สถาปัตยกรรมไทย ทรงจอมแห

สถาปัตยกรรมไทย : ทรงจอมแห

Home » Talk Thai Arch » สถาปัตยกรรมไทย ทรงจอมแห

ในเรื่องสถาปัตยกรรมไทย ทรงจอมแห นี้ เป็นคำที่คุ้นเคยกันดีในแวดวงการศึกษาทางสถาปัตยกรรมไทย เนื่องจากงานออกแบบในด้านนี้ มักมีการนำทรงจอมแห มากำกับหรือเป็นกรอบช่วยในการออกแบบ เพื่อให้ผลลัพธ์ของตัวสถาปัตยกรรมมีความงดงามตามแบบแผนงานศิลปสถาปัตยกรรมไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งทรวดทรงของอาคารทางสูง ประเภท เจดีย์ ปรางค์ หรืออาคารที่มียอดพุ่งสูงขึ้นด้านบน

ซึ่ง รศ.สมใจ นิ่มเล็ก (ราชบัณฑิต) ได้กล่าวว่า ทรงจอมแห น่าจะมาจากการตากแหให้แห้งของชาวบ้าน โดยนำก้นแหไปผูกกับปลายไม้ไผ่หรือคล้องกับกิ่งไม้ที่มีความสูงมากกว่าความยาวของปากแห ใช้ไม้ค้ำปากแหให้ถ่างออก จึงเกิดเป็นลักษณะของเส้นทรงที่เรียกว่า “ทรงจอมแห” นี้เอง

โดยทรงจอมแหที่ว่า จะมีความชะลูดมากหรือน้อยนั้น จะขึ้นอยู่กับลักษณะของงานศิลปสถาปัตยกรรมแต่ละประเภท  ซึ่งมีผลต่อความหนักเบาหรือปริมาตรของอาคารซึ่งสัมพันธ์กันกับเทคนิควิธีในการก่อสร้าง เช่น หิน หรืออิฐ อีกทั้งยังสร้างความสัมพันธ์กับที่ว่างโดยรอบอาคารด้วย

ผู้เขียนขออธิบายเพิ่มเติมว่า เส้นสมมุติที่เรียกว่าเส้นจอมแห หรือเส้นที่อยู่ใน ทรงจอมแห นี้ มิได้เป็นเส้นกำหนดขอบเขตของรูปทรงทางสถาปัตยกรรมอย่างตายตัว เพียงแต่เป็นการวางกรอบที่กำหนดลักษณะทรงแต่เพียงคร่าวๆ ซึ่งผู้ออกแบบใช้กำกับเพียงเบื้องต้น ส่วนการที่จะออกแบบรูปทรงหรือเส้นทรงโดยรวมไปเช่นไรย่อมขึ้นอยู่กับองค์ประกอบอื่นๆ อันเกี่ยวเนื่องกับงานออกแบบที่สถาปนิกสถาปัตยกรรมไทยจะเป็นผู้พิจารณาตามแต่ความรู้ ประสบการณ์และดวงตาทางศิลปะเฉพาะในแต่ละบุคคลไป

หากสังเกตงานศิลปะสถาปัตยกรรมไทยประเภทเจดีย์ หรือปรางค์ ก็จะเห็นได้ว่ามีความสัมพันธ์กับลักษณะเส้นทรงดังกล่าว ซึ่งเป็นเหมือนจุดเริ่มต้นแห่งการกำหนดทรงจากเส้นจอมแหนี้  และหากมองออกไปยังประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเดียวกันที่มีพุทธศิลปสถาปัตยกรรมเช่นบ้านเราก็จะพบว่า มีเค้าโครงแห่งทรงรูปรอบนอกในลักษณะอาการแบบเดียวกัน แต่จะไม่ได้เหมือนกันเสียทีเดียว ซึ่งน่าจะมาจากสุนทรียภาพในทางความงามเป็นลักษณะเฉพาะของแต่ละกลุ่มวัฒนธรรม

ภาพ : ยอดอาคารมณฑป ซึ่งเป็นลักษณะทรงจอมแห (ที่มาภาพจากหนังสือ สถาปัตยกรรมไทยเฉลิมพระเกียรติ โดยคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร)

เส้นทรงจอมแหที่กำกับรูปศิลปะสถาปัตยกรรมของไทยมีความอ่อนช้อยงดงามและได้กำลังพอดิบพอดี สอดคล้องสัมพันธ์ไปกับวัสดุและโครงสร้างที่ใช้มาแต่โบราณ ซึ่งงานของไทยเราโดยมากจะเป็นอาคารเครื่องก่อกับอาคารไม้  ที่ให้ลักษณะทรงที่ดูระหงกว่าวัสดุจำพวกหิน อีกทั้งด้วยปรัชญาในการออกแบบงานศิลปสถาปัตยกรรมไทยดังได้เคยกล่าวไว้มาก่อนหน้าหัวข้อนี้แล้วนั้น น่าจะมีส่วนแห่งแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์งานศิลป์ให้เข้าทำนองรูปทรงองค์เอวดังที่ปรากฏนี้ (ความเห็นผู้เขียน)

แม้ว่าทรงจอมแหจะเป็นชื่อทรงงานสถาปัตยกรรมไทยในแนวดิ่ง จำพวกเจดีย์ ปรางค์ หรืออาคารที่มีส่วนหัว(ชุดหลังคา)ซึ่งอยู่ในลักษณะเครื่องยอด และเป็นดั่งโครงร่างที่กำกับทรงโดยรวมอยู่ก็ตาม แต่การนำไปใช้ในงานออกแบบ จะเห็นได้ว่ามีการขยับทรงที่แตกต่างกันไปดังคำกล่าวที่ รศ.สมใน นิ่มเล็กได้อธิบายไว้ตอนต้น

ภาพ : ลายเส้นแสดงลักษณะทรจอมแหของเจดีย์เหลี่ยมย่อมุม ( ลายเส้นโดย รศ.สมใจ นิ่มเล็ก )

ผู้ออกแบบงานจะต้องคำนึงถึงทรงอาคารและองค์ประกอบที่เกี่ยวเนื่องกันไป แม้ว่าโดยหลักวิธีจะต้องใช้ทรงเป็นกรอบในการออกแบบ แต่ก็เป็นเพียงเครื่องประคองเท่านั้น สามารถยักเยื้องแก้ไขให้ขยายกว้างหรือแคบเข้าไปตามความเหมาะสมของงานแต่ละประเภทได้ ส่วนสำคัญที่ต้องระวังคือส่วนองค์ประกอบบริเวณปลายสุดของทรง ที่อาจเกิดการกลืนหายไปดังคำครูช่างที่ว่า “อากาศกิน” ไม่เช่นนั้น ในเวลาก่อสร้างแล้วเสร็จจะเกิดปรากฏการณ์ยอดด้วนเอาได้

ซึ่งเรื่องนี้ในสมัยก่อนจะใช้วิธีดูกะระยะกันที่หน้างาน แม้ปัจจุบันก็ยังคงใช้วิธีเช่นนี้อยู่ เนื่องจากเป็นกระบวนการที่มีความแม่นยำที่สุด  ผู้มีประสบการณ์ในการออกแบบจะสามารถกะเกณฑ์ได้ตั้งแต่ทำแบบบนกระดาษ แต่อย่างไรก็ตามยังคงจำเป็นต้องตามไปดูขณะทำการก่อสร้างด้วย เพื่อมิให้เกิดการผิดพลาดคลาดเคลื่อนและอีกทั้งยังเป็นการตรวจสอบความคิดความเข้าใจที่มีต่องานออกแบบในคราวเดียวกัน

ภาพ : อาคารทรงยอด ที่อยู่ในทรงจอมแห วิหารหลวงพ่อสาคร ณ วัดหนองกรับ จ.ระยอง ( งานออกแบบโดย บริษัท พีพลัสไทย สตูดิโอ จำกัด )

เรื่องทรงจอมแห หรือทรงรวมของงานศิลปสถาปัตยกรรมนี้จะว่าไปแล้ว  ผู้ออกแบบแต่ละบุคคลอาจมีมุมมองต่อรูปทรงอาคารที่แตกต่างกันไปได้อีก ความแคบกว้างหรือสูงเตี้ยของทรงอาคารในลักษณะเดียวกันจึงอาจไม่เหมือนกันเสียทีเดียว ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความนึกคิดของสถาปนิกที่นำปัจจัยหรือข้อคำนึงใดมาเป็นส่วนสำคัญในการกำหนดทรง  แต่ต้องไม่ก่อให้เกิดความรู้สึกขัดแย้งในทรงขึ้นมา ท้ายที่สุดผลสำฤทธิ์ของงานอันเป็นแบบเฉพาะของแต่ละท่านจะทำให้ส่วนผสมในงานออกแบบกลมกลืนกันไปได้ ซึ่งหากผู้เริ่มเรียนรู้ควรดูงานครูที่ได้ทำมาเพื่อให้เกิดแบบแผนความเข้าใจในทางเดินอันดีงามไว้ก่อน หลังจากมีความเข้าใจมากพอแล้ว ก็จะสามารถเดินด้วยตนเองได้ในที่สุด

TAG:

Read this article in English