามราชวรวิหาร ที่มีความหมายถึงรัชกาลที่ 4 ( สัญลักษณ์ในพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว )

ข้อสังเกตุสำคัญประการหนึ่งของ หน้าจั่ว และ หน้าบัน ในเชิงมิติของการออกแบบ คือ ขนาดของหน้าจั่ว จะมีขนาดไม่ใหญ่มาก เนื่องจากใช้กับเรือนพักอาศัยเป็นสำคัญ และมักก่อสร้างด้วยวัสดุจำพวกไม้ งานตกแต่งในส่วนนี้จึงมิได้มีความจำเป็นมากนัก อาศัยลักษณะรูปแบบของหน้าจั่วที่สัมพันธ์ไปกับการวางโครงสร้างของแผงไม้ที่ตีปิดกรอบสามเหลี่ยมใต้หลังคา

ส่วนขนาดหน้าบัน จะมีขนาดใหญ่กว่าอย่างเห็นได้ชัด เนื่องด้วยเป็นองค์ประกอบที่อยู่ในอาคารจำพวก โบสถ์ วิหาร ดังได้กล่าวไปแล้ว ซึ่งมักเป็นงานเครื่องก่อ ที่เป็นงานปูน อีกทั้งเป็นชนิดอาคารที่ต้องการงานศิลปกรรมตกแต่ง เพื่อแสดงถึงความหมาย ให้ความสำคัญ รวมถึงให้เกียรติแก่บุคคลที่อาจเป็นผู้สร้างเอง หรือเป็นบุคคลที่ผู้สร้างต้องการอุทิศให้

หากเรือนพักอาศัยถูกออกแบบให้มีส่วนของหน้าจั่วให้ใหญ่โตมากจนเกินไป จะทำให้ความรู้สึกของความเป็นเรือนลดลง เนื่องจากสัดส่วนเรือนจะโตขึ้นตามไปด้วย แต่ทั้งนี้ก็มิได้หมายความว่าจะไม่มีเรือนพักอาศัย ที่มีขนาดจั่วหรือหน้าจั่วที่โตกว่าปกติสามัญ เรือนเจ้านายชั้นสูงบางหลัง อาจมีขนาดโตผิดจากที่คุ้นเคยได้เช่นกัน แต่ก็ยังรักษาสัดส่วนให้อยู่ในระยะที่ยังสามารกล่าวว่าเป็นเรือนพักอาศัยได้อยู่

หากออกแบบโดยมิได้คำนึงถึงสัดส่วนจนมีขนาดหน้าจั่วโตมากเกินไปแล้ว ก็อาจทำให้เรือนดังกล่าวขยับฐานะ เคลื่อนไปสู่การเป็นอาคารสาธารณะแบบไทยแทนก็เป็นได้ ซึ่งเรื่องนี้ต้องมีความรู้ความเข้าใจในการออกแบบทางไทย จึงจะเข้าใจและไม่ทำให้อาคารผิดรูปผิดแบบ หรือผิดในทางความรู้สึกของความเป็นอาคารชนิดนั้นๆ ไป

การทำเรือนให้มีขนาดใหญ่เล็กอย่างไร ส่วนหนึ่งในสมัยก่อน น่าจะเนื่องจากฐานานุศักดิ์ของผู้ครองเรือนนี้เอง และการที่จะทำเรือนให้มีขนาดโต กว่าทรงเรือนมาตรฐานทั่วไป ก็จะเป็นการยากในการหาวัสดุ และมีความยากในการใช้แรงงานก่อสร้างทบเท่าทวีคูณ

อาคารเครื่องก่อ เครื่องปูนโดยมาก ที่มีจั่วอาคารที่เรียกว่าหน้าบัน จึงมักปรากฏอยู่เพียงงานประเภท ศาสนสถาน และพระราชมณเฑียรต่างๆ เท่านั้น เนื่องจากเป็นไปโดยฐานานุศักดิ์ และความเหมาะสมจำเป็นในสภาพสังคม เศรษฐกิจ วัฒนธรรมสมัยก่อน

แม้ในปัจจุบัน อาคารพักอาศัยต่างๆ ได้เปลี่ยนมาใช้วัสดุถาวร จำพวกอิฐ ปูน กันไปหมดแล้วก็ตาม แต่องค์ประกอบที่อยู่ภายใต้กรอบสามเหลี่ยมของหลังคาที่คุ้มแดดกันฝนนี้ ก็ยังถูกเรียกว่า หน้าจั่ว เช่นเดิม และคำว่า หน้าบัน ก็เป็นคำที่ปรากฏใช้เรียกตำแหน่งองค์ประกอบภายใต้หลังคาเช่นกัน แต่ใช้เฉพาะในอาคารทางศาสนา ที่มีขนาดใหญ่และ ที่มิได้ใช้เป็นอาคารพักอาศัยทั่วไป

นั่นทำให้เห็นได้ว่า คำว่า หน้าบัน อาจกลายเป็นคำเฉพาะเรียก สำหรับ อาคารสาธารณะขนาดใหญ่ในการพระศาสนา และ หน้าจั่ว เป็นคำเรียกเฉพาะ อาคารพักอาศัย ไปโดยปริยาย

TAG:

Read this article in English