สถาปัตยกรรมไทย ผังอาราม สู่ความสงบงาม

สถาปัตยกรรมไทย : ผังอาราม สู่ความสงบงาม

Home » Talk Thai Arch » สถาปัตยกรรมไทย ผังอาราม สู่ความสงบงาม

ในงานสถาปัตยกรรมไทยประเภทวัดวาอารามนั้น หากเราได้เข้าไปสัมผัสกับสถาปัตยกรรมและบรรยากาศในพื้นที่ซึ่งได้รับการออกแบบไว้อย่างดี ย่อมรู้สึกได้ว่าจิตใจดูจะผ่อนคลาย มีอาการอย่างสงบแต่ก็รื่นรมย์อยู่ด้วย เพราะงานสถาปัตยกรรมอย่างที่เรียกกันว่าสถาปัตยกรรมไทยแบบแผนนั้น (หรือแบบประเพณี) มีการก่อรูปก่อร่าง วางผัง และตั้งใจตกแต่งประดับประดาอย่างมีระเบียบแบบแผนอันเหมาะสมแก่การเป็นพุทธสถาน  สถานที่ซึ่งปลุกจิตปลุกใจให้เบิกบานและสงบ อย่างสภาวะจิตที่คำสอนในพระพุทธศาสนาต้องการที่จะโน้มนำไปถึง  นี่จึงเป็นที่มาของบทความที่ว่า สถาปัตยกรรมไทย : ผังอาราม สู่ความสงบงามนั่นเอง

****

ฉะนั้นพุทธสถาปัตยกรรมที่ปรากฏ จึงได้รับการวางตัวอย่างสงบนิ่งอยู่ในผังแกนที่มีความสมดุล มุ่งเข้าสู่ส่วนกลางอันสำคัญของผังดังเช่นเจดีย์ หรือพระอุโบสถ เป็นต้น  องค์ประกอบที่จัดวางให้เกิดการโน้มนำเข้าสู่ศูนย์กลางมิใช่เป็นเหตุบังเอิญหรือจัดวางไปอย่างไร้จุดหมาย  แต่ครูบาอาจารย์ผู้รังสรรค์ผลงานพุทธศิลปสถาปัตยกรรมไทยล้วนเข้าใจความสำคัญของการจัดวางผังในลักษณะนี้ดี และดำเนินรอยตามกันมานับแต่อดีตจวบจนปัจจุบัน

หากเราได้สังเกตงานทางศาสนสถานอื่นๆ นอกเหนือจากพุทธสถานแล้วก็จะเห็นว่ามีแนวโน้มในการสร้างผังแกนที่มีความสมดุลย์และมุ่งเข้าสู่สิ่งสำคัญในสถานที่นั้น เช่นกัน อาทิเช่น ผังปราสาทหินในศิลปะสถาปัตยกรรมอย่างขอม เป็นต้น

วัฒนธรรมในการสร้างวัดวาอารามที่ปรากฏในผืนแผ่นดินไทย  หากย้อนไปในสมัยสุโขทัย ซึ่งถือเป็นช่วงสมัยที่มีหลักฐานปรากฏชัด  ผังเหล่านั้นมักจะเป็นการเน้นความสำคัญให้แก่องค์เจดีย์ประธาน ที่มีองค์ประกอบรายล้อมไม่มากนัก เช่นวัดมหาธาตุ เป็นต้น หากขยับลงมาถึงสมัยอยุธยาก็จะเห็นผังที่มีความซับซ้อนมากขึ้น เห็นถึงการสร้างแนวแกนที่มุ่งเข้าสู่ศูนย์กลางอย่างชัดเจน ซึ่งพัฒนาการดังกล่าวก่อเกิดมาพร้อมๆกับการรับอารยธรรมในศิลปะสถาปัตยกรรมแบบขอม ซึ่งสัมพันธ์กับลักษณะการเมืองการปกครองแบบเทวราชา ที่มีพระมหากษัตริย์เป็นสมมติเทพ การสร้างสรรค์งานสถาปัตยกรรมจึงมีความสอดรับกัน การวางผังในลักษณะเน้นสู่ศูนย์กลาง สะท้อนถึงพระราชอำนาจและพระบารมีของพระเจ้าแผ่นดินผู้สร้างสรรค์วัดวาอารามเหล่านั้นได้เป็นอย่างดี

วัดมกุฏกษัตริยารามราชวรวิหาร

การวางผังดังกล่าวยังสอดรับกับหลักจิตวิทยาทางการออกแบบ ที่ให้ความสำคัญกับสิ่งซึ่งอยู่กลางผังสำคัญ ซึ่งตามคตินิยมเดิมเจดีย์คือประธานของผัง   ที่นอกจากการปรากฏของเส้นแกนสู่ศูนย์กลางแล้ว ก็ยังมีเส้นดิ่งอันเกิดจากเส้นทรงขององค์เจดีย์ที่พุ่งสู่เบื้องบน ที่เป็นดั่งการรวมแนวแกนโดยรอบในแนวราบเข้าสู่เส้นแกนในแนวดิ่ง นับเป็นการเชื่อมโยงสิ่งสำคัญที่อยู่ในสถานที่นั้นเข้ากับสิ่งสำคัญเบื้องบน  ซึ่งสอดรับกับโลกทัศน์ของผู้คนทุกยุคทุกสมัยที่มีต่อสิ่งที่เคารพนับถือ สร้างความรู้สึกถึงความสูงส่งศักดิ์สิทธิ์ โดยระเบียบที่เกิดขึ้นในผังทางสถาปัตยกรรมนี้จะสร้างความรู้สึกให้ผู้เข้ามาในพื้นที่ดังกล่าว มีระเบียบอย่างสอดรับกัน  และด้วยการปรากฏขององค์ประกอบที่มีจะทำให้ผู้เข้าถึงพื้นที่ดังกล่าว สามารถคาดเดาได้ถึงภาพรวมของผังทั้งหมดที่มีความสมดุลเป็นเอกภาพที่เน้นเข้าสู่ศูนย์กลางของผังได้ไม่ยาก  การสร้างสิ่งที่ปรากฏในความคิดให้ชัดเจนได้แม้ไม่เห็นองค์ประกอบในวัดทั้งหมดนี้  ช่วยให้สภาวะของจิตไม่ต้องวิ่งหาคำตอบที่คลุมเครือของผังรวมอีกต่อไป และพร้อมที่จะวางใจให้เข้าสู่สภาวะที่สงบลงได้ง่ายขึ้น

****

การสร้างแนวแกนสำคัญให้ปรากฏในผังนี้ ถือได้ว่าเป็นการจัดระเบียบอันชัดเจนและเข้มข้น ที่หากไม่มีองค์ประกอบอื่นๆทางด้านงานออกแบบเข้ามาผสมผสาน  ก็จะกลายเป็นการสร้างความแข็งเกร็งให้แก่พื้นที่นั้นอย่างมาก  งานพุทธศิลปสถาปัตยกรรมดีๆ จึงอาศัยความสุนทรีย์ทางศิลปกรรมนับแต่เส้นสาย และลวดลายต่าง ๆ เข้ามาช่วยปลอบประโลมความแข็งกร้าวนั้นให้นุ่มนวลขึ้น เป็นดั่งกริยาอาการของนักบวชที่มีความมุ่งมั่นตั้งใจ แต่ก็มีความอ่อนโยนอยู่ในที  นอกจากนั้นลักษณะของผังดังกล่าวยังช่วยสร้างความรู้สึกสงบให้เกิดขึ้นในใจของผู้ผ่านเข้าสู่พื้นที่นั้นได้ เนื่องจากความนิ่งของผังที่มีความสมดุลย์อย่างสมมาตรนั้นเอง แต่ในความเป็นจริงสิ่งที่ช่วยสร้างความรู้สึกสงบยังอาศัยองค์ประกอบทางการออกแบบอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น การจัดวางสิ่งที่ประกอบอาคารเป็นจังหวะๆ ต่อเนื่องไป หรือที่ว่างที่มีความนิ่งสงบ ก็ล้วนแล้วแต่ทำหน้าที่ร่วมด้วยทั้งสิ้น  โดยมากสิ่งประกอบทั้งหลายยังแต่งแต้มด้วยศิลปกรรมต่างๆ ที่ช่วยขัดเกลาจิตใจให้อ่อนโยนและเบิกบานไปพร้อม ๆ กัน

****

ฉะนั้นแล้วผู้ที่ผ่านเข้าไปในพุทธสถานที่ได้รับการออกแบบจัดวางอย่างสมบูรณ์ทั้งผังและองค์ประกอบต่าง ๆ อย่างดี ย่อมสัมผัสถึงความสงบ และอ่อนโยนได้  ดังคำกล่าวที่ว่า ผังอาราม กับความสงบงาม นี้เอง ทั้งนี้ความสมบูรณ์ในงานสถาปัตยกรรมจะเกิดขึ้นได้ ผู้ออกแบบต้องมีความรู้ความเข้าใจในแบบแผนงานสร้างสรรค์ทางด้านสถาปัตยกรรมไทยเป็นอย่างดี และเข้าใจถึงหลักวิธีในการออกแบบทางสถาปัตยกรรม จึงจะสามารถสร้างสรรค์ที่ว่างที่ต้องการขึ้นมารับใช้ผู้คนได้อย่างตรงเป้าหมาย   ท้ายที่สุดสิ่งที่ปรากฏนี้ ต้องช่วยสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นให้แก่สังคมโดยรวม อันเป็นผลลัพธ์ที่สำคัญของงานสถาปัตยกรรมดีๆ ทั้งหลายที่ไม่ว่านานเท่าไหร่ ผู้คนก็ยังอยากกลับมาเยี่ยมเยือนอีกครั้ง

TAG:

Read this article in English